พิธา โพสต์อินโฟกราฟฟิก ร่ายยาวแนะรบ. เร่งตั้งรับวิกฤตโควิด ช่วง 100 วันนับจากนี้

พิธา โพสต์อินโฟกราฟฟิก พร้อมร่ายยาวแนะรบ. ตั้งรับวิกฤตโควิดทุกมิติ ช่วง 100วันนับจากนี้

วันนี้ (17 เม.ย.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อเขียนขนาดยาว เรื่อง “เตรียมพร้อม 100 วันข้างหน้า ประเทศไทยต้องเจออะไรบ้าง?” เผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊ก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

“ผ่านไปกว่า 100 วัน ที่โลกต้องเผชิญกับโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ประชากรกว่า 2,500 ล้านคน หรือ 33% ของโลกถูกจำกัดการเดินทาง กระทบต่อชีวิต ขาดรายได้ เข้าสู่ความยากจน คำถามก็คือ เราจะวางแผนทำอย่างไรเพื่อทำให้ 100 วันข้างหน้าดีกว่า 100 วันที่ผ่านมาได้ และนี้คือความท้าทายที่ประชาขนคนไทยต้องเจอในอีก 100 วันข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังอ่านจบแล้ว ผมอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาคอมเม้นท์ใต้โพสต์นี้ ว่าพวกท่านคิดว่า ในระยะเวลา 100 วัน ที่จะถึงนี้ ชีวิตพวกท่านจะเป็นอย่างไรบ้าง กังวลเรื่องอะไรกันบ้าง แลกเปลี่ยนกันได้เต็มที่ครับ

***ภายใน “5” วันข้างหน้า จะครบรอบหนึ่งเดือนที่รัฐสั่งปิด 26 ธุรกิจ (และต่อมาขยายเป็น 34 ประเภทธุรกิจ)***

Advertisement

เช่น บาร์ ร้านนวด ฟิตเนส ร้านตัดผม โรงภาพยนต์ ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ มีทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างนับล้านๆ คนได้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคม และคนประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งแม้ทางรัฐจะมีมาตรการเยียวยาชดเชยรายได้ 5,000 บาท/คน/เดือน แต่กระบวนการพิสูจน์ความเดือดร้อนกลับกินเวลายาวนาน จนทำให้ปัจจุบันโอนเงินไปได้เพียง 3.2 ล้านคน และยังอีกเกือบ 5 ล้านที่ถูกปฏิเสธและรอการอุทธรณ์ เห็นได้ชัดว่า เวลา เป็นสิ่งที่ประชาชน ทั้งลูกจ้างและนายจ้างไม่มีในวิกฤตครั้งนี้ การเรียงลำดับคัดกรอง ไม่ว่าจะ AI หรือไม่ก็ตาม การแยกอาชีพว่าใครได้ก่อน ได้หลัง อาจจะใช้ได้ดีกับภาวะปกติหรือ วิกฤตไม่มาก แต่สำหรับวิกฤตครั้งนี้ใหญ่หลวงหนัก ปากท้องประชาชนรอไม่ได้ กว่าจะพิสูจน์สิทธิเสร็จ กว่าเงินจะถึงก็หมดลมหายใจตายจากกันพอดี

พรรคก้าวไกล จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินมาตรการการเยียวยาประชาชน และเร่งรัดการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด ทั้งสิ้น 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาลเปลี่ยนกรอบความคิด จากเดิม ที่รัฐบาลมีฐานคิดที่ว่าตนเป็นเจ้าของงบประมาณ ที่กำลังเจียดเงิน เพื่อบริจาคสงเคราะห์ให้กับประชาชน ให้เปลี่ยนมาเป็น รัฐบาลเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ให้มาทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณที่เป็นของประชาชน ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

2.ขอให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพที่เดิมรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยถ้วนหน้า และรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่หาเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว หากช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้

3.ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านคน ที่ ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหารายได้ลดลง อันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน และจ่ายค่าแรงเพียงบางส่วน หรือถูกลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา และเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงงานนอกระบบในภาคเกษตร ที่มีอยู่ราวๆ 11.5 ล้านคน

4.รัฐบาลควรเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตก กลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ และจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่น ศูนย์พักพิง ศูนย์กักกันโรค อาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญญาเอาไว้

สำหรับผู้ประกอบการ ในระหว่างนี้ธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถประกอบกิจการหารายได้ แต่รายจ่ายและหนี้สินไม่ได้หยุดตามไปด้วย เพราะยังมีค่าใช้จ่ายที่ยังเดินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าตึก ดอกเบี้ย และต้นทุนอื่นๆ แม้จะไม่มียอดขายสำหรับธุรกิจที่ต้องมีการสต็อคสินค้า เช่น ร้านอาหาร จริงอยู่ว่าธุรกิจ เช่น ร้านอาหารจะยังเปิดขายให้สั่งซื้อได้ แต่ถ้าหากมีการเก็บตัวเลขแล้วก็คงไม่แปลกที่จะพบว่ายอดขายตกลงไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ไม่เพียงพอที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้

ที่ร้ายไปกว่านั้น อาจมีธุรกิจจำนวนมาก “สายป่านหมด” เพราะจากการสำรวจในประเทศไทย พบว่าธุรกิจ SMEs ที่สภา SMEs รวบรวมข้อมูลได้นั้นเฉลี่ยแล้วมีเงินสำรองหมุนเพียงพอแค่ 27 วันเท่านั้น

***ภายใน “13” วันข้างหน้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft: OD) ต้องหมุนคืนธนาคาร หรือมีภาระหนี้ระยะสั้นอื่นๆ***

เช่น เจ้าหนี้การค้า โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ต้องมีการสต็อคสินค้าไว้ก่อนหน้า และเมื่อธุรกิจเหล่านี้ไม่มียอดขายก็จะไม่ได้เงินหมุนจากลูกหนี้การค้ามาชำระต่อให้เจ้าหนี้การค้า นอกจากนี้ธุรกิจต่างๆ ก็ยังต้องชำระหนี้สินระยะยาวกับธนาคารอยู่ เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ สำหรับ SMEs นั้นเป็นการพักหนี้เพียงเงินต้น แต่ยังต้องชำระดอกเบี้ยอยู่ หรือพักทั้งต้นทั้งดอก แต่ยังคิดดอกเบี้ยทุกวันที่ไม่ได้จ่าย เท่ากับว่าสถาบันการเงินเองไม่ได้เสียอะไรเลย มีแต่ได้กับได้ เพราะไม่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

ข้อเสนอที่ (1) ลดหรือยกเว้นค่าปรับล่าช้า ผิดนัดชำระ และดอกเบี้ยปรับล่าช้า
ข้อเสนอที่ (2) ลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินลง 50% เป็นระยะเวลา 6 เดือน
ข้อเสนอที่ (3) เพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ปล่อยกู้ที่ไม่ใช่ธนาคารด้วย (Non-Bank) เช่น บริษัทลีสซิ่ง ไฟแนนซ์รถ สินเชื่อส่วนบุคคล
ข้อเสนอที (4) เพิ่มอัตราการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. ซึ่งเริ่มมีมาตรการจากแบงค์ชาติแล้ว แต่ต้องขยายให้ครอบคลุม
ข้อเสนอที่ (5) ผ่อนคลายเกณฑ์การสำรองเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (NPL) และเลื่อนการบังคับใช้เกณฑ์ Basel III ออกไป 1 ปี เพื่อผ่อนคลายให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายเกณฑ์เงินทุน ทำให้ธนาคารพาณิชย์กล้าช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น

***ภายในช่วง “30-40” วันที่ประเทศไทยจะเข้าฤดูฝน ให้ระวังความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลัน (Demand Surge) ของโรงพยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์***

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน มีโรคตามฤดูกาลร่วมผสมโรงด้วย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ เดือนละประมาณ 2 หมื่นคน ไข้เลือดออก 2 หมื่นคน และปอดบวมประมาณ 1.5 หมื่นคน[2] ความต้องการของโรงพยาบาลที่จะเพิ่มมากขึ้นจาก 2 ด้านคือ 1) จากโรค COVID-19 หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น และ 2) โรคตามฤดูกาล ทำให้เราต้องมาคิดและคำนวณกันไปข้างหน้า ว่าอุปกรณ์การแพทย์และทรัพยากรทางสาธารณสุขของไทย ไม่ว่าจะเป็น เตียง หน้ากาก ถุงมือ ชุด PPE เครื่องช่วยหายใจ ฯลฯ จะมีความเพียงพอหรือไม่? ตอนนี้ในประเทศไทยมี 140,000 เตียง มีเตียง ICU 7,700 เตียง มีแพทย์ 34,000 คน มีพยาบาล 170,000 คน เพียงพอหรือไม่ อย่างไร? และนี้คือสาเหตุที่เราจะต้องทำ

สำรวจสต็อกเครื่องมือแพทย์ (National Strategic Stockpile) ของระบบสาธารณสุขไทยว่าเรามี ทรัพยากรสำคัญๆ ขาดเหลือเพียงใด ไม่ว่าจะเป็น ก) สต็อกเครื่องมือแพทย์สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก (Critical stockpile) จำนวนเครื่องปั้มหัวใจ เครื่อง CT Scan เครื่องล้างไต เป็นต้น และ ข) สต็อกเครื่องมือแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable stockpile) เช่น หน้ากาก ชุด PPE น้ำยา PCR เป็นต้น จากข้อมูลตามรายงานทรัพยากรสาธารณสุข 2561 ประเทศไทยมีเครื่อง CT Scan 578 เครื่อง เครื่องตรวจ MRI 159 เครื่อง เครื่องล้างไต 7,157 เครื่อง เครื่องสลายนิ่ว 234 เครื่อง เครื่องอัลตราซาวด์ 5,063 เครื่อง เครื่อง Gamma Nife 32 เครื่อง (ข้อมูลจากรายงานกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2561) นับจากนี้ไปเพื่อให้การรายงาน National Strategic Stockpile ของกระทรวงสาธารณสุขตอบโจทย์การรับมือโรคระบาด COVID-19 ที่จะอยู่กับโลกของเราไป 12-18 เดือน กระทรวงสาธารณสุขควรจะมีการรายงานความพร้อมของเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการรองรับผู้ป่วย COVID-19 ให้ประชาชนได้รับรู้

ถ้าเรามีการสำรวจสต็อกเครื่องมือและอุปกรณ์เหล่านี้แล้ว เราจะได้รู้ว่า เราต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง ต้องสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มที่ใดบ้าง สั่งเครื่องมือแพทย์เพิ่มจำนวนเท่าใด ใช้งบประมาณเท่าไร ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งมีเวลาเตรียมการได้มาก ก็จะช่วยชีวิตคนได้มาก

***ภายใน “40” วัน ในวันที่ 27 พฤษภาคม รัฐสภาจะเปิดสมัยการประชุมและวาระแรกเลยคือ พ.ร.ก. 3 ฉบับ, พ.ร.บ.โอนงบฯ, และพิจารณางบประมาณประจำปี 2564 ทั้งหมดล้วนเป็นกฎหมายงบประมาณการเงินการคลังที่สำคัญ มูลค่ารวมกว่า 5.3 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่จะช่วยประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิดนี้ไปได้(หากบริหารจัดการเป็นและวางแผนงบประมาณอย่างมียุทธศาสตร์)***

โดยศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบายพรรคก้าวไกล เสนอให้ “เกลี่ยก่อนกู้” หมายความว่ารัฐบาลควรจะลงรายละเอียดการเกลี่ยงบประมาณแผ่นดินใน พ.ร.บ.โอนงบฯ ที่คาดว่าจะสามารถย้ายงบจากหน่วยงานต่างๆ มาใช้รับมือกับวิกฤตโควิดได้ถึง 1 แสนล้านบาท จะทำให้มีเม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ แต่ต้องมีรายละเอียดและเป้าที่แน่นอนชัดเจน ซึ่งเราเห็นว่าควรเป็นไปเพื่อการป้องกันการระบาดในเชิงสาธารณสุข และการพยุงเศรษฐกิจ พยุงการจ้างงาน ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทนั้นอย่าเอามาปนกัน เพราะรัฐบาลยังไม่มีแผนชัดเจน และไม่ควรทำในขณะนี้ เนื่องจากอาจจะกลายเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้ เห็นว่าสามารถออกเป็น พ.ร.บ. หลังจากนี้ได้

หลังจากนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการจัดทำงบประมาณแผ่นดินปี 2564 ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท ให้ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ แทนที่จะเป็นการมุ่งพัฒนาเศรษบกิจเพียงอย่างเดียวที่ถูกวางไว้ก่อนเกิดวิกฤต ต้องเปลี่ยนเป็น 1) ควบคุมการระบาดไม่ให้เกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข 2) การยกระดับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ยาและเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข ฯลฯ ตลอดจนระบบในการติดตามการรักษาพยายาลของผู้ป่วยอาการไม่หนักที่กักตัวรักษาตัวเองที่บ้าน 3) การพยุงเศรษฐกิจ การดูแลประชาชนตัวเล็กตัวน้อย และผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้พวกเราคนไทยทุกคนพ้นภัยเศรษฐกิจและพ้นภัยโควิดไปในเวลาเดียวกัน

โดยมี 7 ข้อเสนอคือ 1. งบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) แทนที่จะตัดลดงบประมาณรายโครงการทีละนิดทีละหน่อย เปลี่ยนเป็นว่า โครงการไหนไม่จำเป็นเร่งด่วน ให้ตัดออกไปทั้งหมดเลย และนำงบไปโปะโครงการที่จำเป็นจริงๆ 2. จัดลำดับความสำคัญใหม่ เปลี่ยนจากการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง เป็นการรับมือโควิด มุ่งพยุงเศรษฐกิจและช่วยเหลือคนทำงาน 3. รีดให้เรียบ อะไรที่ไม่สำคัญก็ตัดออกให้หมด เช่นงบศึกษาดูงาน งบไปต่างประเทศ งบรับรอง งบสัมมนา ฯลฯ 4.เพิ่มงบกลาง พร้อมรับสถานการณ์ไม่แน่นอน 5. เร่งปฏิรูประบบราชการในยามวิกฤต 6. ทบทวนสัญญาของงบผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรือเมกะโปรเจกต์คมนาคมที่มีความซ้ำซ้อน และ 7. ต้องรอบคอบในการก่อหนี้ผูกพันใหม่

“จัดสรรงบให้เป็น แล้วจะเห็นประเทศไทยรอดพ้นวิกฤต”

สุดท้าย ความเดือดร้อนประชาชนรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว!!! พรรคก้าวไกลเสนอให้เปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเร่งพิจารณา พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมทั้ง พ.ร.ก. กู้เงิน เพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤตโควิด-19

***ภายใน “75” วัน เปิดเทอมวันที่ 1 กรกฎาคม ***

หวังว่าจะเป็นเวลาที่เพียงพอ ที่จะช่วยให้รัฐบาลเตรียมมาตรการ หากต้องให้เด็กนักเรียนเรียนทางไกล ตลอดจนมาตรการให้พ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกอยู่ที่บ้าน หรือปัญหาว่าจะช่วยเหลือเด็กที่ต้องพึ่งพาอาหารกลางวันจากโรงเรียนอย่างไร(ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ การได้ทานอาหารกลางวันที่มีโภชนาการดีเพียงพอและไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือเป็นมื้ออาหารมื้อที่มีค่ามากที่สุดในหนึ่งวันของเด็กนักเรียน)

มีอีกหลายครอบครัวเช่นกันที่พ่อแม่อาจมีภาระมากมายที่แบกไว้ ทำให้ไม่สามารถแบ่งเวลามาสอนหรือทำให้เด็กๆ มีสมาธิกับการเรียนได้เต็มที่เหมือนครูที่โรงเรียน หรือพ่อแม่เองก็อาจไม่เข้าใจในบางเรื่องที่เด็กจะต้องการความรู้ที่จริงจังขึ้นตามวัย และความสนใจของเขา อีกทั้งการเรียนที่บ้าน ยังต้องมีเวลาพอในการวางแผนการสอนซึ่งเป็นงานที่หนักมากเช่นกัน จึงไม่ง่ายเหมือนกันครับที่ทุกครอบครัวจะใช้แนวทางนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

รวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำ การเรียนที่บ้านจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เครื่องมือและอุปกรณ์ หลายชุมชนหมู่บ้านยังมีปัญหาน้ำประปาไหลบ้างไม่ไหลบ้างหรือไฟฟ้าติดๆ ดับๆ คงยากที่จะไปต่อถึงการมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่แรงพอหรือมีอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนในทุกๆ บ้าน ข้อเสนอเบื้องต้น มีดังนี้

ในเมืองใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากอาจใช้การสลับวันกันเรียนควบคู่กับการเรียนออนไลน์ได้หรือไม่ ในโรงเรียนและห้องเรียนควรมีการจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่น การจัดระยะห่างที่นั่งในห้องเรียนให้มากขึ้น การเพิ่มจุดทำความสะอาดไม่ว่าอ่างล้างมือ เจลล้างมือ ในทำได้ง่ายขึ้น การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดที่มีการจับต้องบ่อยๆ สำหรับในต่างจังหวัดระดับชุมชน อาจกระจายจุดออนไลน์การเรียนการสอนไปตามกลุ่มบ้านควบคู่กับการมาโรงเรียน การส่งงาน หรือมีกิจกรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามสมควร

สำหรับเงินเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ให้ 5,000 บาทต่อคน จะขอเสนอว่าภาครัฐควรให้เงินช่วยเหลือผู้มีบุตร โดยให้ 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อบรรเทาภาระของผู้ปกครองที่ต้องทำงานพร้อมกับดูแลบุตรอยู่ที่บ้าน บรรเทาปัญหาที่บุตรต้องพึ่งพาอาหารกลางวันจากโรงเรียน หรืออุดหนุนให้ผู้ปกครองสามารถให้การศึกษากับบุตรได้ในช่วงที่โรงเรียนไม่เปิดทำการ

นี่คือปฏิทินที่พวกเราพรรคก้าวไกลได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยจะเจออะไรบ้างใน 100 วันข้างหน้าเพื่อใหเสนอแนะให้รัฐบาลได้วางแผนเตรียมการและรับมือได้ทันท่วงที หากอะไรที่มีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีแล้วก็จะทำให้ประชาชนสบายใจได้ ส่วนหากอะไรยังไม่ได้ทำ ก็ควรต้องเร่งทำให้เรียบร้อยก่อนมาถึงวันจริง

สำหรับประชาชน ความเดือดร้อนของท่านๆ น่าจะมีมากกว่าที่เรากางปฏิทินแน่ๆ ดังนั้น หากใครมีความเดือดร้อน มีเรื่องอะไรหนักใจ ลองเสนอกันเข้ามาดู เผื่อเราจะสามารถร่วมกันหาทางออกได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image