- สาเหตุม้าตายจากโรคระบาดในม้าจำนวนมาก ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง ตายใน 1-2 วันหลังติดเชื้อ เจ้าของฟาร์มปากช่อง ชี้ ต้นตอจากม้าลายแอฟริกานำเข้า
- วงการม้าปูดผู้มีอำนาจสั่งไม่ต้องตรวจม้าลายฝูงที่เพิ่งนำเข้ามา เกิดการระบาดจากพาหะ ลุกลามขยายไปหลายจังหวัด
- ด้านภาครัฐเงียบ แม้เข้าไปตรวจสอบแล้ว ยังไม่กล่าวถึงต้นเหตุการระบาดครั้งนี้
…ขณะที่กำลังเกิดโรคระบาดในมนุษย์อย่างหนัก ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน เริ่มระบาดจากประเทศจีน ติดต่อผ่านคนสู่คน ได้คร่าชีวิตผู้คนจากหลักร้อยในประเทศจีนเมื่อราว 1-2 เดือนก่อน กลายเป็นจำนวนหลายหมื่นคน ติดเชื้อนับล้านทั่วโลก ยังไม่นับความสูญเสียจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม ที่กำลังตามมา อันประเมินค่ามิได้
พลันที่คนไทย และรัฐไทย กำลังทุ่มสรรพกำลัง เพื่อต่อสู้กับไวรัสร้าย จู่ๆก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับฟาร์มม้าหลายแห่งที่เขาใหญ่ จนสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ต้องทำหนังสือด่วนขอความร่วมมือไปยังประธานชมรม / สโมสร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายม้าเข้าออกพื้นที่เสี่ยงเป็นการชั่วคราว สืบเนื่องจากทางสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ได้รับแจ้งจากสมาชิกเรื่องการเสียชีวิตของม้าหลายตัวอย่างเฉียบพลัน
หนักแค่ไหน? ความจริงที่เกิดขึ้นคือ ม้าที่ว่าแข็งแรง ถ้าติดเชื้อจะ ล้มตายภายใน1-2 วันแทบจะร้อยเปอร์เซ็น ภายในไม่กี่วัน ยอดตายหลักร้อย เกิดอาการผวาของเจ้าของฟาร์มม้าดังย่านปากช่อง บางส่วนทราบข่าวก่อน รีบย้ายม้าออกจากพื้นที่แต่ไม่ทัน กลับนำพาเชื้อไปด้วย กระจายไปอีกหลายจังหวัด
ก่อนหน้านี้มีม้าตายมาตั้งแต่เดือนก.พ. เรื่องราวทุกอย่างชัดเจนขึ้น ในวันที่ 27 มีนาคม เมื่อปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นพบมีม้าแข่งล้มตายอย่างน้อย 42 ตัว สันนิษฐานว่า ม้าแข่งที่ตายน่าจะป่วยเป็นโรคแอฟริกันฮอร์สซิกเนส (African horse sickness) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดจากไวรัสม้าแอฟริกา
28 มีนาคม การระบาดเกิดขึ้นในฟาร์มม้าชื่อดังจำนวน 11 แห่ง ในเขต ต.ขนงพระ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีม้าตาย 59 ตัว ล้มป่วยด้วยอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวม หายใจติดขัดเสียงดังก่อนเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง ชัดเจนว่า สาเหตุเกิดจากแมลงดูดเลือดเช่นตัวริ้น ยุง เห็บ ฯ เป็นพาหนะนำโรค โดยประเทศไทยเป็นโรคอุบัติใหม่ แพร่ระบาดเป็นครั้งแรก
29 มีนาคม มีรายงานว่าที่ประจวบคีรีขันธ์ มีม้าตายจำนวน 6 ตัว ซึ่งเป็นม้าที่เลี้ยงไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหิน มีอาการซึมไม่กินอาหาร ปากบวม ลิ้นบวม เยื่อเมือกเป็นสีคล้ำ กล้ามเนื้อสั่น เดินเซ ไข้สูงในบางตัวและตายหลังจากแสดงอาการภายใน 2 วัน อาการดังกล่าว คล้ายกับที่เกิดขึ้น ที่อำเภอปากช่อง
วันเดียวกันมีการประกาศคุมเข้มฟาร์มม้าที่ปากช่อง มีการประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ทุกหมู่บ้านทุกตำบลของอำเภอปากช่องจังหวัดนครราชสีมา เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว ห้ามเคลื่อนย้ายม้า หลังพบฟาร์มมีม้าป่วยเพิ่ม 14 แห่ง
31 มีนาคม ม้าในฟาร์มพื้นที่อำเภอปากช่องตายเพิ่มเป็น 79 ตัว สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาได้นำตัวอย่างไปตรวจสอบที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ซึ่งผลออกมาพบว่า ม้าที่ตายมีเชื้อโรคแอฟริกันฮอสซิกเนส (African Horse Sickness) หรือกาฬโรคแอฟริกา ในม้าอยู่ทุกตัว
วันเดียวกัน เจ้าของคอกม้า อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เข้า ยื่นหนังสือกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ให้ตรวจสอบ และ แก้ปัญหาม้าตายด้วยโรคกาฬโรคจำนวนมาก มีความเห็นจาก นพ.นพดล สโรบล เจ้าของคอกม้า “ฟาร์มหมอปอ” จ.นครราชสีมา กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภาว่า เรื่องนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องทำงานแข่งกับเวลา ต้องหาต้นตอม้าที่เป็นต้นเหตุแห่งการแพร่เชื้อว่าอยู่ที่ไหน มีม้าอีกเท่าไหร่ที่มีอาการอมโรค และมีการกระจายโรคไปยังม้าตัวอื่นหรือยัง ขอให้จำกัดวงโรคนี้อยู่เพียงที่อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ไม่อยากให้กระจายไปที่อื่น เพราะโรคในม้าตอนนี้ก็เหมือน ไวรัสโควิด-19 จึงอยากให้มีการ ล็อคดาวน์ โดยต้องควบคุมไม่ให้ย้ายม้าไปยังที่อื่น เพราะทราบมาว่าตอนเกิดโรคมีเจ้าของคอกม้าเริ่มย้ายม้าออกไปนอกพื้นที่แล้ว
ต่อมา 1 เมษายน มีการตายขยายวงกว้างของม้าออกไปไปแล้วรวม 109 ตัวในจำนวน 18 ฟาร์ม จากที่มีอยู่ 24 ฟาร์มในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
วันที่ 2 เมษายน ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยืนยัน ม้าที่ตายทั้งหมดในพื้นที่สาเหตุเกิดจากกาฬโรคแอฟริกาในม้าแบบเดียวกับที่ระบาดเขาใหญ่ ยอดตายในจังหวัดเพิ่มเป็น 10 ตัว
วันเดียวกันสถานการณ์ที่อำเภอปากช่อง ยังน่าเป็นห่วง ยอดถึงวันนี้มีม้าตายรวม 117 ตัว และป่วยหนักอีกหลายตัว ลุกลามขยายวงกว้างไปยังฟาร์มม้าจำนวน 20 แห่ง กรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่มีวิธีรักษา มีการตั้งจุดสกัด5 จุด และชุดลาดตระเวนตรวจสอบการลักลอบขนย้ายรอบบริเวณ
ตกเย็นวันที่ 2 เมษายน มีการสรุปสถานการณ์โรคระบาดในม้า ติดเชื้อระบาดแล้ว 4 จังหวัด คือนครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และชลบุรี ตายไปแล้ว 154 ตัว อัตราการตาย 93.90% ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าโรคมีความรุนแรงสูง สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการทางระบาดวิทยา ไม่มีการรักษา หรือ ยาใดๆ ที่ให้ผลดี แบบเฉพาะเจาะจง
จากไทม์ไลน์สถานการณ์ทั้งหมดทำให้เราเห็นว่า โรคดังกล่าวมีความรุนแรงมาก ม้าที่แข็งแรงหากติดเชื้อล้มป่วยก็จะตายในเวลาอันรวด ภายในสัปดาห์เดียว ยอดพุ่งสูง 154 ตัว จากสัปดาห์ก่อนที่ล้มป่วยเพียงไม่กี่ตัว
มาถึงจุดนี้ คำถามคาใจของทุกคนคืออะไรคือสาเหตุการระบาดหนักหนาสาหัสขนาดนี้
ต้นตอจากม้าลายนำเข้า?
เจ้าของฟาร์มม้าแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง ซึ่งมีม้าตายไปจำนวนหลายตัว ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าว เล่าสาเหตุจากความผิดพลาดทางขั้นตอนด้วย ในแง่ที่ว่าถ้าเป็นม้านำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นม้าแข่งขัน หรือม้าที่ใช้ขี่เพื่อท่องเที่ยว จะมีขั้นตอนการตรวจโรคที่ค่อนข้างซับซ้อน
ยกตัวอย่างเช่นหากจะซื้อมาจากประเทศสเปน เมื่อติดต่อทำเรื่องซื้อแล้ว ม้าตัวที่จะส่งเข้ามาในเมืองไทยจะต้องกักตัวเป็นเวลา30 วัน เมื่อใกล้ครบกำหนดก็จะต้องทำการตรวจโรค เมื่อพบผลเลือดไม่ผิดปกติ จึงจะสามารถนำขึ้นเครื่องมายังประเทศไทยได้ เมื่อมาถึงประเทศไทย ก็จะต้องถูกนำไปกักตัวอีกเป็นเวลา 30 วัน โดยก่อนครบกำหนด ก็จะต้องถูกสัตวแพทย์ตรวจเลือดอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจหาเชื้อโรค ดูผลเลือดว่าไม่มีอะไรผิดปกติ เมื่อถูกต้องตามกระบวนการแล้ว ม้าตัวดังกล่าวถึงจะถูกส่งไปยังเจ้าของได้ ทั้งหมดใช้เวลามากกว่า 2 เดือน
เจ้าของฟาร์มม้าดังกล่าว เล่าให้ฟังว่า โดยปกติม้าตัวหนึ่ง จะมีค่าราคาค่าตัว-ค่าขนส่งประมาณ ประมาณ 6-7 แสนบาท อย่างม้าจำนวนมากในพื้นที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง เป็นม้าแข่งที่มีชื่อเสียง บางตัวราคาหลายล้าน เมื่อเกิดข่าวการตายอย่างผิดปกติ เจ้าของฟาร์มม้าจำนวนมากจึงเร่งนำมาออกจากพื้นที่ เพื่อหนีการระบาด แต่ไม่ทันแล้ว ทำให้เกิดการนำม้าที่มีเชื้อโรคไปยังพื้นที่อื่นๆ
สำหรับอาการของโรคนั้น จากที่ประสบพบเจอมากับตัว เจ้าของฟาร์มม้าดังกล่าวชี้ว่า มีอาการรุนแรงมาก หลังแสดงอาการภายใน 1 ถึง 2 วันก็เสียชีวิต โดยม้าจะมีอาการคล้ายเป็นไข้ ไม่กินอะไร มีน้ำมูก ซึม ตั้งแต่อยู่ในวงการม้าก็ไม่เคยเจออะไรหนักขนาดนี้ โดยส่วนตัว ล่าสุดเสียหายไปแล้วมูลค่าเกือบสิบล้าน
เมื่อถามถึงสาเหตุของการแพร่ระบาด เจ้าของฟาร์มม้าดังกล่าวชี้ว่า น่าจะเกิดจากเอกชนรายหนึ่ง นำม้าลายเข้ามาจากทวีปแอฟริกา จากนั้นม้าลายฝูงหนึ่งถูกส่งมาที่ฟาร์มม้าแห่งหนึ่งในพื้นที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง เมื่อแมลงไปดูดเลือดม้าลาย ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่น และมาดูดเลือดของม้าในพื้นที่อำเภอปากช่อง ทำให้เกิดอาการป่วยและตายในเวลาอันรวดเร็ว คำถามคือว่า เอกชนดังกล่าวสามารถนำม้าลายเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเกิดความบกพร่องในการตรวจควบคุมโรคได้อย่างไร เพราะดังที่กล่าวไปถ้าเป็นม้าแข่งหรือม้าเอกชนแต่ละตัวกว่าจะนำเข้ามาได้ต้องผ่านการควบคุมโรคอย่างหนัก หลายขั้นตอน ใช้เวลานาน แต่ม้าลายกับนำเข้ามาได้อย่างง่ายดาย และสร้างความเสียหายอย่างหนักกับม้าท้องถิ่น เรื่องนี้ต้องเกิดจากความผิดปกติอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่าอยากเรียกร้องไปยังหน่วยงานรัฐให้ทำอย่างไร หรือจะขอให้ช่วยเยียวยาหรือไม่ เจ้าของฟาร์มม้าดังกล่าว ระบุว่า ส่วนตัว เรื่องใหญ่ที่สุดคือต้องหาสาเหตุให้ได้ ว่าการระบาดเกิดจากอะไร เพื่อจะได้หาผู้รับผิดชอบถูก จากนั้นขอให้รัฐควบคุมการระบาดโดยเร็วที่สุด ส่วนการเยียวยาตนเองไม่ได้เรียกร้องอะไร แม้จะเสียหายไปเป็นจำนวนมาก แต่ขอให้การระบาดสิ้นสุดลงโดยเร็ว เพราะขณะนี้เกิดความเสียหายอย่างหนัก ต้องยกเลิกการแข่งขันเกี่ยวกับม้าทั้งหมด และคาดว่าจะส่งผลกระทบไปอีก 1 ถึง 2 หรือ 3 ปี ต่างชาติจะไม่นำม้ามาแข่งในเมืองไทย และม้าในไทยก็จะไม่สามารถนำออกไปแข่งยังต่างประเทศอย่างซีเกมได้ เพราะสมาคมกีฬาเกี่ยวกับม้าระดับนานาชาติได้ประกาศให้ไทยเป็นพื้นที่โรคระบาดของม้า
ม้าลายฝูงดังกล่าว จึงเป็นเป้าหมายใหญ่ ที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างสันนิษฐานว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดที่ทำให้ม้าปกติ ล้มตายเป็นจำนวนมากในประเทศไทย
วงการม้าปูดฝีมือผู้มีอำนาจ
มีข้อมูลอีกมุม จากเว็บไซต์ Siamhorse.org ซึ่งคนในวงการม้ารู้ดีว่าเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับศูนย์รวมแหล่งความรู้เพื่อการศึกษาและพัฒนาวงการม้า ในเพจ Facebook มีผู้กดไลค์มากกว่าหมื่นคน ได้โพสต์ข้อความ หัวข้อว่าถ้าไม่มีอำนาจ นำเข้าสัตว์ป่า ม้าลาย ยีราฟได้ไหม? โดยเน้นคำว่า “ถ้าไม่มีอำนาจ”เป็นตัวใหญ่ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม
เนื้อหาภายในยิ่งน่าสนใจ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อถึงใคร แต่ใช้การเปรียบเทียบ หลักใหญ่ใจความระบุว่า มีผู้มีอำนาจคนหนึ่งเป็นคนสั่งให้นายหน้าเอกชน นำเข้าม้าลายและยีราฟ โดยผู้มีอำนาจคนดังกล่าวเห็นว่า ม้าลายเป็นสัตว์แข็งแรงไม่ต้องตรวจโรค และไม่ป่วยง่าย ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนมาที่ฟาร์มได้เลย
เวลาผ่านไป 15 วัน ม้าลายล้มตาย 3 ตัว ผู้มีอำนาจคนดังกล่าวติดงานจึงสั่งให้หมอนำม้าไปรักษา ปรากฏว่าม้าที่หมอเลี้ยงไว้ก็ตายจนหมองง วันเดียวกันเกิดพายุลมกรรโชกฝนตกหนักในพื้นที่ปากช่อง อีก 2 วันต่อมาม้าแข่งที่เลี้ยงใกล้กับฟาร์มของผู้มีอำนาจดังกล่าวก็ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
เจ้าของม้าหลายรายทราบว่ามีม้าตายจึงรีบสั่งเอาม้าที่ฝากเลี้ยงไว้ ออกจากบริเวณพื้นที่ อีก 2 วันต่อมา ปศุสัตว์เข้าไปตรวจสอบจึงรู้ว่าไม่ใช่โรคเกี่ยวกับโควิด-19 ตามที่มีในข่าวลือ แต่เป็นโรคของม้า ก่อนจะทยอยตายไปเรื่อยๆ
“…นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงตามคอกที่ไม่มีระบบป้องกันเพื่ออะไร? และ….ถ้าไม่มีอำนาจ สั่งนำเข้าสัตว์ป่ามาเลี้ยงตามคอกได้หรา อยากรู้ ใครวะชั่งกล้าปล่อยปะละเลย มักง่ายอะไรเยี่ยงนี้ ” เพจดังกล่าวทิ้งคำถามไว้เป็นปริศนา โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า ผู้มีอำนาจคนนั้นคือใคร?
ภาครัฐเงียบไม่แจ้งสาเหตุ
ผู้บริหารระดับสูงของกรมปศุสัตว์คนหนึ่งได้นำทีมสัตวแพทย์เข้าไปตรวจสอบฟาร์มที่มีฝูงม้าลายดังกล่าวอยู่เมื่อไม่นานมานี้ มีการโพสต์ภาพการจับม้ามาตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่ก็ไม่ได้เปิดเผยผลการทดสอบว่าม้าลายฝูงดังกล่าวมีผลเลือดตรงกับม้าลายปกติที่ตายไปหรือไม่
เรื่องนี้เจ้าของฟาร์มแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลอีกมุมว่า ที่จริงผลตรวจออกมาเรียบร้อยแล้วว่าเป็นผลบวก เลือดของม้าลายดังกล่าว มีเชื้อที่ตรงกับ ม้าท้องถิ่นในพื้นที่เขาใหญ่ที่ตาย เจ้าของฟาร์มม้าหลายๆในพื้นที่ปากช่องต่างเชื่อว่า ม้าลายดังกล่าวคือต้นเหตุของการเผยแพร่ โรคระบาดครั้งใหญ่ในม้าของประเทศไทย ครั้งนี้
แม้ยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐคนไหน กล่าวยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ต้นเหตุของการระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากม้าลายที่เพิ่งมีการนำเข้ามาฝูงใหญ่ประเทศไทย แต่ก็ มีสัตวแพทย์รุ่นใหญ่คนหนึ่ง มีส่วนร่วมทำงานกับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมป้องกันโรค การระบาดครั้งแรกในประเทศไทยของกาฬโรคแอฟริกาในม้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กมีข้อความน่าสนใจ โดยเฉพาะการยกตัวอย่างเรื่องม้าลาย โดยยืนยันว่า โรคนี้รุนแรงมาก ก่อความเสียหายที่ยากที่จะประเมินมูลค่า โดยต้องจำกัดการระบาดให้แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การระบาดโรคกาฬโรคอาฟริกาในม้าครั้งนี้จะยุติลงเมื่อใด คำตอบคือ เมื่อไม่มีการถ่ายทอด เชื้อไวรัส(AHSV) ออกมา จากแหล่งแพร่เชื้อ เช่น “ม้าลาย” นำเข้าจากกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกาที่มีการระบาดของโรค ม้าที่กำลังป่วย ริ้นดูดเลือดพาหะนำโรคตัวหลัก แมลงดูดเลือดตัวอื่นๆ เป็นต้น ตัวชี้วัดก็คือ ไม่มีม้าป่วยใหม่ (new case) เป็นเวลามากกว่า 80 วัน
“เพื่อจำกัดวงการแพร่กระจายเชื้อ ไวรัส AHSV ต้องไม่ขนย้าย “ม้าลาย” ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อมาอีก หรือม้าที่กำลังอยู่ในระยะแพร่เชื้อเข้าออกจากฟาร์มต้นทาง การเดินทางโดยรถยนต์จะช่วยนำพาเชื้อไปได้ไกลและกว้างกระจายเร็วกว่าธรรมชาติ ถ้ามีแมลงดูดเลือดเกาะตัวม้าลาย/ม้าที่แพร่เชื้อได้ร่วมมาในรถขนม้าด้วยตลอดทาง ถนนที่ใช้ พิกัดที่จอดพักรถ และฟาร์มปลายทาง ก็จะมีโอกาสได้รับเชื้อ”
“ในที่สุดแล้วอาจจะไม่เหลือม้าเลย หากเราหยุดการแพร่เชื้อในฟาร์มไม่ได้ เพราะม้ากลุ่มที่ปกติจะติดโรคจนหมด” สัตวแพทย์คนดังกล่าว กล่าวเตือน
จะเห็นถึงการยกตัวอย่างของสัตวแพทย์คนดังกล่าว ในการหยิบประเด็นม้าลายขึ้นมาพูด แสดงให้เห็นถึงการยกตัวอย่างที่ต่างกับม้ากลุ่มปกติ โดยย้ำชัดเจนว่าจะต้องไม่ขนย้าย “ม้าลาย” ที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อมาอีก ทั้งยังมีการระบุชัดเจนว่า “เป็นม้าลายนำเข้าจากประเทศทวีปแอฟริกา”
ม้าลายนำเข้าถูกต้องหรือไม่-ใครต้องผิดชอบ
เมื่อไปค้นข่าวเก่า มีความเห็นของ นายอุเทน ชาติภิญโญ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นผู้นำเจ้าของคอกม้ามายื่นหนังสือ ให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจว่า เรื่องนี้เชื่อมโยงกับกรณีข่าวรถบรรทุกยีราฟคว่ำหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบไม่ได้มีแค่ยีราฟเท่านั้นแต่มีม้าลายด้วย
“โรคนี้เป็นโรคเฉพาะถิ่นในแอฟริกา แต่เหตุใดจึงมาเกิดที่ประเทศไทยได้ จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า เมื่อต้นปี2563 มีอุบัติเหตุรถบรรทุกสัตว์คว่ำ มียีราฟตาย 2ตัว อยากถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ยีราฟชุดนี้มาจากไหน นำเข้ามาจากแอฟริกาหรือไม่ เท่าที่ทราบไม่ใช่มีแค่เฉพาะยีราฟเท่านั้นที่นำเข้ามา แต่ยังมีม้าลายด้วย อยากทราบว่า สัตว์เหล่านี้นำเข้ามาได้อย่างไร มีจำนวนเท่าใด เข้ามาเมื่อใด ที่สำคัญไม่รู้ว่า นำเข้าประเทศอย่างถูกต้องหรือไม่ มีกระบวนการกักกันสัตว์ ผ่านด่านตรวจโรคหรือไม่ ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดโรคกาฬโรคม้าในพื้นที่อ.ปากช่อง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ใครจะรับผิดชอบ เพราะนับตั้งแต่วันที่ยีราฟเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯยังเงียบ ไม่มีคำตอบว่า สัตว์แต่ละตัวเข้ามาประเทศไทยได้อย่างไรทั้งที่มีหน้าที่ดูแลการนำสัตว์เข้าประเทศ แต่ไม่เคยพูดถึงกระบวนการลักลอบนำเข้าสัตว์ชุดนี้”
ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับความผิดพลาดครั้งใหญ่ในวงการม้าครั้งนี้แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนความบกพร่องอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในขั้นตอนการตรวจกักโรคระบาดในสัตว์ ที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย จำเป็นจะต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายการควบคุมโรคของสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมหาศาลเช่นนี้ขึ้นอีก
จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่ไม่น่าจะซับซ้อนเกินเข้าใจ แต่ความจริงยังไม่เปิดเผย ทั้งที่เวลาล่วงเลยมานาน ปล่อยให้เป็นเจ้าของฟาร์มและคนในวงการม้า ที่ยังเจ็บปวดและประเมินความเสียหายในอนาคตไม่ออก หลายคนต้องสูญเสียม้าตัวรัก ยังมึนงง
เหตุที่ยังไม่เปิดเผยเป็นเพราะเกรงกลัวอำนาจอะไรหรือเปล่า?