อปท.ทั่วประเทศส่อวุ่นหลัง มท.ตีความโควิด–19 ไม่ใช่สาธารณภัย ห้ามใช้งบกลาง

‘ศักดิพงศ์’หวั่นอปท.ทั่วประเทศมีปัญหาใช้งบกลาง หลังจากกระทรวงมหาดไทยสรุปจากการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลทั่วประเทศ ตีความว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่สาธารณภัย

วันที่ 9 เมษายน นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้องค์กรปกครองท้องถิ่น( อปท.)ทั่วประเทศมีปัญหาในการใช้งบกลาง หลังจากกระทรวงมหาดไทยสรุปจากการประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกลทั่วประเทศ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจการใช้งบประมาณของ อปท.ตีความว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ใช่สาธารณภัย โดยอ้างว่ากรมควบคุมโรคยังไม่ประกาศเป็นสาธารณภัย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค ทำให้ อปท.ไม่สามารถใช้งบกลางได้ แต่สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของ อปท. พ.ศ. 2560 ซึ่งปีหนึ่งช่วยได้ไม่เกิน 3 ครั้งๆละไม่เกิน 3,000 บาท

“ก่อนหน้านี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 ถูกตีความเป็นสาธารณภัยตามนิยามขององค์การอนามัยโลก หากนำงบกลางของท้องถิ่นใช้ไม่ได้จะทำให้มีปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมา อปท.มีการพ่นยาฆ่าเชื้อ แจกหน้ากากอนามัย แจกเจลล้างมือ แจกแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ มีการใช้งบกลางเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน และเชืื่อว่าหากกระแสโรคระบาดโควิด 19 ผ่านพ้นไป ผู้บริหาร ข้าราชการ อปท. ต้องเตรียมรับมือกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน( สตง.)“นายศักดิพงศ์กล่าว

นายบรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจให้ อปท.กล่าวว่า ขณะนี้ อปท.ทั่วประเทศได้เร่งรัดแก้ปัญหาโรคระบาด แต่หลังจากหน่วยงานส่วนกลางออกมาตีความทำให้มีความสับสน และจะต้องรอหนังสือสั่งการที่ชัดเจน ทั้งที่ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทย และ กรมส่งเสริมการปรกครองท้องถิ่น ควรแจ้งแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรองรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด หรือ หากทำล่าช้าในลักษณะนี้ ก็ควรพิจารณาคืนอำนาจให้ อปท.ออกข้อบัญญัติเรื่องการเบิกจ่าย การเงินการคลังอย่างมีอิสระเช่ยเดียวกับ กทม. ซึ่งเป็น อปท.รูปแบบพิเศษ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญผู้บริหาร อปท. จะต้องห่วงใยคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ไม่มีเวลานั่งรอการตีความเพื่อใช้งบประมาณ

“ที่ผ่านมา อปท.เป็นเหยื่อตรวจสอบจาก สตง.เนื่องจากระเบียบ ประกาศ หนังสือสั่งการของกรม ของกระทรวงไม่ชัดเจน ดังนั้นถึงเวลาที่ อปท.ต้องช่วยกันผลักดันให้มีสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติให้ผู้แทนส่วนกลางร่วมกำกับในฐานะสมาชิก หรือกรรมการสภาการปกครองท้องถิ่นฯ นำนายก อปท.และข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการ กำหนดให้มีสำนักงานสภาฯ ที่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ที่สำคัญข้าราชการใน สำนักงานสภาฯ ให้มีฐานะเป็นข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อให้ อปท.พ้นจากสภาพของการสั่งการที่ทำให้มีปัญหาในการปฎิบัติหน้าที่มาอย่างยาวนาน”นายบรรณกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image