ครม.เห็นชอบแนวทางการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.วิธีการงบฯ

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ครม.เห็นชอบแนวทางการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

เมื่อวันที่ 21 เมษายน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางดำเนินการและวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ สืบเนื่องจากได้มีการอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไปเป็นจำนวนมากในการเฝ้าระวังควบคุมติดตามการระบาด ป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งเพื่อการเยียวยาความเดือดร้อนต่างๆ แก่ประชาชน ทำให้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ตั้งไว้จำนวน 96,000 ล้านบาท จะไม่เพียงพอ ซึ่งนอกจากสำนักงบประมาณจะได้จัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. …. เพื่อโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บางรายการ ไปตั้งเป็นงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยพิบัติภัยแล้ง อุทกภัย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังพิจารณาร่วมกันถึงแนวทางการอนุมัติใช้เงินทุนสำรองจ่าย ตามมาตรา 45 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อนำเสนอครม.อนุมัติต่อไปนั้น สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง

โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและกรมบัญชีกลางได้พิจารณาร่วมกันแล้ว จึงขอกราบเรียนว่าเงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 50,000 ล้านบาท ตามมาตรา 45 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นแหล่งเงินสำรองสำหรับนำไปใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเมื่องบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไม่เพียงพอ ซึ่งจะนำไปจ่ายได้ในกรณีที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ราชการแผ่นดิน และเมื่อได้จ่ายเงินไปแล้วจะต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายเพื่อสมทบเงินทุนนั้นไว้จ่ายต่อไปในโอกาสแรก ดังนั้น จึงเห็นสมควรกำหนดแนวทางดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 45 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และสำนักงบประมาณขอเสนอวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย

ดังนี้ 1. แนวทางดำเนินการ 1.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จ่ายเงินจากคลังเป็น “เงินทุนสำรองจ่าย” จำนวน 50,000 ล้านบาท 1.2 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ควรใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 1.3 ให้สำนักงบประมาณ ทำหน้าที่พิจารณาคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ 1.4 การเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่าย ดำเนินการโดยใช้ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลัง (GFMIS) เช่นเดียวกับเงินงบประมาณ 1.5 การตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางตรวจสอบยอดเงินที่จะต้องตั้งชดใช้ในแต่ละปี

นางนฤมล กล่าวอีกว่า 2. การใช้เงินทุนสำรองจ่าย ใช้หลักการเดียวกับการขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยมีวิธีปฏิบัติในการใช้เงินทุนสำรองจ่าย ดังนี้ 2.1 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นรายจ่าย ดังนี้ (1) เป็นรายจ่ายเพื่อการป้องกันหรือแก้ไขสถานการณ์อันมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ (2) เป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง (3) เป็นรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรงบประมารไว้แล้ว แต่มีจำนวนไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว (4) เป็นรายจ่ายที่ไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ แต่มีภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการและต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโดยเร็ว 2.2 หน่วยรับงบประมาณจะขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย ได้แต่เฉพาะกรณีที่หน่วยรับงบประมาณได้ตรวจสอบแน่ชัดแล้วว่าไม่สามารถนำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณมาใช้จ่ายได้หรือนำมาใช้จ่ายได้ แต่มีจำนวนไม่เพียงพอ 2.3 การขอใช้เงินทุนสำรองจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียด ดังนี้

Advertisement

(1) คำชี้แจงเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นในการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย (2) วัตถุประสงค์ของการขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย (3) แผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเป็นรายเดือน (4) สำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย (5) รายละเอียดประกอบการพิจารณาตามที่สำนักงบประมาณกำหนด เช่น คุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ แบบรูปรายการและประมาณการราคาที่ดิน หรือสิ่งก่อสร้าง อัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดโดยกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น 2.4 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย เสนอเรื่องให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแล แล้วแต่กรณี พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งคำขอให้สำนักงบประมาณ 2.5 กรณีที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามขั้นตอนของระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น แล้ว แต่ปรากฏว่างบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีไม่เพียงพอ และสมควรให้ใช้จ่ายจากเงินทุนสำรองจ่าย ให้ถือว่าคำขอใช้งบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น นั้น เป็นคำขอใช้เงินทุนสำรองจ่าย

นางนฤมล กล่าวอีกว่า 2.6 ให้สำนักงบประมาณรวบรวมรายการและวงเงินที่หน่วยรับงบประมาณขอใช้จากเงินทุนสำรองจ่ายโดยจะพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินที่จะใช้จ่ายเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติและเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้วสำนักงบประมาณจะจัดสรรเงินทุนสำรองจ่ายไปยังสำนักงานที่จะดำเนินการเบิกจ่าย 2.7 การเปลี่ยนแปลงรายการหรือการเพิ่มวงเงินเกินวงเงินที่ครม.อนุมัติให้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี โดยต้องส่งรายละเอียดอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม.ด้วย 2.8 เมื่อหน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายเงินทุนสำรองจ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ได้รับอนุมัติแล้วหรือดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้วมีเงินเหลือจ่ายให้แจ้งสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบยอดเงินเหลือจ่าย 2.9 ให้หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติเงินทุนสำรองจ่าย รายงานผลการดำเนินการตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายต่อสำนักงบประมาณภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสและวันที่การใช้จ่ายแล้วเสร็จ เพื่อสำนักงบประมาณรายงานผลต่อครม.ต่อไป และ 2.10 ให้หน่วยรับงบประมาณเบิกจ่ายเงินทุนสำรองจ่ายให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ เนื่องจากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พ.ศ. 2563 ประกาศใช้แล้ว จึงเห็นสมควรให้มีการใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนในลำดับแรก และกันวงเงินของเงินทุนสำรองจ่ายดังกล่าวไว้ใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินจำเป็นอื่นที่ไม่สามารถใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพ.ร.ก.ได้

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image