ส.ส.อ่างทอง แนะรัฐ จบโควิด ถึงเวลาจริงจัง ทำบิ๊กดาต้า รวมข้อมูล ไว้ช่วยคนช่วงวิกฤต

ส.ส.อ่างทอง แนะรัฐ จบโควิด ถึงเวลาจริงจัง ทำบิ๊กดาต้า รวมศูนย์ข้อมูล ไว้ช่วยคนช่วงวิกฤต

วันนี้ (17 เม.ย.) นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้แสดงความเห็นถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า

“อดสงสัยไม่ได้ครับ เรื่องโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล ที่จะเยียวยาคนละ 5,000 บาท

#ระบบการจัดเก็บข้อมูลของรัฐมีปัญหา

Advertisement

ปัญหาแรกคือการ #ไม่มีข้อมูล รัฐมีข้อมูลเฉพาะคนที่เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบ (พนักงาน,ราชการ,ลูกจ้าง ฯลฯ) แต่คนที่อยู่นอกระบบ เช่น ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ พ่อค้าแม่ขาย หรือแม้กระทั่งเกษตรกร รัฐน่าจะมีข้อมูลน้อยหรือแทบไม่รู้จักคนในประเทศเลย

ปัญหาที่สองของข้อมูลคือ #ข้อมูลที่มียังไม่มีความแม่นยำมากพอ สิ่งนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากการขึ้นทะเบียน หลายคนถูกจัดให้เป็น “นักศึกษา” หลายคนถูกยัดเยียดให้เป็น “เกษตกร” หลายคนต้องอกหักหลังจากที่ระบบ AI ตรวจสอบออกมาแล้วทำให้เขาต้องหมดสิทธิเพราะคุณสมบัติไม่ตรง

#การสื่อสารของรัฐก็มีปัญหา

Advertisement

ความชัดเจนในการแจ้งว่าใครคือกลุ่มคนเป้าหมายในโครงการนี้บ้างตั้งแต่แรก ควรชี้แจงให้ชัดเจนมากกว่านี้ ควรจะอธิบายให้ชัดเจนว่าใครคือคนที่มีสิทธิบ้าง การที่มีคนลงทะเบียนมากถึง 24.5 ล้านคนแต่รัฐตั้งเป้าหมายจะช่วยได้ 9 ล้านคนนั้น ทำให้มีคนที่ “อกหัก” เป็นจำนวนมาก

ผมตั้งสมมุติฐานแบบนี้ว่า รัฐคงมีข้อมูลบางส่วนจากระบบประกันสังคม ระบบภาษี ฯลฯ จึงเป็นที่มาของตัวเลขว่าจะช่วย 3 ล้านคน และต่อมาขยายเป็น 9 ล้านคน ตัวเลขนี้คงไม่ใช่ตัวเลขที่นั่งเทียนแต่ควรจะต้องเป็นการวิเคราะห์พิจารณาแล้วว่าจะให้ใครบ้าง เช่น

นำประชากรทั้งประเทศ มาตัด คนที่อยายุไม่เกิน 18 ปีออกไป

ตัดข้าราชการทั้งหมดออกไป

ตัดพนักงานประจำที่อยู่ในระบบออกไป

ตัดเกษตรกรออกไป … อาจจะตัดคนที่มีเงินในบัญชีธนาคารเกินเท่าไรออกไป

ฯลฯ ค่อยๆตัดคนที่รัฐคิดว่าจะไม่อยู่ในโครงการนี้ออกไป ก็สมควรจะได้ตัวเลขคร่าวๆว่า กลุ่มไหนบ้าง ใครบ้าง ที่รัฐต้องการเยียวยาด้วยโครงการนี้

#จะเป็นไปได้ไหมครับถ้าเราทำในทางตรงกันข้ามกับที่ทำอยู่ตอนนี้

ตอนนี้เราให้ลงทะเบียนแล้วรัฐไปตรวจสอบว่าใครอยู่ในเกณท์ที่จะได้บ้าง การตรวจสอบและแยกได้ว่าคนนี้ได้ คนนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่ารัฐต้องรู้อยู่แล้วว่า #ใครบ้างที่เข้าเกณท์ แล้วประกาศให้ตรวจสอบผู้ที่ได้รับสิทธิเยียวยาในโครงการนี้ ด้วยการคีย์เลข 13 หลัก

เมื่อตรวจสอบว่าเข้าเกณท์ก็ค่อยไปขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิสำหรับโครงการนี้ วิธีนี้จะช่วยให้แทนที่จะรับมือกับ 24.5 ล้านคนรัฐก็จะมาบริหารจัดการกับผู้ได้รับสิทธิไม่เกิน 10 ล้านคน

ส่วนใครที่ไม่ได้รับสิทธิโครงการนี้ เช่นเกษตรกร พ่อค้าแม่ขาย อาชีพอิสระ ก็บอกมาว่าจะช่วยเหลือเยียวยาเขาแบบไหน อย่างไร แล้วค่อยๆ คัดกรองช่วยเหลือไปทีละกลุ่มๆ

หลังจากโควิดแล้ว ผมอยากเห็นรัฐบาลเอาจริงเอาจังกับเรื่องการเก็บข้อมูลของประชาชนแบบที่พูดกันบ่อยๆ ว่า Big Data กันเสียที ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่จะใช้ในการบริหารครับ ถ้ามีข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ มีคุณภาพ มันจะนำมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างตรงจุดมากขึ้น ลดปัญหาความหงุดหงิดใจของประชาชนให้น้อยลง

#ถ้าจะช่วยแล้วก็อยากให้ชาวบ้านที่เดือนร้อนได้เงินจริงๆ

และถ้ารัฐจะใช้ยาแรงด้วยการแจกเงินแบบนี้รัฐก็ควรจะได้ดอกไม้ครับ…

#ไม่ใช่ก้อนหินและรองเท้า อย่างตอนนี้

เชิญแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image