สถานีคิดเลขที่ 12 : กองทัพต้องเดินด้วยท้อง : โดย ปราปต์ บุนปาน

ด้านหนึ่ง การเผชิญหน้า-แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ปลุกให้เรามองเห็นลักษณะ “ทหารนิยม-กองทัพนิยม” ที่แฝงฝังอยู่ในสังคมต่างๆ

ผ่านถ้อยคำที่รัฐบาล สื่อมวลชน ตลอดจนสาธารณชนเลือกใช้

ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับการทำสงคราม การประกาศว่าจะเอาชนะไวรัสโคโรนา หรือการเปลี่ยนหมอให้กลายเป็นนักรบ

ลักษณะ “ทหารนิยม” ข้างต้นเกิดขึ้นทั้งในต่างประเทศและเมืองไทย

Advertisement

เพียงแต่ในกรณีของบ้านเรา อาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ช่วยขับเน้นให้บทบาทของทหารปรากฏชัดขึ้นไปอีก

เช่น การมีผู้นำประเทศเป็นอดีตผู้นำกองทัพ และการที่เหล่าทัพต้องพยายามแปรคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องงบประมาณจัดซื้ออาวุธ ให้กลายเป็นภาพลักษณ์การมีส่วนร่วมกับการสู้ภัยโควิดอย่างแข็งขัน

ทว่าเอาเข้าจริง ลักษณะ “ทหารนิยม” นี้ ก็คงฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานกว่านั้น

Advertisement

ขนาดโฆษก ศบค. อย่าง “คุณหมอทวีศิลป์” ท่านยังใช้นามสกุลว่า “วิษณุโยธิน” เลย

อย่างไรก็ดี แม้ “กองทัพ” จะเป็นอุปมาที่ทรงพลังขนาดไหน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แต่ท้ายสุดแล้ว “กองทัพ” ก็ยังต้องเดินด้วย “ท้อง”

ณ ปัจจุบัน ภารกิจแรกสุดในวิกฤตการณ์ไวรัส คือ การป้องกันการแพร่ระบาดและการรักษาผู้ติดเชื้อ ดูจะมีความลงตัวมากขึ้นตามลำดับ

ขณะที่ภารกิจในเฟสที่สอง คือ การเยียวยาปากท้องของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเพราะมาตรการปิดเมือง-ปิดประเทศนั้น ยังคงถูกตั้งคำถาม

ภาพชัดเจนสุดที่ช่วยฉายให้เห็นปัญหาข้อนี้ ก็คือ ความไม่พอใจ-ความผิดหวังของประชาชนจำนวนมากต่อมาตรการเยียวยา 5,000 บาท และการเรียกร้องจากหลายๆ ภาคส่วนให้มีมาตรการเยียวยาถ้วนหน้า

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยของโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมคนเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งทำงานร่วมกับหลายๆ ชุมชนในพื้นที่ กทม. มาอย่างต่อเนื่อง เพิ่งแสดงความเห็นว่าภาพความชุลมุนวุ่นวายที่กระทรวงการคลังเมื่อต้นสัปดาห์ก่อน ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

เพราะคนยากจนในเขตเมืองนั้นกำลังลำบากเดือดร้อนกันจริงๆ จากปัญหาปากท้องกลางวิกฤตโรคระบาด และพวกเขาก็พร้อมจะลุกขึ้นมาทวงสิทธิที่ควรได้รับการช่วยเหลือของพวกตน

ผศ.ดร.บุญเลิศ เปรียบวิกฤตครั้งนี้กับสถานการณ์ที่มีคนกำลังจะจมน้ำเต็มไปหมด แต่รัฐบาลกลับเลือกวิธีช่วยเหลือแบบ “สงเคราะห์” คือเลือกช่วยคนที่ภาครัฐคิดว่าได้รับผลกระทบทางตรงหนักที่สุด เหมือนเอากระชอนไปไล่ช้อนคนที่ตกน้ำทีละคน

แต่วิธีการนี้ไม่เท่าทันกับความเดือดร้อนในวงกว้างของผู้คนจำนวนมาก แถมกระชอนที่ใช้ก็ยังเป็น “กระชอนผุๆ” หรือเป็นเครื่องมือคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย

อีกภาพที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ สถานการณ์ที่ผู้คนตามชุมชนต่างๆ พากันไปต่อคิวรับบริจาคอาหาร-เครื่องยังชีพ (รวมถึงเงินช่วยเหลือ) โดยไม่ค่อย “เว้นระยะห่างทางสังคม” อย่างถูกต้องนัก จนอาจได้รับการประเมินว่าพวกเขาคือกลุ่มคนไร้วินัย ซึ่งจะทำให้มาตรการควบคุมโรคหย่อนยานลง

ทว่าอีกด้านหนึ่ง ภาพขัดตาดังกล่าวก็ช่วยฉายให้เห็นปรากฏการณ์ความอดอยาก-ไม่มีจะกินของผู้คนอีกกลุ่มในสังคม ที่คนซึ่งสามารถนั่งทำงาน-กดสั่งซื้ออาหารจากบ้านพักได้อย่างสบายๆ ไม่มีวันเข้าใจ

สุดท้าย การออกมาขอ “ความร่วมมือ” ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 จาก 20 มหาเศรษฐี ของนายกรัฐมนตรี ก็ยิ่งตอกย้ำให้ทุกคนตระหนักว่า “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” จริงๆ

ไม่ว่ารัฐบาลจะคาดหวังอะไรจากมหาเศรษฐีเหล่านั้น, มหาเศรษฐีเหล่านั้นจะเรียกร้องอะไรจากรัฐบาล และความต้องการของทั้งสองฝ่ายจะสอดคล้องกับความเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนตรงฐานพีระมิดแค่ไหน ก็ตาม

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image