ความหายนะทางเศรษฐกิจ จากโควิด-19 : โดย สมหมาย ภาษี

ดูเหมือนว่าโลกทุกวันนี้หมุนเร็วเหลือเกิน จากวันที่ 3 มีนาคม 2563 นี้ ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19
ทั่วโลก จำนวน 91,333 คน โดยได้ตายไปแล้ว 3,120 คน พอมาถึงวันที่ 3 เมษายน ห่างกันแค่หนึ่งเดือน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกเลยหลักล้านไปแล้วคือ 1,034,369 คน ในจำนวนนี้ได้ตายไปแล้ว 54,465 คน

ความจริงมนุษย์จะมีความรู้สึกว่าวันเวลาช่างผ่านไปรวดเร็วต่อเมื่อตนมีความสุข แต่คราวนี้มนุษยชาติล้วนมีความทุกข์ทั้งนั้นไม่ว่าคนรวยคนจน ทำไมมหันตภัยร้ายนี้แผ่ขยายมาสร้างความทุกข์เวทนาแก่ทุกผู้ทุกนามมากและเร็วอย่างนี้ คนแก่คนเฒ่าที่มีอายุยืนยาวต้องพูดเสียงเดียวกันว่าภัยวิบัติครั้งนี้สร้างความหายนะที่ร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียอีก

ช่างน่ากลัวเสียเหลือเกิน ซึ่งถ้าจะถามผู้ที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ เขาคงคิดว่าไม่เท่าไหร่ พอจะรับมือได้ อีก 2-3 เดือนข้างหน้าคงจะจบ ขอให้ดูไปอีกไม่นานหรอกครับ ท่านทั้งหลายจะต้องรู้ว่านรกนั้นมีจริง ซึ่งจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเพลงฮิตชื่อ “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ของคณะ คสช.เมื่อ 6 ปีที่แล้ว

การที่จะดูว่าโควิด-19 จะสร้างความหายนะให้กับประเทศชาติและประชาชนในโลกใบนี้สักเท่าไหร่นั้น ตอนนี้ก็พอจะมีตัวเลขให้เห็นกันมากพอแล้ว แต่ก่อนอื่นขอให้ท่านผู้อ่านช่วยดูและฟังข่าวในประเทศไทยเราที่เห็นชัดๆ ทั่วไปก่อน เราจะเห็นข่าวใหญ่ที่พูดถึงการท่องเที่ยวที่ต้องหยุดชะงักอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพราะมาตรการสำคัญในการหยุดยั้งไวรัสโควิด-19 คือคนต้องอยู่กับบ้าน จำเป็นต้องหยุดยั้งการเดินทางทุกประเภท

Advertisement

ขณะนี้จึงเห็นได้ชัดว่า ทุกสายการบินต้องหยุดบินแทบทั้งหมด ในต่างประเทศก็เหมือนกัน ใครไปสนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินดอนเมืองในวันนี้จะเห็นเครื่องบินสัญชาติไทยจอดนิ่งเต็มไปหมด โดยเฉพาะสายการบินไทย หรือ TG ซึ่งทุกเครื่องที่มีตราเจ้าจำปีจอดจนจะล้นสนามบินออกมา ความจริงตามสภาพของบริษัทการบินไทยถือว่าได้เจ๊งเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการประกาศออกมา การหยุดกิจการชั่วคราวครั้งนี้โดยเครื่องบินจอดนิ่งทั้งหมดเท่ากับยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือได้มีการลดหรือตัดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ทำให้พนักงานทุกคนได้เห็นโลงศพกันแล้วประการหนึ่ง และต่อไปเมื่อมีการเปิดบินกันใหม่ ก็สามารถจัดแถวของพนักงานกันใหม่ได้ และอีกด้านหนึ่งก็ได้มีการห้ามเลือดที่ไหลไม่หยุดทางการเงินไปด้วย ฐานะทางการเงินของบริษัทสายการบินแห่งชาตินี้ ถ้าเป็นบริษัทเอกชนมีทางเดียวที่จะทำได้คือ การประกาศล้มละลายเท่านั้น

ธุรกิจใหญ่ที่จริงๆ แล้วถือว่าใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทยคือ ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักหมด ซึ่งเมื่อวันที่ 18 มีนาคมนี้ ผมได้เขียนบทความชื่อว่า “การท่องเที่ยวไทยอยู่ในห้องไอซียูแล้ว” บัดนี้ห่างกันสามสัปดาห์ ผมคงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านเปลี่ยนเป็นว่า “ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 นี้ การท่องเที่ยวไทยได้ตายสนิทและถูกนำไปวัดเรียบร้อยแล้ว” อะไรทำนองนี้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะโรงแรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวนับตั้งแต่กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุย พัทยา เชียงใหม่ ได้ปิดกิจการทั้งโดยคำสั่งของทางการและโดยสมัครใจไปแล้วไม่น้อยกว่า 90% หรือถ้าไม่ปิดก็แทบจะไม่มีแขกพัก นอกจากกิจการโรงแรมแล้ว กิจการต่อเนื่อง เช่น บริษัททัวร์ รถเช่า ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ นานาต่างก็ต้องหยุดนิ่งทั้งหมด รายได้ที่เคยเกิด รายได้ที่ด้านการท่องเที่ยวเคยทำให้ GDP ของไทยยืนตระหง่านอยู่ได้เป็นเวลาอันยาวนานได้ขาดสะบั้นไปในชั่วเวลา 2 เดือนเท่านั้นเอง จะพอฟื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็ไม่เหมือนเดิม ก็ต้องรอให้ถึงช่วงปลายปี

Advertisement

กิจการในด้านอื่นที่แม้ไม่ถึงกับหยุด แต่ต่างก็ต้องประสบกับภาวะถดถอย ลองไล่เรียงดูเถอะครับ เช่น กิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ กิจการด้านคมนาคมและการขนส่ง กิจการด้านก่อสร้าง กิจการด้านอุตสาหกรรมทั้งใหญ่และเล็ก กิจการด้านกีฬาและสันทนาการ กิจการด้านโลจิสติกส์ และกิจการด้านบริการทั้งหลายทั้งปวงต่างต้องถูกกระทบอย่างหนัก อย่างน้อยก็ต้องไปถึงสิ้นไตรมาสที่สามของปีนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร ซึ่งเป็นเรื่องหลักของรากหญ้าคนไทยทั่วทุกภาค ซึ่งนอกจากจะต้องเจอกับราคาที่ตกต่ำมาตลอดแล้ว ในปีนี้ตามที่ได้รู้ดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะต้องเจอกับภัยแล้งหนัก ลองหลับตานึกภาพเถอะครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในไม่กี่วันข้างหน้านี้ในเมื่อฝนก็ไม่ตกหรือทิ้งช่วง แหล่งน้ำก็แห้งขอด รัฐบาลก็คงเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ คิดแล้วให้หดหู่

ในเมื่อกิจการทั้งใหญ่และเล็กในทุกสาขาอาชีพ ในเมื่อเสี่ยใหญ่หรือเศรษฐีติดอันดับจนถึงรากหญ้าต้องถูกกระทบถ้วนหน้า ซึ่งประมาณได้เลยว่าเสี่ยแต่ละคนจะประสบกับความหายนะจากรายได้ที่ทุกกิจการของตนต้องลดน้อยลงจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 20-30% ของรายได้ปกติ จะส่งผลให้รายได้ประชาชาติ หรือ GDP ของไทยในปีนี้ลดลงอย่างหนักไปเท่าใด ผมว่าที่หน่วยงานวิชาการด้านเศรษฐกิจหรือธนาคารบางแห่งได้พยากรณ์ว่า GDP ปี 2563 นี้จะลดลงหรือติดลบ 5-6% นั้น เห็นจะผิดมากไปหน่อยนะครับ

เศรษฐกิจของไทยตามที่ทราบดีอยู่แล้วว่าต้องพึ่งการส่งออกของสินค้าและบริการเป็นหลัก ลองมาดูตัวเลข GDP ปี 2562 จำนวน 16.879 ล้านล้านบาท เป็นส่วนของการส่งออกของสินค้าและบริการ 9.480 ล้านล้านบาท คิดเป็น 56% ของ GDP ซึ่งแต่ก่อนสัดส่วนนี้เคยสูงถึง 70% แต่ในปี 2562 การส่งออกของไทยติดลบแทบทุกเดือน ดังนั้น ความสำคัญต่อ GDP จึงเหลือสัดส่วนเพียง 56% เท่านั้น

มาคำนวณผลกระทบของโควิด-19 ว่าจะทำให้ GDP ลดลงในปีนี้สักเท่าไหร่

ตามมูลค่าการส่งออกในปีที่แล้ว 9.480 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งได้เป็นมูลค่าการส่งออกของสินค้าเพียง 80% และเป็นส่วนของรายได้จากการที่นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้จ่ายในประเทศอีก 20% นำตัวเลขคู่นี้มาคำนวณการส่งออกคร่าวๆ ในปี 2563 ที่โดนไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบหนักไปทั่วโลก

การส่งออกของสินค้าไทยปีนี้คงไม่สามารถทำได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วอย่างแน่นอน คิดว่าอย่างเก่งทำได้แค่ 80% จะลดลง 20% ส่วนทางด้านการท่องเที่ยวปี 2563 นี้ คงทำได้แค่ 50% ของปีที่แล้ว ดังนั้น มูลค่าการส่งออกของสินค้าและบริการในปีนี้จะลดลงไปไม่น้อยกว่า 2.45 ล้านล้านบาท หากดูด้านการลงทุนและการบริโภคอีก 2 ด้าน อย่างน้อยต้องลดน้อยถอยลง 24% จากปีที่แล้วคือ ประมาณ 0.55 ล้านล้านบาท ดังนั้น ปี 2563 นี้มีโอกาสสูงมากที่ GDP จะต่ำกว่าปีที่แล้วประมาณ 3.00 ล้านล้านบาท สรุปแล้ว GDP ปี 2563 ทั้งปีจะต่ำกว่าปี 2562 มากเป็นประวัติการณ์ คือติดลบถึง 18%

ที่กล่าวมาข้างต้นคือผลกระทบต่อ GDP ปี 2563 นี้ ซึ่งจะติดลบมากอีกครั้งหนึ่ง และมีผลโดยตรงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนของประเทศ และธุรกิจภาคเอกชนโดยเฉพาะ SME เดือดร้อนหนัก ผลกระทบทางเศรษฐกิจด้านอื่นก็รุนแรงเช่นกัน ที่สาคัญคือ เรื่องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างที่เห็นกันชัดแล้ว และนอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมูลค่าตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบันมีขนาดใหญ่มากถึง 78% ของ GDP สัดส่วนนี้ใกล้เคียงกับประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน

ลองมาดูผลกระทบของโควิด-19 ต่อตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยว่ารุนแรงขนาดไหน

ขอเริ่มดูที่ตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดหุ้นของไทย (SET) ก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ตลาดหุ้นของไทยมีขนาดใหญ่พอควรในเอเชีย โดยมีมูลค่าการตลาด (Market Capitalization) ก่อนรู้จักโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 SET มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16.75 ล้านล้านบาท เท่าๆ กับมูลค่าของ GDP ทีเดียว แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในอีก 3 เดือนครึ่ง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 นี้ มูลค่าตลาดของ SET ลดลงเหลือ 12.25 ล้านล้านบาท ลดลงไปถึง 4.5 ล้านล้านบาท หรือ 27%

การลดลงอย่างมากของตลาดหุ้นทั่วโลกครั้งนี้ แน่นอนที่สุดไม่มีรัฐบาลไหนนิ่งเฉยได้ ล้วนแล้วแต่ต้องอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเข้ามาพยุงกันทั้งนั้น สุดแท้แต่ว่าใครจะใช้มาตรการซึ่งมีทั้งด้านการคลังและการเงินที่เหมาะสมกว่ากัน

สำหรับตลาดตราสารหนี้ของไทยที่มีมูลค่าการตลาด (Market Outstanding Value) สูงถึงประมาณ 80% ของ GDP แล้วมีการซื้อขายอยู่ทุกวันเช่นกันนั้น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลกก็ต้องโดนกระทบแน่นอน ที่เห็นได้ชัดก็คืออัตราผลตอบแทน (Yield) จะลดต่ำลง เพราะบริษัทหรือกองทุนต่างๆ ที่ถือตราสารหนี้อยู่จะเกิดความกลัวว่าชักจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบที่ลุกลามมาจากตลาดตราสารหนี้นอก

โครงสร้างของตลาดตราสารหนี้ไทยที่มีมูลค่าของตลาดขณะนี้ถึง 13.70 ล้านล้านบาทนั้น องค์ประกอบใหญ่สุดประมาณหนึ่งในสามเป็นพันธบัตรของรัฐบาลที่ต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง รองลงมาคือ ตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือที่เรียกกันว่าหุ้นกู้ และพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีสัดส่วนประมาณ 27-30% และส่วนน้อยจะเป็นตราสารหนี้ของรัฐวิสาหกิจ

สิ่งที่น่าสนใจของตลาดตราสารหนี้ไทยก็คือ ไม่ใช่สถาบันการเงินหรือกองทุนไทยเท่านั้นที่ถือครองตราสารหนี้ไทย แต่ยังมีการถือครองของนักลงทุนต่างชาติด้วยในสัดส่วนประมาณ 7-8% ในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ นักลงทุนต่างชาติถือครอง จำนวน 0.90 ล้านล้านบาท ของมูลค่าตราสารหนี้ไทยทั้งสิ้น 13.70 ล้านล้านบาท สำหรับองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการซื้อขายตราสารหนี้ไทย คือสมาคมตราสารหนี้ไทย (Thai Bond Market Association-ThaiBMA)

โดยสรุปแล้วกล่าวได้ว่า ตลาดตราสารหนี้ไทยนั้นคือที่สำหรับระดมทุนทั้งจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เชื่อถือในตราสารหนี้ไทย สามารถเป็นฐานสนับสนุนให้การลงทุนของไทยมั่นคงและยั่งยืนตลอดมา จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต.จะต้องดูแลให้มั่นคงและได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนตลอดไป

ที่กล่าวมาทั้งหมดได้พูดถึงสิ่งที่รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะต้องให้การดูแลเพื่อแก้ไขผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้ ซึ่งนับตั้งแต่การเยียวยารากหญ้า คนจนทุกหมู่เหล่า ธุรกิจห้องแถว และธุรกิจขนาดย่อม (SME) รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ นอกจากนี้ที่ไม่ได้เอ่ยถึงคือเรื่องค่าเงินบาท อัตราดอกเบี้ย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และภาระของหนี้สาธารณะ ซึ่ง 4 เรื่องนี้ถือว่าอยู่ในสถานะที่ดีและได้ดุลยภาพแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพูดในรายละเอียด แต่ก็ขอสะกิดผู้ใช้อำนาจว่าอย่าตั้งอยู่ในความประมาทและขออย่าได้ละสายตา เพราะช่วงที่ GDP หดตัวและติดลบมากๆ นี้มันจะส่งผลกระทบต่อเรื่องเหล่านี้โดยอัตโนมัติ และถ้าเรื่องเหล่านี้ถูกทำให้โน้มไปในทางลบมากๆ ก็จะทำให้ต่างประเทศเขาขาดความเชื่อถือ แล้วเรื่องก็จะยิ่งยาวออกไป

สุดท้ายใคร่ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการทางด้านการเงินการคลังที่กำลังจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติออกมามากมาย ซึ่งบทความที่เขียนนี้ปิดเรื่องส่งสำนักพิมพ์มติชนในเช้าวันจันทร์ที่ 6 เมษายน ก่อนที่จะมีการประชุม ครม. 1 วัน แต่เนื่องจากทราบว่าได้มีการหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อวันศุกร์ที่ 3 เมษายน ก็พอจะทราบแนวของมาตรการที่มีข่าวแพร่สะพัดออกมาตั้งแต่วันที่ 3 แล้ว ก็จะขอนำสิ่งที่พอจะให้ความเห็นได้บ้างมานำเสนอ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดที่จะทำให้ประเทศอยู่รอด ซึ่งมีทั้งด้านการเงินและการคลัง จะขอวิเคราะห์ด้านการคลังก่อน ดังนี้

1.การให้กระทรวงต่างๆ ตัดงบประมาณประจำปี 2563 ที่ไม่จำเป็นต้องจ่ายประมาณ 10% ของยอด
งบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท ก็ควรจะได้สัก 200,000-300,000 ล้านบาท เรื่องนี้ดูท่าทางขึงขัง แต่ทราบข่าวว่าแม้สำนักงบประมาณจะเอาจริงแค่ไหน กระทรวงต่างๆ ก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าได้แค่นี้แหละ คิดว่าอย่างเก่งรีดได้ไม่เกิน 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนเหตุผลนะหรือ ไม่อยากจะพูดว่าเค้กที่แต่ละพรรคได้แบ่งกันแล้ว ไม่มีใครจะยอมคายออกมา

2.การออกพระราชกำหนดเพื่อกู้เงินภายในประเทศจำนวนประมาณ 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ความยากจนและกอบกู้เศรษฐกิจของประชาชน เช่น มาตรการเยียวยาประชนชนและธุรกิจ มาตรการสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจเพื่อไม่ให้หยุดชะงัก และดูแลเศรษฐกิจการเงิน เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามตัวเลขความต้องการใช้เงินที่คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้คำนวณไว้ ภายใต้ความคิดว่าต้องจัดให้พอ คาดว่าความต้องการใช้เงินจะมีถึง 10% ของ GDP หรือ 1.6 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับครึ่งหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ทีเดียว

จำเป็นต้องเยียวยานั้นไม่ว่ากัน แต่เงินที่จะมาสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากมายก่ายกองนี้ เอาแค่ 500,000 ล้านบาท ก็มากโขแล้ว จะใช้เวลาที่ไหนไปทำโครงการ เพราะงบประมาณปี 2563 ที่เป็นงบลงทุนที่ยังไม่ได้จ่ายก็มีอยู่ร่วม 80-90% เงินกู้ชดเชยขาดดุลก็ได้กู้ไปไม่ถึงครึ่ง เงินรายได้จากภาษีเงินได้ที่เลื่อนไปจ่ายภายในสิ้นสิงหาคมก็จะทยอยไหลเข้ามา และในงบประมาณปี 2564 ก็จะต้องกู้งบขาดดุลมาชดเชยอีกไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท คิดถึงการบริหาร Cash Flow ของชาติบ้างซิพ่อคุณ อย่าไปตามใจแบงก์มากนัก ผมเชื่อว่าธนาคารพาณิชย์เขามีสภาพคล่องและให้กู้ได้สบายกะแค่ 1 ล้านล้านบาท

ไม่อยากให้ท่านผู้อ่านคิดย้อนหลังไปถึงหนี้ของกองทุนฟื้นฟูประมาณ 800,000 ล้านบาท และหนี้ค่าคอร์รัปชั่นของโครงการจำนำข้าวอีกประมาณร่วม 500,000 ล้านบาท ทั้งสองก้อนนี้รวมกันก็เป็น 1.3 ล้านล้านบาท ที่ต้องชำระกันถึงรุ่นหลาน เมื่อเอา 1.0 ล้านล้านบาท จากงบไวรัสโคโรนา 19 มารวมเข้าไปอีก ในอนาคตลูกหลานคนไทยมิต้องเหี่ยวแห้งตายกันหรือ

3.สำหรับมาตรการด้านการเงินสองข้อหลักที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจะเสนอให้ออกพระราชกำหนดมาสนองความสามารถของผู้ว่าการและคณะ คือ

ข้อแรก มาตรการอนุมัติให้ ธปท. หรือแบงก์ชาติทำโครงการช่วย SME ที่มีขนาดใหญ่

ข้อที่สอง มาตรการเห็นชอบให้แบงก์ชาติใช้เงินของแบงก์ชาติเข้าซื้อตราสารหนี้ชั้นดีของภาคเอกชนที่จะออกมาเพื่อทดแทนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน เรื่องนี้ฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่สงสัยว่าแล้วตราสารหนี้ที่เกรดไม่ค่อยดี ที่ผู้ออกฐานะไม่ค่อยดี จะมีใครยื่นมือเข้าไปช่วยเขาหรือไม่

ที่ทำให้ต้องตั้งคำถามกับมาตรการดีๆ ของแบงก์ชาติทั้งสอง ก็ที่สังเกตเห็นว่าต้องมีการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติตัวพระราชกำหนด ก็เลยสงสัยว่ามาตรการทั้งคู่นี้ต้องมีความเสียหายเกิดขึ้นแน่ไม่มากก็น้อย ทำอย่างนี้เพื่อให้แบงก์ชาติลอยตัว ตอนทำใครๆ ก็ต้องพากันชื่นชม แต่ตอนจบแบงก์ชาติยิ้มร่า ที่รัฐบาลจะต้องรับภาระเอาเงินภาษีอากรของประชาชนไปจ่ายชดใช้ค่าเสียหายที่จะเกิดจากมาตรการของแบงก์ชาติ

อย่าลืมนะครับมาตรการทั้ง 2 ข้อนี้ เป็นการช่วยธุรกิจเอกชนและธนาคารพาณิชย์ ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนตาดำๆ ต้องเสียภาษีไปชดใช้หนี้ด้วย

และเมื่อรวมทั้งสองมาตรการทั้งการเงินและการคลังเข้าด้วยกัน ถ้าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติแบบนี้ (ขณะที่เขียนบทความนี้ยังไม่มีการประชุม ครม.นะครับ) ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จะเป็นทั้งประชาชนและธุรกิจเอกชน แต่ผู้ที่จะรับเต็มๆ คือคะแนนนิยมในตัวรัฐบาล เพราะฉะนั้นโปรดอย่าทำให้เกิดข้อครหาขึ้นมานะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่มีใครเตือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image