‘กรณ์’ โพสต์ 3 พ.ร.ก.-1 พ.ร.บ.การเงิน มติ ครม.ประวัติศาสตร์สู้โควิด-19

‘กรณ์’ โพสต์ 3 พ.ร.ก.-1 พ.ร.บ.การเงิน มติ ครม.ประวัติศาสตร์สู้โควิด-19
มติ ครม.ประวัติศาสตร์ – เมื่อวันที่ 7 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก “Korn Chatikavanij – กรณ์ จาติกวณิช” ข้อความว่า

3 พ.ร.ก.1 พ.ร.บ.สำคัญทางการเงิน
มติ ครม.ประวัติศาสตร์สู้โควิด!

หลังจากได้ฟังคำชี้แจง หลักการของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย ผมขอเสนอความเห็นเพื่อช่วยกันคิดเพิ่มเติมจากที่ได้นำเสนอไปแล้วตามนี้ครับ

1) พ.ร.ก.SoftLoan ช่วย SME
เป็นการใช้กลไกของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นประโยชน์แน่นอนกับลูกค้าของธนาคาร แต่ต้องกำกับให้ไปถึงผู้ประกอบการขนาดเล็กให้ได้ ซึ่งบางรายมีวงเงินกับธนาคารน้อย หรือไม่มีการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เลย

Advertisement

2) พ.ร.ก.รับซื้อพันธบัตรเอกชน
เรื่องนี้สะท้อนถึงความระมัดระวังเป็นอย่างดีในส่วนของแบงค์ชาติครับ ท่านมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการหรือธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่า :
1.บริษัทที่ขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะต้องชำระอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาด
2.ต้องระดมทุนส่วนใหญ่ได้จากแหล่งเงินทุนอื่น เช่น การกู้เงินธนาคารพาณิชย์ หรือการเพิ่มทุน
3.ต้องมีแผนการจัดหาทุนในระยะยาวที่ชัดเจน รวมทั้ง ต้องผ่านเกณฑ์และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำกับกองทุนกำหนด
4.หากผู้ออกตราสารหนี้เสนอขายตราสารหนี้ต่อนักลงทุนทั่วไป และมีการให้หลักประกันแก่ผู้ถือ ตราสารหนี้ที่กองทุน BFS จะลงทุนในคราวเดียวกันต้องมีหลักประกันไม่ด้อยกว่าหลักประกันที่ให้แก่ผู้ถือตราสารหนี้อื่น

ตามกติกาดังกล่าวนี้ ผมมองว่าสมเหตุสมผลดีขึ้นมากครับ

3) พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน
แบ่งเป็นสองส่วนคือ 600,000 ล้าน ยิงตรงประชาชน เป็นเม็ดเงินที่เหมาะสม และจำเป็น เพียงแต่ต้องถึงมือประชาชนที่เดือดร้อนทุกคนอย่างรัดกุม ทั่วถึง และเป็นธรรม

ส่วนที่สอง 400,000 ล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ผมขอสงวนความเห็นเพราะยังไม่เห็นแผน สมัยปี 53 ที่เราจำเป็นต้องกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้น เรามีแผนไทยเข้มแข็งรองรับการกู้ทันทีถึงรายละเอียดของการใช้เงิน และหากแผนไม่ชัด จะเกิดความกังวลว่า เป็นการใช้ในโครงการราชการต่างๆ ที่เดิมควรอยู่ในระบบงบประมาณปกติ (ที่ตรวจสอบได้) มากกว่าหรือไม่

4) พ.ร.บ.โอนงบปี 63
ดูเหมือนขาดความจริงจังเป็นอย่างยิ่ง! จากข่าวก่อนหน้านี้ที่บอกว่าจะมีการโอน 20% เพื่อให้ได้งบประมาณ 640,000 ล้าน เหลือแค่จะโอนเพียง 80,000-100,000 ล้าน และยังไม่ได้ระบุว่า งบส่วนนี้จะนำไปใช้อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของแบงก์ชาติ ที่ระบุถึงการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ทั้งต้น และดอกสำหรับ SMEs 6 เดือนเพื่อต่อลมหายใจ ในทางปฏิบัติตรงนี้ SMEs รอคอยมานานมาก เพราะปัญหาในทางปฏิบัติที่ผ่านมาล่าช้า และทำให้ต้องแบกรับภาระทางการเงิน จนอาจต้องปิดกิจการ วันนี้ในเมื่อแบงก์ชาติมีคำสั่งออกมาแบบนี้แล้ว ธนาคารพาณิชย์จึงควรสับคัทเอาท์ต้น และดอกทันที !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image