บิ๊กตู่เข้ม หวั่นคนสับสน ข่าวไหน มาตรการอะไร หลุดก่อนผ่าน ครม.เป็นเฟคนิวส์ทั้งหมด

เฟคนิวส์

บิ๊กตู่แจงมาตรการทาง ศก.ยิบ ช่วยโควิด เข้มข่าวไหน มาตรการอะไร หลุดก่อนผ่าน ครม.เป็นเฟคนิวส์ท้้งหมด 

เฟคนิวส์ – เมื่อวันที่ 10 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เพื่อรายงานความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ที่ได้สั่งการ และรัฐบาลได้มีมติในแต่ละด้าน อาทิ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านป้องกันและช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งการรักษาความมั่นคง ด้านการควบคุมสินค้า ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ และด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤต ตามลำดับ

ย้อนอ่าน : บิ๊กตู่ ออกแถลงการณ์ ตำหนิคนขาดจิตสำนึกฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ทำคนหาเช้ากินค่ำต้องลำบาก

ย้อนอ่าน :  บิ๊กตู่ วอน สงกรานต์ปีนี้ อยู่บ้านเพื่อชาติ ร่วมฟันฝ่าวิกฤต ปลุกทีมไทย เจอศึกไหนก็ชนะ

ช่วงหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รายงานความคืบหน้างานด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยระบุว่า หลักการสำคัญคือวันนี้ต้องรอด วันข้างหน้าต้องกลับมาเข้มแข็ง ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็น “ระยะเร่งด่วน” สำหรับประชาชนทุกกลุ่มไปแล้ว ล่าสุด รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะที่ 3 อีก เพื่อรักษา เยียวยา และเตรียมความพร้อมของประเทศในทุกมิติ เป็นวงเงินหนึ่งล้านเก้าแสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 9-10 ของ GDP ประกอบด้วย

Advertisement

1.การออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยครอบคลุม 3 แผนงานหลัก ได้แก่ (1) แผนงานด้านสาธารณสุข เพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และสนับสนุนการทำงานและงานวิจัย (2) แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง โดยสองแผนงานนี้จะใช้งบประมาณรวมหกแสนล้านบาท และ (3) แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม การสร้างงานใหม่ การกระตุ้นการบริโภค การส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อรองรับการพัฒนาในระยะยาว โดยแผนงานนี้ใช้งบประมาณสี่แสนล้านบาท

2.การออกพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการร่วมกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน โดยการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ และป้องกันมิให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังมีการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน และการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าข่ายที่จะได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการนี้จำนวนหนึ่งล้านเจ็ดแสนราย จะช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้

3.การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจ ที่อาจลุกลามส่งผลร้ายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจได้

4.การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ โดยให้หน่วยงานปรับลดงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน เพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาภัยพิบัติอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีงบประมาณนี้ โดยคณะรัฐมนตรีจะเร่งเสนอร่างกฎหมายโดยเร็ว และคาดว่าจะทูลเกล้าฯถวายได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน 2563

5.คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการการเพิ่มบุคลากรแพทย์ พยาบาล และข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กว่า 45,000 อัตรา ทั้งในส่วนของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวนกว่า 38,000 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สำหรับนักเรียนแพทย์ ปี 2563 จำนวนกว่า 7,000 อัตรา โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย โดยจะได้มีการพิจารณาดูแลด้วยการปรับเกลี่ยในระยะแรกจากอัตราที่ว่างอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการและชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป

และ 6.การเพิ่มจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้า ฟรีจาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์ 6.4 ล้านราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาได้พิจารณากรณีประโยชน์ทดแทนการว่างงานของผู้ประกันตน โดยได้อนุมัติหลักการให้กระทรวงแรงงานร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทน จากการว่างงานใน 2 กรณีคือ กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเกิดเหตุสุดวิสัย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานที่ครอบคลุมการว่างงานจากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในครั้งนี้ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วย เช่น การว่างงานเนื่องจากการให้ปิดเมือง การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือการประกาศ Curfew รวมทั้งการให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าว ที่มิได้เป็นผลจากคำสั่งของทางราชการโดยตรง นอกจากนี้ ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย

กรณีการใช้จ่ายงบประมาณเงินกู้ หรืองบประมาณใดก็ตาม ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาโควิด ในการสาธารณสุข เยียวยา ดูแล ฟื้นฟูประชาชนทุกภาคส่วน จะมีคณะกรรมการพิจารณา ติดตาม กำกับดูแล คัดแยก เพื่อให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น ผอ.ศบค. และนำเข้า ครม.เพื่ออนุมัติก่อนจึงจะดำเนินการได้ เรื่องใดก็ตามที่หลุดออกมาเป็นข่าวตามสื่อโซเชียล หากไม่ผ่านมติ ครม.อนุมัติก็ถือว่าเป็นข่าวปลอม เชื่อถือไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนในหมู่ประชาชน

ส่วนความคืบหน้างานด้านการสื่อสารในสภาวะวิกฤตนั้น ในปัจจุบันยังคงปรากฏมีข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือนอย่างต่อเนื่อง เฉพาะเมื่อวานนี้มีคดีจำนวนทั้งสิ้น 26 คดี จับกุม แจ้งข้อหา จำนวน 10 คดี มีผู้ต้องหา 13 ราย และออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกจำนวน 3 คดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image