กมธ.ศึกษาคนเก่ง ส.ว. ตั้งคณะทำงาน 3 ชุด ‘ศานิตย์’ ชงระบบไต่สวนฉุกเฉินป้องคนดี

เมื่อวันที่ 9 เมษายน พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ในฐานะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างคนดี คนเก่ง สู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืน วุฒิสภา เผยกับ “มติชน” ถึงความคืบหน้าแนวทางการสร้างคนดีคนเก่ง ว่า ที่ผ่านมา กมธ.ได้วางกรอบ รวมทั้งสัมมนาจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์ และแผนฏิบัติการในการสร้างคนดี คนเก่งสู่สังคมเพื่อพัฒนาชาติไทยอย่างยั่งยืนไปแล้ว กระทั่งล่าสุดก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ส.ว. ประธานกมธ.วิสามัญ โดยมติของที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 3 คณะ 1.คณะทำงานด้านการสร้างคนดี 2.คณะทำงานด้านการสร้างคนเก่ง และ 3.คณะทำงานด้านการสร้างคนกล้า ซึ่งมีตนรับผิดชอบในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางการสร้างคนกล้าเพื่อนำเสนอต่อกมธ.วิสามัญต่อไป

พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าวว่า พยายามผลักดันแนวทางการสร้างคนกล้า จนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สร้างผู้กล้า เพราะเห็นว่า ที่ผ่านมาแนวทางการสร้างคนดีคนเก่งมีงานวิจัยมากมาย ไปศึกษาเอาจากงานเหล่านั้นในห้องสมุดก็ได้ แต่ถ้าต้องการศึกษาเพื่อทำให้ได้ผล คิดว่า กมธ.วิสามัญจำเป็นต้องหาแนวทางหรือวิธีที่จะให้คนดีและคนเก่งในระบบราชการมีความกล้าด้วย โดยเฉพาะความกล้าที่จะทำประโยชน์ยืนหยัดทำสิ่งที่ถูกต้อง เพราะหลายคนเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบราชการกลับนิ่งเฉยต่อความไม่ถูกต้อง เพราะกล้าแล้วกลับถูกให้ร้ายป้ายสี จนหลายคนต้องหันไปรับใช้ผู้มีอำนาจ เพื่อให้ได้โอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน อย่างไรก็ตาม ตลอดชีวิตรับราชการตำรวจมา ได้รับทราบถึงปัญหาในส่วนนี้ดี เพราะเป็นผู้หนึ่งที่เจอเรื่องทำนองนี้ ถูกดอง แต่ก็สู้มาด้วยใจ เก่งหรือไม่ ไม่รู้ เอาความดีเข้าแลกตั้งใจทำหน้าที่ ถ้าไม่มีผู้ใหญ่มองเห็นก็คงเกษียณอายุที่ฝ่ายประจำ เป็นนายพลคอนโด โดยไม่ได้เป็นผู้บัญชาการ

“ผมไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่เป็นเหมือนเรา ไม่ใช้แค่สู้ด้วยใจเท่านั้น แต่ต้องมีแนวคิดหรือหลักการในการปกป้องคนเหล่านี้ด้วย หากการทำหน้าที่ของเขาถูกผู้บังคับบัญชาที่เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว เห็น แก่ประโยชน์มากลั่นแกล้งโยกย้าย ก็ควรมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลให้เขา หากพบว่า มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต ถ้าราชการเข้มแข็ง ทำให้คนดีคนเก่งมีที่ยืน มีความก้าวหน้า จะได้เอาความดีความเก่งไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่งั้นข้าราชการที่ดีที่ยึดติดกับตำแหน่งก็ไปไม่รอดกับระบบราชการ”พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว และว่า สำหรับกรอบการพิจารณาเบื้องต้นสำหรับมาตรการในการเสริมสร้างคนดีไว้ 3 มาตรการ 1.มาตรการในการเสริมสร้างคนดี 2.มาตรการในการปกป้องคนดี และ 3.มาตรการในการเยียวยา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่า มาตรการในการเยียวยาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมา กระบวนการนี้ถือว่า ยืดยาวมาก อย่างข้าราชการตรำวจ ตนได้เรียนรู้มาในสมัยที่ถูกย้ายไปประจำ เป็นผู้บังคับการกองร้องทุกข์

“เวลาคำสั่งตร.โยกย้าย หากจะร้องไม่เป็นธรรม ให้ร้องทุกข์ได้ภายใน 30 วันนับตั้งแต่คำสั่งออก โดยอนุร้องทุกข์จะใช้เวลาพิจารณาอีกเป็นปี พออนุร้องทุกข์พิจารณาเสร็จเข้า ก.ตร.ใหม่อีก 2 ปี พอมีคำสั่งแล้ว ถึงจะนำคำสั่งไปฟ้องศาลปกครองได้ ข้าราชการพลเรือนก็เช่นกัน ต้องผ่านกระบวนการของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ไปศาลปกครองเลยไม่ได้ ทำให้กว่าจะถึงศาลปกครองได้ใช้เวลาเป็นปี อย่างกรณีของนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จะถึงศาลปกครอง มีคำสั่งให้เยียวยาก็เกือบจะเกษียณอายุราชการอยู่แล้ว ดังนั้น ส่วนตัวคิดว่าหากพบกรณีที่มีการโยกย้ายโดยไม่เป็นธรรม เมื่อมีเรื่องร้องทุกข์ ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน ต้องเร็ว เมื่อสอบสวนเบื้องต้นแล้ว หากมีเหตุ ก็ให้ระงับคำสั่งนั้นไว้ก่อน เหมือนระบบในศาลปกครองน่าจะเป็นแนวทางที่ดี ที่สามารถเป็นรูปธรรมได้ ไม่อยากให้ศึกษาแล้ว เก็บไว้ในห้องสมุดอีก ส่วนจะต้องพิจารณาในการแก้กฏหมาย หรือสร้างองค์กรอะไรขึ้นมาหรือไม่ คงต้องพิจารณากัน ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ”พล.ต.ท.ศานิตย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image