แผนพีอาร์ ‘กกต.’ โค้งสุดท้าย ประชามติ 7 ส.ค.

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของการทำประชามติแล้ว นับจากวันนี้ (วันที่ 13 กรกฎาคม) จะเหลือระยะเวลาอีกแค่เพียง 24 วัน ก็จะถึงวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม

ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องออกมาร่วมกันชี้ขาดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำขึ้น

ห้วงเวลานี้หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทั้ง กรธ.และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างเร่งเครื่องประชาสัมพันธ์หวังให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจ

มาลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะ กกต.ที่จะต้องรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 50,585,118 คน ไม่นอนหลับทับสิทธิ

Advertisement

แม้หลายฝ่ายจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการประชาสัมพันธ์และรณรงค์ของ กกต.ค่อนข้างอ่อนเกินไป ส่งผลให้การรับรู้ของประชาชนที่มีต่อการออกเสียงประชามติน้อยมาก บางพื้นที่บางจังหวัด ประชาชนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม คือวันออกเสียงประชามติ ซึ่งแตกต่างจากการทำประชามติเมื่อปี 2550 ที่กระแสและความสนใจของประชาชนมีความตื่นตัวมากกว่า

ขณะที่มุมของ กกต.ยืนยันว่า การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการรณรงค์การออกเสียงประชามติ ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตามสื่อหรือโซเชียลต่างๆ แต่อย่างใด เพราะตั้งแต่เข้าสู่กระบวนการออกเสียงประชามติ กกต.เร่งระดมคน หน่วยงานทั้งจากส่วนราชการและเอกชนมาช่วยสนับสนุนเพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นไปตามเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้ กกต.จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 1,000,000 ชุด แจกจ่ายให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวมประมาณทั้งสิ้น จำนวน 885,179 ชุด โดยกระจายการจัดส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญไปยังศาลากลางจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อำเภอ/ตำบล/หมู่บ้าน) กระทรวง ทบวง กรม กองบัญชาการรักษาดินแดน ศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยประจำตำบล สถาบันการศึกษาทุกระดับ สื่อมวลชน สำนักงานประจำจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร ศูนย์การเรียนรู้การเมืองในระบอบประชาธิปไตย 1-5 ของสำนักงาน กกต.

Advertisement

รวมทั้งจัดส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 50,000 ชุด และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 50,000 ชุด ขณะที่ส่วนที่เหลือก็ได้สำรองไว้สำหรับเป็นเอกสารประกอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสำนักงาน กกต. และสำหรับให้หน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่ขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม

ส่วนการจัดพิมพ์จุลสารการออกเสียงประชามติ หรือบุ๊กเล็ต (Booklet) กกต.ได้จัดพิมพ์จำนวน 20 ล้านเล่ม เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงตามครัวเรือนต่างๆ จำนวน 17 ล้านครัวเรือน

โดยบุ๊กเล็ตที่ กกต.จัดทำขึ้น เป็นเล่มขนาด A5 พิมพ์แบบสี่สีทั้งเล่ม จำนวน 12 หน้า มีเนื้อหาประกอบด้วยขั้นตอนและกระบวนการออกเสียงประชามติ สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามเพิ่มเติมพร้อมคำอธิบาย ขณะนี้ทางบริษัท ไปรษณีย์ จำกัด กำลังเร่งทยอยส่งเอกสารดังกล่าวไปตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว

นอกจากการประชาสัมพันธ์และรณรงค์การออกเสียงประชามติแบบเอกสารแล้ว กกต.ยังเปิดช่องทางเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามและเกาะติดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ คำถามเพิ่มเติมและขั้นตอนการออกเสียงประชามติ ผ่านรายการ “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ซึ่งจะออกอากาศทุกวันจันทร์และวันพุธ เวลา 17.30-18.00 น. จำนวน 13 ครั้ง ทางสถานีวิทยุของรัฐและสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ โดยออกอากาศตั้งวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ไปจนถึงวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมนี้

สำหรับสื่อบุคคล ทาง กกต.ได้รับความร่วมมือจากกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล (ศส.ปชต.) ที่มีจำนวนกว่า 74,000 คนทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่าย รด.จิตอาสา ดีเจประชาธิปไตย เดินสายไปให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติแก่ประชาชน รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนไปเชิญชวนผู้ปกครองให้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาทิ แอพพลิเคชั่นฉลาดรู้ประชามติ แอพพลิเคชั่นดาวเหนือ และแอพพลิเคชั่นตาสับปะรด เป็นต้น

ล่าสุด ทาง กกต.ได้รับความร่วมมือจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย แจกจ่ายบุ๊กเล็ตแก่ผู้ที่เดินทางสัญจรไปมาบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางประชาชื่น ระหว่างวันที่ 11-14 กรกฎาคมด้วย

จากเครื่องมือที่มีอยู่ทั้งหมดนี้ กกต.จึงมีความมั่นใจว่า อย่างน้อยยอดของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติจะสูงกว่าการออกเสียงประชามติเมื่อปี 2550 โดยตั้งเป้าหมายไว้อย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งการตั้งเป้าหมายไว้สูงเพื่อเป็นการกดดันให้ภารกิจไปถึงเป้าหมายและให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image