รายงานหน้า 2 : ชำแหละเงินเยียวยาโควิด 1.9 ล้านล้าน สำเร็จ-ล้มเหลว อยู่ที่วิธีใช้

กู้เงิน

รายงานหน้า 2 : ชำแหละเงินเยียวยาโควิด 1.9 ล้านล้าน สำเร็จ-ล้มเหลว อยู่ที่วิธีใช้

เป็นไปตามข่าวและความคาดหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้

นั่นคือรัฐบาลขยับ “วงเงิน” ในการต่อสู้กับโรคระบาดและการเยียวยา-ฟื้นฟูเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

จาก 1.68 ล้านล้านบาทที่กำหนดเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

Advertisement

ขึ้นมาเป็น 1.9 ล้านล้านบาท

1.9 ล้านล้านบาทที่ว่าแยกเป็น

มาตรการการคลัง 1 ล้านล้านบาท

และมาตรการการเงิน 900,000 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้จำแนกออกได้เป็น 4 กลุ่มคือ

600,000 ล้านบาท ใช้กับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ, เกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข

400,000 ล้านบาท ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เน้นที่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น

500,000 ล้านบาท เป็นซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้กู้กับ SME ในวงเงินไม่เกินรายละ 500 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์-สถาบันการเงินอื่นๆ พักหนี้ SME ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท

400,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมไว้รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อป้องกันความปั่นป่วนในตลาดการเงิน

ประเด็นก็คือ “กรอบ” ของตัววงเงินนั้นใช่

แต่ “ไส้ใน” ของเงินทั้งหมดนั้นยังน่ากังวล

ขออนุญาตแยกแยะแต่ละก้อนออกมาดังนี้

1.600,000 ล้านบาท ที่จะใช้กับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข

ไม่น่าจะเพียงพอ

เพราะต่อให้นับตัวเลข “ต่ำที่สุด” ของผู้ได้รับผลกระทบที่จะอยู่ในข่ายเยียวยา ที่กระทรวงการคลังคาดไว้ 9 ล้านคน บวกเข้ากับเกษตรกรอีก 11 ล้านคน

ก็เป็น 20 ล้านคนเข้าไปแล้ว

คิดตัวเลขสูงสุดจากจำนวนผู้มีงานทำในประเทศไทย (แบบตัวเลขกลมๆ) 37 ล้านคน หักเกษตรกรออกไป 11 ล้านคน ก็คือ 26 ล้านคน

ในจำนวนนี้ถ้าคิดว่า อาจจะตกงานหรือว่างงานชั่วคราวครึ่งหนึ่งก็ 13 ล้านคน

ถ้ารวมกับเกษตรกรอีก 11 ล้าน ก็เป็น 24 ล้านคน

ถ้า 20 ล้านคน ตกเดือนละ 100,000 ล้านบาท 6 เดือนก็ 600,000 ล้านบาท

ถ้า 24 ล้านคน ตกเดือนละ 120,000 ล้านบาท 6 เดือนก็ 720,000 ล้านบาท

นี่ยังไม่นับตัวเลขที่ต้องใช้กับงานสาธารณสุขอีก

เพราะหนึ่งในภารกิจหลักเฉพาะหน้าของรัฐบาลและสังคมไทย ณ วันนี้ก็คือ

สกัดการแพร่ระบาดของโรคให้ชะงัดและชะงักโดยทันที

นอกจากเพื่อลดจำนวนความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินแล้ว

ยังจะทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนอยู่ในระดับต่ำสุด

มีรายงานข่าวด้วยว่า วงเงินที่ระบบสาธารณสุขจะได้รับการจัดสรรเมื่อตอนที่ตัวเลขวงเงินรวมอยู่ที่ 1.68 ล้านล้านบาทนั้น อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท

แต่ล่าสุดในขณะที่วงเงินรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 ล้านล้านบาท เงินที่จะมาใช้กับภารกิจสาธารณสุขกลับลดลงไปเหลือ 30,000 ล้านบาท

จะเพราะเหตุผลว่าด้วยความกังวลเรื่อง “การจัดซื้อ” หรือเหตุผลทางการเมืองอะไรก็ตาม

แต่ตัวเลขเช่นนี้ย้อนแย้งกับภาวะที่เป็นอยู่

ด้านหนึ่ง มีการบรรจุคนในระบบสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 45,000 คน และมีมาตรการในการ “ควบคุมประชาชน” เข้มข้นขึ้นทุกขณะ

แต่อีกด้านกลับลดวงเงินที่จะต้องใช้ลง

นี่เป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดเจน

2.400,000 ล้านบาท ใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เน้นที่ชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น

ก้อนนี้น่าเป็นห่วงที่สุด

เพราะในคำแถลงของท่านก็คือ ให้หน่วยราชการ กระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลายไปคิดกันมา ว่าจะต้องใช้อะไรบ้าง

แล้วมาเข้าเกณฑ์การพิจารณาของสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง

ซึ่งฟังแล้วดูดี

แต่ก็ยังไม่หายห่วง

ถามว่าห่วงอะไร

ห่วงแรกเลยก็คือ เมื่อใช้กลไกของระบบราชการ ด้วยระเบียบ ขั้นตอน พิธีการต่างๆ ยุ่งยากวุ่นวาย กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ไปแล้ว

เงินไม่ออกมาถึงมือชาวบ้านที่กำลังรอการช่วยเหลือ ซึ่งนั่งนับความทุกข์กันเป็นนาที

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนอยู่กับตาก็คือ

วันนี้ถ้าท่านลงทะเบียนคนตกงานกับสำนักงานประกันสังคม เมื่อเขารับเรื่องท่านและตีตราเป็นคนตกงานแน่นอนแล้ว

ท่านจะได้เงินในอีก 60 วันข้างหน้า

มันคืออะไร?

วิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้นมาแล้ว 2 เดือน วิกฤตเศรษฐกิจและการตกงานเริ่มขึ้นมาแล้วเดือนหนึ่ง ยิ่งครึ่งเดือนหลังสุด มาตรการควบคุมประชาชนยิ่งเข้มข้นขึ้น การทำมาหากินไม่ว่าธุรกิจใหญ่น้อย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระยากขึ้น จำนวนคนว่างงานก็มากขึ้น

ตกงานวันนี้ แต่อีก 2 เดือนได้รับเงินเยียวยา

ใน 2 เดือนนี้จะให้ตัวและลูกเมียอิ่มทิพย์หรือกินลมแล้วมีชีวิตรอดหรือ

แต่นี่คือระบบราชการ ที่ให้ความสำคัญกับระเบียบ ขั้นตอน พิธีการ

มากกว่าทุกข์ยากของประชาชนและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

ห่วงที่สองก็คือ ถ้าจัดการควบคุมไม่ดี 400,000 ล้านบาทนี้ จะเป็นช่องทางทำมากินครั้งใหญ่

เอาแค่ว่า มีประชุมวงเล็กเรื่องเพิ่มวงเงินกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันถัดมา เรื่องยังไม่ทันเข้า ครม. “พรรคหน้ากากเสือ” ก็มีการประชุมวงเล็กด้วยเหมือนกัน

มีการเสนอว่าหนึ่งในโครงการที่จะเสนอเข้ามาประกบ ก็คือโครงการสร้างสนามบินท้องถิ่น

มันคืออะไร?

เกี่ยวข้องกับการเยียวยาหรือฟื้นฟูเศรษฐกิจตรงไหน เป็นเรื่องเร่งด่วนคอขาดบาดตายหรือ

หรือต่อให้ได้สร้างจริง จะมีคนใช้บริการไหม ในยามที่สายการบินทั้งโลกหยุดบริการ

หรือจะสร้างเอาไว้แข่งวิ่งวัววิ่งควาย

นี่แค่พรรคหน้ากากเสือพรรคเดียว ยังไปไกลถึงขนาดนี้

ยังไม่นับพรรคนักช้อป พรรคเรือพ่วง หรือหน่วยงานเสือหิวทั้งหลาย

มีอะไรเป็นเครื่องรับประกันกับสังคมและประชาชนว่า

เงินทุนที่สั่งสมมาแต่ในอดีต ที่เป็นต้นทุนสำคัญยิ่งของสังคมไทย เพื่อเอาไว้ใช้ในยามวิกฤตเช่นนี้

จะไม่ถูกพร่าผลาญไปโดยความละโมภของใครหรือกลุ่มไหนกลุ่มหนึ่ง

ทำอย่างไรจะให้สังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส

3.500,000 ล้านบาท เป็นซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศ ให้กู้กับ SME ในวงเงินไม่เกินรายละ 500 ล้านบาท และให้ธนาคารพาณิชย์-สถาบันการเงินอื่นๆ พักหนี้ SME ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท

แน่ใจนะครับว่าครอบคลุมพอ

เพราะถ้าดูตามเงื่อนไขข้างต้น กลุ่มที่จะได้รับการช่วยเหลือส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม

ในขณะที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤตหนนี้ คือผู้ประกอบการในภาคบริการ

ตั้งแต่ระดับใหญ่อย่างสายการบินและโรงแรม

มาถึงระดับล่างอย่างก๋วยเตี๋ยวเจ๊แกละ-ข้าวแกงเจ๊เที่ยง อย่างที่เคยยกตัวอย่างเอาไว้

สำหรับกิจการใหญ่นั้น อาจจะไม่น่าห่วง เพราะคงเข้าข่ายและอยู่ใน “เรดาร์” ของการช่วยเหลืออยู่แล้ว

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือก๋วยเตี๋ยวเจ๊แกละ-ข้าวแกงเจ๊เที่ยง หรือผับ บาร์ ร้านอาหารทั้งที่มีร้านหรืออยู่ริมถนนทั้งหลาย

ในพัทยา ในเชียงใหม่ ในภูเก็ต และอีกหลายๆ ที่ในประเทศไทย

ที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ

ถ้าจะอ้างว่า คนกลุ่มนี้คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทอยู่แล้ว

ก็ใช่

แต่เงินเยียวยาตรงนั้นคือ “สิทธิ” อันพึงได้รับในฐานะประชาชน

คำถามคือ ในฐานะผู้ประกอบการรายย่อย จนไม่อาจจะย่อยกว่านี้ได้ และเป็น “รากหญ้า” เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจและปากท้องชาวบ้านจริงๆ เขามีสิทธิจะได้รับความช่วยเหลืออีกหรือไม่

สมมุติตัวเลขคร่าวๆ ว่า มีร้านอาหารห้องแถวหรือร้านอาหารข้างทางอยู่ 200,000 ราย กระจายอยู่ทั่วประเทศ

จะหนักหนาสาหัสนักหรือ ถ้าจะให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า (อาจจะรอบเดียว หรือหลายรอบแล้วแต่ความหนักหนาของสถานการณ์) ไปเป็นทุนต่อชีวิตให้เขา

สมมุติอีกว่ารายละ 10,000 บาท

200,000 ราย ก็ใช้สตางค์แค่ 2,000 ล้านบาท

น้อยมากเมื่อเทียบกับวงเงินทั้งก้อน 1.9 ล้านล้านบาท

และถ้าจะบอกว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะอยู่ๆ จะเอาสตางค์ไปยัดใส่มือคนเฉยๆ ไม่ได้

จะให้รัฐบาลออกพันธบัตรมายืมซอฟต์โลนตัวนี้ แล้วเอาไปแจกจ่ายเองก็ได้

ถ้าอยากทำจริง มีช่องทางให้ทำทั้งนั้นล่ะครับ

4.400,000 ล้านบาท เป็นวงเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมไว้รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อป้องกันความปั่นป่วนในตลาดการเงิน

กลายเป็นก้อนที่มีภารกิจชัดเจนที่สุด

เรื่องความจำเป็นอาจจะไม่ต้องถกเถียงกัน

แต่ขออนุญาตย้อนตัวเลขให้ดูอีกครั้งว่า ประเทศไทยมีบริษัทเอกชนที่ออกตราสารหนี้มาขายจำนวนทั้งสิ้น 1.6 ล้านล้านบาท

ถ้าปล่อยให้มีการถล่มขายเพราะการขาดความเชื่อถือ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด

ที่จะระเนระนาดตามไปด้วยคือตลาดเงินส่วนอื่นๆ ไปจนถึงตลาดทุนตลาดหุ้น

ถ้าตลาดการเงินถล่มลงมาเมื่อไหร่ ประเทศนี้ก็จะได้วิกฤตเหมือนปี 2540 ซ้อนทับเข้ามาบนวิกฤตโรคระบาด และวิกฤตแห่งความฝืดเคืองอีกชั้นหนึ่ง

โดยหลักๆ แล้ว เศรษฐกิจทั้งโลกนั้นมีสองขา

คือขาใหญ่กับขาเล็ก

ความผิดพลาดที่ไม่ควรจะเป็นความผิดของมาตรการและวงเงินที่ชัดเจนที่สุดก้อนนี้ก็คือ

ชัดเจนและตรงไปตรงมากว่ามาตรการหรือวงเงินก้อนอื่นๆ

ในขณะที่มาตรการช่วย “ขาเล็ก” ทั้งหลายยังไม่ชัดเจน หรือมีความน่ากังวลว่าจะมีช่องว่างรอยโหว่เกิดขึ้น

มาตรการช่วยเหลือ “ขาใหญ่” กลับชัดเจนใสแจ๋ว

จะไม่ให้คนเขาตั้งข้อสงสัยหรือเคลือบแคลงอย่างไรได้

เนื่องจากที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาลที่ต่อเนื่องกันมาชุดนี้ ตัวเลขของ “ความเหลื่อมล้ำ” ในสังคมนั้นถ่างกว้างขึ้นทุกที

นี่เป็นเรื่องที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยพึงระวัง

และเตรียมคำชี้แจงไว้ให้ดี

ประเด็นโดยสรุปก็คือ

เมื่อจะต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาล ที่ไม่เพียงแต่จะชี้ชะตาของเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายในปัจจุบัน

แต่ยังหมายถึงอนาคตของลูกหลานในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

เงินที่จะใช้แก้ปัญหาหรือวิกฤตนั้น

แค่ “เพียงพอ” ยังไม่พอเพียง

แต่จะต้องใช้ให้ “ถูกเป้า” ด้วย

เป้าหมายร่วมของทั้งสังคมคืออะไร

หนึ่ง คือจำกัดการแพร่ระบาดของโรค

สอง คือบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนให้น้อยที่สุด

สาม คือเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบให้ได้ทั่วถึงที่สุด

สี่ คือกอบกู้ความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ฟื้นขึ้นมาได้มากและเร็วที่สุด

และที่สำคัญมาตรการทั้งหมดนี้ต้อง “รวดเร็ว” ทันการณ์

อะไรที่นอกเหนือจากนี้ หรือถ่วงมาตรการเร่งด่วนเช่นนี้

ต้องไม่ทำ

จะเป็นระบบ ระเบียบ หรือขั้นตอนอะไร ที่จะทำให้การทำงานหย่อนประสิทธิภาพลง

เป็นโอกาสที่ดีจะรื้อสร้างใหม่ไปด้วยเลย

จะเป็นใครที่ฉวยโอกาสเข้ามาหากิน

ต้องจัดการให้สังคมได้ตระหนัก

และถ้ายังจะต้องอาศัยระบบราชการเป็นตัวขับเคลื่อน

ข้อเสนอก็คือ ให้ระบบราชการแตะเงินหรือเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการอนุมัติเงินให้น้อยที่สุด

เพราะระบบราชการสามารถให้ความช่วยเหลืออื่นๆ โดยไม่ต้องใช้เงิน

เช่น เมื่อช่วยกิจการหรือประชาชนที่ประสบความทุกข์ยาก (ซึ่งเป็นหน้าที่ต้องช่วยเหลืออยู่แล้ว) ไปแล้ว

กิจการที่ดีที่ “กลืนเลือด” อยู่ในปัจจุบัน ควรจะต้องช่วยเหลือเขาด้วยหรือไม่

ดีในความหมายปัจจุบัน ก็คือกิจการที่ไม่ลดจำนวนพนักงาน ไม่ลดเงินเดือนค่าจ้าง หรือลดลงมาก็น้อยที่สุด

เป็นกิจการที่ไม่ทำตัวให้เป็นภาระกับรัฐและสังคม

จะมี “รางวัล” ให้เขาไหม

ไม่ต้องเป็นตัวเงิน แต่เป็นแรงจูงใจอื่นๆ

เช่น ถ้ากลั้นใจไม่ลดพนักงาน-ไม่ลดเงินเดือนต่อไปอีก 6 เดือน จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรืออื่นๆ ได้ไหม

หรือในยามที่คนตกงานว่างงานมีจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏเช่นนี้

รัฐ-ราชการจะมีมาตรการกระตุ้น ผลักดัน หรือส่งเสริมให้เขาลุกขึ้นมาทำกิจกรรมและกิจการที่เป็นประโยชน์ ทั้งในเรื่องการจ้างงาน และการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้อย่างไร

ยกตัวอย่างเล่นๆ เช่น จะใช้จักรทั้งจักรส่วนบุคคล จักรอุตสาหกรรม จำนวนหลายแสนหรือนับล้านตัวในประเทศนี้ตัดเย็บหน้ากากผ้าเพิ่มขึ้นไหม

แล้วรัฐรับซื้อให้หมด (ถ้าเข้ามาตรฐาน)

จากนั้นจะเอาไปขายหรือเอาไปแจกในโลกที่ต้องการหน้ากากเพิ่มขึ้น (ตามการประกาศขององค์การอนามัยโลก)

ก็แล้วแต่

หรือจะสนับสนุนให้เกิดการปรับปรุงเครื่องจักรของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกขั้นปลาย เพื่อทำเสื้อคลุม PPE สำหรับแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข ที่มีความต้องการมหาศาล ทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

ไปจนกระทั่งถึง จะพิจารณา-ตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ผลิตเอทานอล ที่จะให้สลับเอาแอลกอฮอล์มาใช้ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นหรือไม่

ฯลฯ

ทำก็ทำได้ทั้งนั้น ถ้าอยากจะทำจริงๆ

และสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงิน หรือใช้เงินน้อยที่สุดด้วย

แค่ต้อง “ปรับทัศนคติ” กันใหม่

และเป็นโอกาสดีที่จะ “รื้อ-สร้าง” อะไรใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย

สตางค์นั้นสำคัญแน่

แต่วิธีใช้สตางค์ต่างหากครับที่สำคัญกว่า

ยิ่งเป็นสตางค์ของคนทั้งประเทศ ยิ่งเป็นสตางค์ก้อนใหญ่

ยิ่งต้องตระหนักเอาไว้ให้มาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image