อาณานิคมภายใน ทางศิลปวัฒนธรรม

กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐ ทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองและศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นผู้บงการว่าประวัติศาสตร์ไทยให้มีแต่ราชธานี ไม่มีท้องถิ่น

สำหรับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมีได้ในตัวจังหวัด ถ้านอกตัวจังหวัดมีไม่ได้ ฯลฯ

อย่างนี้ อ.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (ม.ธรรมศาสตร์) บอกว่าเป็นลักษณะสถาปนาอาณานิคมภายใน

อ.สุเทพ สุนทรเภสัช อธิบายไว้ในหนังสือรวมบทความชุดมานุษยวิทยากับประวัติศาสตร์ (สำนักพิมพ์เมืองโบราณ รวมพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2540) จับใจความง่ายๆได้ดังนี้

Advertisement

ระบบอาณานิคมภายใน (Internal Colonialism) หมายถึงส่วนกลางมีอำนาจทางการเมืองเหนือกว่า และมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ทุกอย่างจากดินแดนส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่รอบนอก

การเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ (Modernization) โดยไม่ทั่วถึงจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาครอบนอก เป็นเหตุให้ดินแดนบางแห่งเจริญ และบางแห่งไม่เจริญ

ผลที่เกิดตามมาในระยะแรก คือความไม่เสมอภาคทางการกระจายทรัพยากรและอำนาจทางการเมืองระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาครอบนอก

กลุ่มผู้คุมอำนาจที่อยู่ส่วนกลางจะพยายามรักษาเสถียรภาพ และผูกขาดความได้เปรียบของตนไว้ โดยอาศัยแนวนโยบายและข้ออ้างต่างๆสุดแต่ส่วนกลางจะเสกสรรปั้นแต่งขึ้น เช่น ความเป็นไทย, ความเป็นประเทศไทยอันแบ่งแยกมิได้, ฯลฯ

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนยกย่องคนจากส่วนกลางและคนที่ยอมอ่อนข้อ ให้ได้เปรียบคนพื้นเมืองที่ไม่ยอมอ่อนข้อ

กลุ่มที่เสียเปรียบในภูมิภาครอบนอกก็จะหันกลับไปยกระดับวัฒนธรรมของตน ให้มีความสำคัญเทียบเท่า หรือเหนือกว่าวัฒนธรรมส่วนกลางของผู้ได้เปรียบ

ผู้เสียเปรียบและเครือข่ายมีสำนึกว่าตัวเองเป็นอีกประชาชาติหนึ่ง แล้วพยายามดิ้นรนเป็นอิสระจากอำนาจและอิทธิพลของส่วนกลาง

[สรุปสั้นๆ ย่อๆ จากคำอธิบายของ อ. สุเทพ]

รัฐราชการของไทย ยกตนข่มเพื่อนบ้านว่าไทย “ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น” ของเจ้าอาณานิคมตะวันตก แล้วเคยตอบโต้สหรัฐเมื่อขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ สู่สถานที่เดิมบนปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์

แต่บัดนี้รัฐราชการไทยกลับสร้างอาณานิคมภายในทางศิลปวัฒนธรรมด้วยตนเอง โดยยักย้ายโบราณศิลปวัตถุจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่อื่นด้วยวิธีหักคอเจ้าของพื้นที่ซึ่งเป็นชุมชนชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านทวงคืนก็ปฏิเสธด้วยท่าทีวางอำนาจเต็มขั้นเป็นเจ้าอาณานิคมภายใน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image