เดินหน้าชน : เงินกำลังหมุนไป : สัญญา รัตนสร้อย

ผู้เขียนปั่นต้นฉบับชิ้นนี้ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 เมษายน เพื่ออนุมัติมาตรการเยียวยา
และดูแลระบบเศรษฐกิจ ระยะ 3 จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่พอประเมินได้ว่ากรอบวงเงินที่จะใช้ครั้งนี้จะอยู่ราว 1.6 ล้านล้านบาท

สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับการทุ่มเงินช่วยเหลือประชาชน ดูแลภาคธุรกิจ จากวิกฤตเหตุการณ์เดียว

ครั้งวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ปี 2540 ประเทศไทยต้อง
กู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นเงิน 1.72 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทโดยเทียบอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน ก็ตกกว่า 5 แสนกว่าล้านบาทเท่านั้น

และเมื่อพูดถึงมาตรการเยียวยาระยะ 3 ก็ต้องย้อนไปดูมาตรการระยะ 1-2 ที่ผ่านมา

Advertisement

ต้นเดือนมีนาคม 2563 ครม.อนุมัติมาตรการระยะ 1 หลักๆ มุ่งไปยังการช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับ
กลุ่มผู้ประกอบการ อาทิ

-ให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปล่อยสินเชื่อ วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% แต่ละรายกู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

-สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของสำนักงานประกันสังคม วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างลูกจ้างต่อไปได้

Advertisement

ต่อมาปลายเดือนเดียวกัน ออกมาตรการระยะ 2 ดูแลแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม อาทิ

-ช่วยเหลือแรงงาน ลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ด้วยการจ่ายเงินรายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน

-โครงการสินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อการดำรงชีวิตแก่ประชาชน โดยไม่ต้องมีหลักประกัน วงเงินต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท คิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.10 ต่อเดือน

-โครงการสินเชื่อพิเศษเพิ่มเติม เพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีวิตแก่ผู้ที่มีรายได้ประจำ แต่เงินกู้ก้อนนี้ต้องมีหลักประกัน ให้ต่อรายไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35 ต่อเดือน

กลับมามาตรการเยียวยา ระยะ 3 ที่จะทุ่มเงินมหาศาลขยายความช่วยเหลือไปยังทุกกลุ่มมากและกว้างขวางขึ้น

ด้านกรอบวงเงินไม่น่ามีปัญหา

การดูแลค่าครองชีพประชาชนไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐบาลจ่ายเงินไปยังชาวบ้านโดยตรง
แต่ที่ดูจะยังติดขัดเห็นจะเป็นภาคธุรกิจ ลำพังกลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่มีตระกูลในประเทศไทย สายป่านยาวคงไม่เดือดร้อนอะไรนัก

แต่ธุรกิจเล็กและกลางย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีอยู่กว่า 5 ล้านราย ความจริงที่เจ็บปวดก็คือ จำนวนมากเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารพาณิชย์ จากข้อจำกัดเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ

เพราะแบงก์เองก็กลัวเจ๊ง กลัวหนี้เสียเหมือนกันยืนยันด้วยความอึดอัดของ “ชัยรัตน์ ไตรรัตน
จรัสพร” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พูดถึงมาตรการเยียวยาที่ภาครัฐออกมาว่า พอช่วยได้บ้าง แต่ไม่ตรงจุดนัก

คุณชัยรัตน์ยกตัวอย่างผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีกว่า 60% กลุ่มนี้สายป่านสั้น ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของธนาคารตามมาตรการของภาครัฐ เช่น การประเมินศักยภาพในการทำธุรกิจระยะที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าธุรกิจท่องเที่ยวในปี 2562 ไม่ได้ดีมากนัก ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของเอสเอ็มอีในภาคการท่องเที่ยวทำได้ไม่ทั่วถึง

เป็นเสียงสะท้อนจากตัวจริงเสียงจริงในภาคธุรกิจที่รับผลกระทบรุนแรงจริง

ดังนั้นการแปลงมาตรการไปสู่ภาคปฏิบัติจึงสำคัญ และอาจสำคัญยิ่งกว่าจะนำเงินไหน จำนวนเท่าไหร่ มาขับเคลื่อนมาตรการด้วยซ้ำ

ว่ากันว่างวดนี้รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพควักกระเป๋าเอง

หวังว่าเงินกำลังจะหมุนไปจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image