หวั่นตกงานพุ่ง10 ล้าน เล็งปลดล็อกธุรกิจ เปิด ‘ห้าง-ตัดผม -เสริมสวย-ร้านอาหาร’ เร่งช่วยทั้งลูกจ้าง-ผู้ประกอบการ

รัฐ-ภาคเอกชนถกผ่อนคลายสถานการณ์ไวรัส หลังจากตัวเลขติดเชื้อเริ่มทรง ผวาคนตกงานเพิ่มจาก 7 ล้านเป็น 10 ล้าน เล็งให้ “ร้านตัดผม – ร้านเสริมสวย – ห้างสรรพสินค้า – ร้านอาหาร” กลับมาเปิดดำเนินการ แต่ย้ำต้องเข้มงวดมาตรการป้องกันการแพร่ระบา่ด รักษาระยะห่าง แต่สนามมวย สถานบันเทิง อาจต้องพักกิจการไปก่อน
” บิ๊กตู่” ให้มท.ผ่อนคลายเปิดร้านตัดผม
รายงานข่าวเปิดเผยว่า หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดเริ่มทรงตัว ประะกอบกับเริ่มมีเสียงบ่นถึงเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก เพราะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน กิจการหลายประเภทต้องยุติไป ประชาชนขาดรายได้ ทำให้ภาครัฐเริ่มพิจารณาผ่อนคลาย เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการได้
เมื่อวันที่ 13 เม.ย. มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมตอนหนึ่งว่า ได้ขอให้ทุกฝ่ายมีการประเมินภาพรวมร่วมกันในการทำงานที่ผ่านมาด้วย ว่า Best and worst case จะเป็นอย่างไร จะมีการผ่อนสั้นผ่อนยาว อนุโลม และเข้มงวดในเรื่องใดบ้าง เช่น กรณีช่างตัดผม ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางร่วมกัน ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหลักในการประเมินมาตรการผ่อนคลาย
ที่ปรึกษาศบค.ตั้งกก.5 ชุดเล็งปลดล็อกเปิดธุรกิจ

ในวันเดียวกัน ยังมีการประชุมนัดแรกของคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งที่1 /2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นประธานคณะที่ปรึกษาเผยว่า ที่ประชุมหารือหลายแนวทางหลายเรื่อง จึงให้ตั้งคณะทำงาน 5 ชุด เพื่อไปศึกษารายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 20 เม.ย.นี้ หากมาตรการไหนทำได้ก็จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ
คณะทำงานชุดที่ 1 ให้ไปดูมาตรการที่รัฐบาลออกไปชุดที่ 1-3 ก่อนหน้านี้ ว่าภาคเอกชน ธุรกิจ ที่ดำเนินการอยู่ คิดว่ายังติดขัดอะไร จะเสนออะไรเพิ่มเติม ซึ่งปัญหาใหญ่คือหลายธุรกิจเข้าไม่ถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) มอบหมายให้ นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานดูแนวทางว่าจะปลดล็อกได้อย่างไร
คณะทำงานชุดที่ 2 ให้ไปพิจารณาธุรกิจบางธุรกิจที่สามารถกลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบสภาพคล่องและการจ้างงาน การขยายเพิ่มการขนส่งโลจิสติกส์ โดยมีนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 3 ดูเรื่องระบบเกษตรกร เรื่องเร่งด่วนทำอย่างไรให้ผลผลิตสามารถขายได้
คณะทำงานชุดที่ 4 มาตรการดูแลผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี โดยเฉพาะไมโครเอสเอ็มอี ที่มีทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สามารถอยู่ได้ มีการจ้างงาน โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
คณะทำงานชุดที่ 5 เป็นคณะทำงานฟื้นฟูหลังวิกฤตโควิด เรื่องระบบดิจิทัลโซลูชั่น โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
นายสุพันธุ์ กล่าวว่า การกู้เงินซอฟท์โลนของเอสเอ็มอี ยังมีเงื่อนไขไม่ชัดเจน ผู้ประกอบการต้องการให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อ 80% ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ก็ยังไม่ได้ ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% เท่ากับลูกจ้าง เอกชนสามารถนําค่าใช้จ่ายสําหรับป้องกันโควิด-19 มาหักภาษีได้ 3 เท่า
นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลออกคําสั่งปิดกิจการโรงแรม เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี 2 ปี ขยายเวลาการส่งมอบงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐออกไป 4 เดือน และลดค่าจดจำนองโอนที่ดินเหลือ 0.01%
ส่วนสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือทันที ให้รัฐบาลเข้ามารับผิดชอบค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ 15,000 บาท หรือให้รัฐช่วยจ่าย 7,500 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือผู้ประกอบการจ่ายให้ 25% ให้นำไปหักภาษี 3 เท่า และลูกจ้างต้องยอมลดค่าจ้าง 25% เพื่อให้คงการจ้างงานประมาณ 10 ล้านคน ต่อไปได้ รวมทั้งอนุญาตให้จ้างงานเหลือ 4 ชั่งโมงต่อวัน จาก 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยไม่ผิดกฎหมาย
“ถ้ารัฐบาลทำตามข้อเสนอการช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างแรงงานให้ผู้ประกอบการ 50% ซึ่งไม่ได้เป็นการจ่ายเต็มเงินเดือน เป็นการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ก็จะทำให้ลูกจ้างไม่ถูกเลิกจ้างแน่นอน ซึ่งตอนนี้มีบางกิจการมีปัญหา ไม่ได้ถูกรัฐสั่งปิดกิจการ แต่ยังต้องมีการจ้างงานอยู่ ถึงแม้ว่าจะประกอบธุรกิจไม่ได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

หวั่นตกงานเพิ่ม 10 ล้าน ชงเปิดธุรกิจ เปิดห้าง-ร้านเสริมสวย

นายกลินทร์กล่าวว่า จะเสนอให้บางธุรกิจบางกิจการกลับมาเปิดกิจการได้ การขนสินค้าสำคัญบางประเภทเพิ่มเติม ที่ผ่านมารัฐบาลได้ผ่อนผันไปบ้างแล้ว ก็จะมีการศึกษาว่ามีธุรกิจใดบ้างที่จะเปิดได้เพิ่มเติม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย ต้องดูวิธีการทำอย่างไร รวมทั้งปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และศูนย์โควิดของรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลช่วยเรื่องภาษี กรณีที่นำผลขาดทุนไปเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี เป็น 7 ปี รวมถึงเวลาการบริจาคช่วยเหลือโควิดโดยไม่ต้องมีเพดานกำหนดว่านิติบุคคลห้ามเกิน 2% ของกำไร และบุคคลธรรมดาไม่เกิน 10% ของเงินได้

Advertisement

“ตอนนี้ผู้ประกอบการประเมินว่าในช่วงนี้จะมีแรงงานภาพรวมทั้งหมดตกงาน 7 ล้านคน และหากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อต่อไปอีก 2-3 เดือน โดยที่ไม่มีมาตรการดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติม จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มเป็น 10 ล้านคน” นายกลินท์กล่าว

วันเดียวกัน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยลงมาต่อเนื่อง เกือบเท่าสถานการณ์ก่อนปิดพื้นที่ เพราะฉะนั้นจะมีการผ่อนคลายให้พื้นที่ไหนพิเศษหรือไม่ โดยนพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยดีขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของ สธ.อย่างเคร่งครัด

“ส่วนเรื่องการผ่อนคลายมาตรการเข้มในบางพื้นที่นั้น ตรงนี้เริ่มๆ จะผ่อนคลายไปบ้างแล้ว ดูเป็นบางพื้นที่ยังต้องปิดเด็ดขาดคือ สถานที่ที่เอาคนไปรวมกลุ่มกันมาก เช่น สนามมวย สถานบันเทิง ฯลฯ ส่วนร้านค้า ร้านอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป็นพิจารณาเปิดได้ แต่ต้องจัดการใหม่ เช่น การจัดโต๊ะต้องห่างกัน รวมถึงธนาคารซึ่งมีความสำคัญ ในขณะนี้อาจจะต้องพิจารณาจัดเว้นระยะห่างของตู้เอทีเอ็มเพิ่มเติม จากที่เคยวางติดกัน ก็ต้องเพิ่มความห่าง” นพ.ธนรักษ์กล่าว

เมื่อถามว่า ถ้าให้พิจารณาผ่อนคลายเป็นพื้นที่ๆ แสดงว่าเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดยังต้องห้าม หรือเข้มงวดต่อไปหรือไม่ นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาเป็นพื้นที่อีกเช่นกัน หากผู้เดินทางที่มีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงไปยังพื้นที่ที่ไม่มีการระบาด ต้องมีการกักตัวอย่างเข้มข้น 14 วัน ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดไปยังพื้นที่มีการระบาดก็ต้องทำเรื่องการเว้นระยะห่าง

“ส่วนในกรุงเทพฯ ตามประกาศของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีผลถึงสิ้นเดือนเมษายนนี้ คิดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการขยายเวลาเพิ่มเติม แต่อย่างที่บอกว่า การกลับมาใช้ชีวิตก็ต้องมีระยะห่าง และที่ยังย้ำเสมอคือ การทำงานที่บ้าน การเหลื่อมเวลาทำงาน การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัวต้องทำเข้มข้นเหมือนเดิม” นพ.ธนรักษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image