ชูศักดิ์ ห่วงระบบตรวจสอบเงินกู้ 1 ล้านล้าน ให้อำนาจนายกฯคนเดียวตั้ง 5 ผู้ทรงคุณวุฒิ

“ชูศักดิ์” ห่วงการตรวจสอบปมออก พ.ร.ก.กู้เงิน ชี้ให้ดูบทเรียน ปรส. แนะใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รายงานรัฐสภาทุกไตรมาส

เมื่อวันที่ 20 เมษายน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ.2563 ว่า สาระสำคัญของพ.ร.ก.ฉบับนี้ คือ ให้กระทรวงการคลังโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้เงินจำนวนไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาทภายในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้โดยการกู้เงินดังกล่าวให้ถือเป็นการกู้เงินตามมาตรา 53 แห่งพ.ร.บ.วินัยการการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 กล่าวคือ ไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบและเงื่อนไขตามพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะและเงินที่ได้รับจากการกู้นี้ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่พ.ร.ก.นี้ได้กำหนดไว้ โดยไม่ต้องนำส่งคลัง ส่วนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกู้นั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมีเลขาสภาพัฒน์เป็นประธานกรรมการ โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการบริหารและจัดการกู้เงิน การเบิกจ่ายเงินกู้ การชำระหนี้ สำหรับการรายงานนั้นพ.ร.ก.ก็ได้กำหนดไว้เพียงว่า ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีงบประมาณให้กระทรวงการคลังรายงานการกู้เงินตามพระราชกำหนดนี้ที่ได้กระทำ ในปีงบประมาณที่ล่วงมาแล้วให้รัฐสภาทราบ สรุปก็คือ รายงานให้ทราบปีละหนึ่งครั้ง และเป็นการรายงานการกู้เงินเท่านั้น ไม่ใช่รายงานการใช้จ่ายเงิน

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาในหลักการถึงเหตุผลและความจำเป็นในการออกพ.ร.ก.ก็เป็นที่เข้าใจและยอมรับได้ แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันไปบ้างในแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะแก้วิกฤติจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในด้านต่างๆ ตนมีข้อห่วงใยว่า เมื่อวงเงินกู้ตามที่ให้อำนาจไว้มีจำนวนสูงถึงหนึ่งล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารกู้เงินไว้สูงมาก แต่เมื่อพิจารณาระบบการตรวจสอบและการรายงานการใช้จ่ายเงินที่ได้กำหนดไว้ ที่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นหัวหน้าส่วนราชการ 6 คนและผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของภาครัฐกับผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ส่วนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ทรงคุณวุฒิก็ไม่ได้กำหนด วาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แทนที่จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กลับให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงลำพังในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 5 คน ทั้งที่ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้ต้องมาพิจารณาเรื่องที่มีความสำคัญมาก

นอกจากนี้พ.ร.ก.ก็มิได้กำหนดให้มีการรายงานการใช้จ่ายเงินต่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบ คงให้รายงานเฉพาะการกู้เงินปีละครั้งเท่านั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารกู้เงินและใช้จ่ายเงินจำนวนหนึ่งล้านล้านบาทโดยไม่ต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงินต่อฝ่ายนิติบัญญัติเลย ซึ่งตนเห็นว่าเพื่อให้การใช้จ่ายเงินกู้ซึ่งเป็นภาระหนี้ของประชาชนทั้งประเทศได้รับการตรวจสอบว่ามีการใช้จ่ายเงินไปตามวัตถุประสงค์ด้วยความสุจริต โปร่งใสหรือไม่ ควรที่จะได้กำหนดให้มีการรายงานการใช้จ่ายเงินกู้ให้รัฐสภาทราบทุก ไตรมาสก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้มากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนในอดีต เช่น พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 ที่จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่ให้อำนาจ ปรส. ในการกู้เงิน ออกตั๋วเงิน ตราสารหนี้ได้ กรณี พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2541 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้รัฐสภาเข้าไปตรวจสอบทำให้เกิดปัญหาและความเสียหายมหาศาล ตนจึงไม่อยากให้พ.ร.ก.นี้เป็นพ.ร.ก. ปรส.ภาคสอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image