รายงานหน้า 2 : นานาทรรศนะ-สั่งยกระดับ สัญญาณเพิ่มเลเวล‘เคอร์ฟิว’!?

รายงานหน้า 2 : นานาทรรศนะ-สั่งยกระดับ สัญญาณเพิ่มเลเวล‘เคอร์ฟิว’!?

รายงานหน้า 2 : นานาทรรศนะ-สั่งยกระดับ สัญญาณเพิ่มเลเวล‘เคอร์ฟิว’!?

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ-ผู้ว่าราชการจังหวัด กรณีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเตรียมพร้อมยกระดับปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น

สุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

Advertisement

ด้านพื้นที่รองรับการกักตัวนั้น ปกติ จ.แม่ฮ่องสอน มีสถานที่ที่จัดเตรียมไว้อยู่แล้ว 2 จุด ตอนนี้มีการปรับใหม่เพราะนโยบายของกระทรวงมหาดไทยอยากให้ดูแลผู้ที่ถูกกักตัวเป็นอย่างดี ดังนั้น จึงได้ปรับเปลี่ยนจากสถานที่ที่เป็นของรัฐไปเป็นโรงแรม รีสอร์ต หรือสถานที่คล้ายโรงแรม โดยในส่วนอำเภอเมืองพร้อมแล้ว ส่วนอำเภออื่นๆ ได้ไปทาบทามเจ้าของรีสอร์ตหรือเจ้าของโรงแรมให้มาร่วมงานกับเราเรียบร้อยแล้ว

เรื่องการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการปฏิบัติตนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสนั้น แม่ฮ่องสอนมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทาง ทั้งไลน์กลุ่ม ช่องข่าวประชาสัมพันธ์ ศูนย์วิทยุชุมชน ตลอดจนเสียงตามสายของหมู่บ้าน ทั้งหมดเป็นไปอย่างทั่วถึง อีกทั้งประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างดีถึงดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีการปิดหมู่บ้านไปแล้วกว่า 130 หมู่บ้าน กล่าวคือการปิดห้ามคนนอกเข้าไป นอกจากนี้คนที่อยู่ใกล้เขตเมือง ไม่ว่าจะอำเภอหรือตำบลก็ให้ความร่วมมือ แม้กระทั่งการที่รัฐบาลสั่งเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตั้งแต่ 22.00-04.00 น. ก็ไม่มีประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนละเมิดเลย ทุกคนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เพราะเขาให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

ตอนนี้ได้สั่งการไปยังพาณิชย์จังหวัดเพื่อให้ไปประสานและหาข้อมูลเบื้องต้นว่าร้านค้าปลีกและค้าส่งเป็นอย่างไร ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่มีห้างสรรพสินค้า มีเพียงซีพีและเบทาโกร เขายืนยันว่ามีสต๊อกเพียงพอ ไม่มีการกักตุนสินค้าแต่อย่างใด เนื่องจากมีรอบส่งสินค้าเป็นระยะ สามารถตอบสนองการบริโภคของประชาชนได้อย่างเพียงพอ ส่วนเทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรสก็ยืนยันว่าอาหารสดยังเพียงพอเช่นกัน

Advertisement

ด้านตลาดสดได้ประสานกับนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ดูแลตลาดสดทุกพื้นที่ไปแล้ว โดยในเขตเมืองได้ให้ประสานกับพ่อค้าแม่ค้าส่งที่จะส่งอาหาร โดยให้มีการส่งสินค้าตามรอบ พร้อมกำหนดจุดให้ประชาชน เช่น กำหนดว่าตลาดไหนเป็นจุดหลักของแต่ละอำเภอหรือตำบล เพื่อให้ประชาชนจับจ่ายสินค้าและสามารถดำรงชีพอยู่ได้

ในส่วนของประชาชนชาวแม่ฮ่องสอนตื่นตัวอยู่แล้ว การที่แม่ฮ่องสอนประกาศเคอร์ฟิวล่วงหน้า ก่อนส่วนกลางประกาศ 2-3 วัน ก็เป็นเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนใหญ่เองว่ามีความรู้สึกว่าจังหวัด รวมทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด น่าจะทำอะไรเพื่อเป็นการป้องกันประชาชนที่ต้องมารับความเสี่ยงจากคนภายนอก

ทั้งนี้ เรื่องการจำกัดเวลาออกจากบ้าน เขาก็ยินดี ยินยอมพร้อมใจ ตลอดจนเขาอยากปิดพื้นที่ไม่ให้ชาวต่างชาติ หรือบุคคลที่มาจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ เขาอยากให้เรารักษาพื้นที่ไว้ให้ปลอดภัย ส่วนที่ปิดไปแล้วก็ให้ปิดไป ให้เขาดูแลรักษาต่อไป

หากรัฐบาลจะประกาศอะไรเพิ่มเติม จ.แม่ฮ่องสอนก็ยินดี พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานกลาง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายอย่างเข้มงวดกวดขัน

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

คําสั่งนี้ไม่น่าส่งสัญญาณถึงการเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง อย่าลืมว่าหนังสือที่ออกไปเป็นของกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่การแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบค. แต่เป็นการให้เตรียมความพร้อมหากมีการยกระดับของ ศบค.ขึ้น ทั้งนี้ จากการแถลงโดย ศบค.วันนี้ (6 เม.ย.) ก็ยืนยันแล้วว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นก็ยังไม่ประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นก็อาจขยับมาตรการต่างๆ

ดังนั้น คิดว่ายังไม่ใช่การส่งสัญญาณใดๆ แค่การเตรียมความพร้อมของฝ่ายปกครองเท่านั้น

น่าสนใจว่าเมื่อข่าวนี้ออกมา ทำไมคนเกิดความตื่นตระหนกจนเข้าใจว่านี่คือการเตรียมการสู่เคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง นั่นเป็นเพราะว่าข้อมูลข่าวสารหลายอย่างที่ออกมาไม่เป็นเอกภาพ

นอกจากนี้ทางเลือกในการสื่อสารของประชาชนมีมากมาย เช่น การส่งข้อมูลให้กันในโซเชียลมีเดีย ขณะที่ ศบค.เองก็ไม่มีการแถลงอะไร แต่คนกลับคิดไปแบบนั้นแล้ว ดังนั้น วันนี้จำเป็นต้องย้ำถึงความชัดเจนในการแถลงข่าว รวมทั้งย้ำให้เห็นถึงกระบวนการทำงานในการเดินต่อจากนี้ ซึ่งเป็นการฉายภาพในอนาคตให้ประชาชนเห็นจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่อย่างนั้นหากมีข้อมูลอะไรออกมาประชาชนก็เกิดความตื่นตระหนก เช่น ออกไปกักตุนสินค้า ซึ่งเป็นความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อไวรัส

การประเมินเพื่อขยับมาตรการต่างๆ ต้องให้ระยะเวลาพอสมควร อย่างที่เห็นจากตัวเลขผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ที่วันหนึ่งมีประมาณ 100 กว่าคน ก็เกิดขึ้นเพราะคนจำนวนหนึ่งมีเชื้ออยู่ในร่างกาย แต่ยังไม่แสดงออก ซึ่งระยะเวลาหรือวงจรของโรคจึงเป็น 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้น กว่าเราจะเห็นผลของมาตรการต่างๆ น่าจะประมาณกลางเดือนเมษายน จึงจะสามารถตัดสินได้

การตัดสินใจล่าสุดที่ประกาศเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. ก็คิดว่าเร็วเกินไป ฉะนั้น หากหลังจากนี้จะประกาศ 8 ชั่วโมง 10 ชั่วโมง หรือขยับไปสู่ 24 ชั่วโมง ก็ต้องใช้ความรอบคอบมากกว่านี้

ทั้งนี้ มาตรการรองรับก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีมาตรการรองรับ คนจำนวนไม่น้อยเกิดความตื่นตระหนก เห็นได้จากก่อนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรุงเทพฯประกาศปิดสถานที่ คนก็แตกกระจายออกสู่ต่างจังหวัด ซึ่งเป็นที่มาให้โรคกระจายทั่วประเทศไทย เช่นเดียวกับการที่จะมีเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ชัดเจนแบบนั้นอีกก็จะเกิดปัญหาได้

ประเด็นสำคัญอยู่ที่มาตรการหลายอย่างที่ออกมาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนจนเกิดปัญหาตามมา เมื่อเราไม่มีแผนรองรับที่ดีพอ เช่น กรณีที่สนามบินสุวรรณภูมิ คนส่วนหนึ่งไม่ทราบว่ามีการประกาศมาตรการกักตัว คนบางส่วนอาจรู้แต่รู้สึกว่าไม่มีการรองรับที่เพียงพอ

ท้ายที่สุดก็กลายเป็นประเด็นวิวาทะในสังคมซึ่งฝ่ายหนึ่งก็มองว่าเรื่องนี้เกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติการตรงนั้น สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามีมาตรการรองรับที่ดีพอ และมีมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนมากกว่านี้

อย่าลืมว่าการออกมาตรการต่างๆ ส่งผลกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพราะทุกอย่างเป็นโมเมนตัมทางการเมือง

ดังนั้น หากมีมาตรการเข้มข้น ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลก็จะเหวี่ยงกลับไปสู่ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลและมาตรการต่างๆ

เจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

สําหรับข้อ 1 คือจุดรองรับการกักตัว โรงพยาบาลสนาม คลังอาหาร และการชี้แจงสถานการณ์ เราเตรียมการไว้พร้อมหมดแล้ว เช่นเดียวกับข้อสั่งการในข้อ 2 เรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชนไม่ให้เคลื่อนย้าย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส ตลอดจนการกำหนดแผนเผชิญเหตุทุกอย่าง

ซึ่งล่าสุดเรามีการประชุมเตรียมความพร้อมร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ สำหรับพื้นที่เขตเมืองไว้แล้วล่วงหน้า โดยให้ตั้งคณะกรรมการระดับชุมชนขึ้นมารองรับความพร้อม

ส่วนการกักตุนสินค้านั้น เรามีสายตรวจทำงานเข้มข้นมาตั้งแต่ต้นและพร้อมยกระดับขึ้นในทุกอำเภอ ส่วนแผนการจัดระบบขนส่งสินค้าและจุดให้ความช่วยเหลือประชาชน เบื้องต้นได้มีการหารือว่าให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ ซึ่งท้องถิ่นจะมีหน้าที่แจกจ่ายให้กับประชาชนที่มีปัญหา โดยใช้ข้อมูลจากตำบล หมู่บ้าน เพื่อกำหนดจุดแจกข้าวและน้ำ

เราประชุมเข้มข้นทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจน โดยให้แต่ละอำเภอสมมุติและคิดไว้ว่าหากเกิดสถานการณ์และมีปัญหา ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เช่น ต้องปิดหมู่บ้าน ตำบล จะต้องทำอะไรบ้าง โดยให้พัฒนาการจังหวัดและอำเภอสำรวจทุกหมู่บ้านว่ามีความต้องการปัจจัย 4 อะไรบ้าง

เรียกว่าคิดเผื่อไว้หากต้องปิดจังหวัด หรือล็อกดาวน์ ให้ทุก อปท.เป็นศูนย์กลางประสานหมู่บ้านว่าจะกำหนดกี่จุด เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่เดือดร้อน โดยให้กลุ่มแม่บ้านทำอาหารแจก กำหนดไว้คร่าวๆ ว่าจะต้องใช้ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค สิ่งจำเป็นพื้นฐาน วันละจำนวนเท่าไร แต่ละหมู่บ้านรองรับได้กี่วัน เพื่อที่จะได้ประสานส่วนกลางว่าเราต้องการอะไรบ้าง เพราะอาจมีแนวโน้มห้ามออกจากบ้านหรือที่พัก หากสถิติการแพร่ระบาดยังไม่ลดลงหรือหยุด

ภัครธรณ์ เทียนไชย
ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี

จังหวัดชลบุรีได้มีการเตรียมความพร้อมกับคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทยไว้หมดแล้ว รวมทั้งให้นายอำเภอทั้ง 11 อำเภอของ จ.ชลบุรี เร่งประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของไวรัส
โควิด-19 และจะต้องปิดจังหวัด ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการไว้หมดแล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่จังหวัดชลบุรีหากดูอัตราการเพิ่มของผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น อัตราเริ่มลดลงจะพบว่ามีผู้ได้รับเชื้อทั้งหมด 72 คน รักษาหายและกลับบ้านได้แล้ว 26 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นชาวรัสเซีย เหลือผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาเพียง 45 คนเท่านั้น

ซึ่งในเรื่องนี้หากเป็นคนชลบุรีจริงๆ แล้วไม่ค่อยเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่จะกักตัวที่บ้านเป็นหลัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือคนภายนอกที่เข้ามาใน จ.ชลบุรี มากกว่า

ที่สำคัญหากพบว่าผู้ใดติดไวรัสโควิด-19 ทางจังหวัดชลบุรีจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนที่มาของผู้ที่ติดเชื้อได้ทุกราย ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้การเตรียมการรองรับผู้ติดโควิด-19 นั้น ได้มีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้รองรับหมดแล้ว อาทิ สำนักงานขนส่ง จ.ชลบุรี รองรับได้ 120 คน โรงแรมเบลลา ที่พัทยา มีห้องรองรับถึง 300-400 ห้อง ซึ่งไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือห้างสรรพสินค้าแม็คโคร รวมทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น เกี่ยวกับการจัดระเบียบของลูกค้าเมื่อเข้าไปซื้อสินค้า

รวมทั้งมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อ ควรมีการตรวจเช็กอุณหภูมิ การเตรียมเจลล้างมือ และควรให้ลูกค้าอยู่ไกลกันประมาณ 1 เมตร เพื่อความปลอดภัยทุกๆ คน ซึ่งได้สั่งการให้นายอำเภอลงพื้นที่ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว

ยอมรับว่าสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ชลบุรี สามารถควบคุมได้ คงไม่ถึงขั้นต้องปิดทั้งจังหวัด แต่เมื่อทางปลัดกระทรวงมหาดไทยสั่งมาก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ทั้งหมด เชื่อว่าสถานการณ์คงไม่เหมือนกับประเทศอิตาลี เพราะการแพร่ระบาดมีจำนวนสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ จ.ชลบุรี ช่วงนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้หมดแล้ว เพราะสามารถตามหาผู้ที่เข้าอยู่กลุ่มเสี่ยงได้ทั้งหมด รวมทั้งผู้ติดไวรัสโควิด-19 ส่วนคนในพื้นที่ จ.ชลบุรี ยังไม่มีผู้เสียชีวิตเลยแม้แต่คนเดียว อยากให้ชาวชลบุรีปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรีอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใน จ.ชลบุรี สามารถควบคุมได้ และจะยุติในไม่ช้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image