‘บิ๊กป้อม’ ย้ำศูนย์ต้านข่าวปลอม เข้มป้องเฟคนิวส์ ซ้ำเติมปชช. เจอพิษโควิด-19

“บิ๊กป้อม” ตรวจศูนย์ต้านข่าวปลอม เข้มป้องเฟคนิวส์ ซ้ำเติมปชช. เจอพิษโควิด-19 เผย 6 เดือนฟันแล้ว 3.1 พันเรื่อง

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม อาคาร 20 ชั้น บมจ.ทีโอที ถนนแจ้งวัฒนะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) พร้อมทั้งมอบนโยบาย โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และปลัดกระทรวงดีอีเอสให้การต้อนรับ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า กระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ซึ่งเป็นความร่วมมือ ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งถือเป็นการทำงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตที่ทั่วโลกและประเทศไทย ต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อปกป้องประชาชนและสังคมจากผลกระทบด้านลบของข่าวปลอมในภาวะนี้

พล.อ.ประวิตรกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากข่าวปลอมในช่วงระยะหลังนี้ หลายข่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่ในภาวะหวั่นวิตกเกี่ยวกับปัญหาด้านเศรษฐกิจและปากท้อง ดังนั้น อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมในสถานการณ์นี้ คือ การเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อให้สังคมได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเที่ยงตรง รองนายกฯ ยังกล่าวขอบคุณกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ได้มีนโยบายและดูแลและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้ง บมจ. ทีโอที ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายไว้อย่างดีด้วย โดยขอชื่นชมในความตั้งใจจริงในการทำงาน เสียสละ ของเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ยังปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มที่ในสถานการณ์เช่นนี้ ข่าวปลอมนั้นส่งผลกระทบทางด้านลบ และขณะนี้ก็เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจก็คือ ข่าวปลอม (Fake News) มักถูกเผยแพร่หรือส่งต่อในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อส่วนตัวและสังคมในวงกว้างอย่างมาก และขอฝากงานอีกด้านหนึ่งที่ต้องดำเนินการคือ การเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยแก่ประชาชนและสังคม รู้จักวิธีตอบโต้ข่าวปลอม มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในการเผยแพร่และแบ่งปันข้อมูล ควรจะเป็นการบรรจุหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียนในการรู้เท่าทัน ข่าวปลอม อย่างมีวิจารณญาณไตร่ตรองก่อนการแชร์ต่อ เพื่อสร้างความสุขให้กับสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืน

ด้าน น.ส..อัจฉรินทร์กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานตรวจสอบของศูนย์ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับกระแสไวรัสโควิด-19 ระหว่างวันที่ 25 มกราคม-เมษายน 2563 อย่างต่อเนื่อง 83 วัน ทั้งจากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 พบจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 2,428,621 ข้อความ มีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการ 2,870 ข้อความ คัดกรองแล้วพบว่ามีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 821 เรื่อง โดยมีข่าวที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและเผยแพร่แล้ว 244 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 192 เรื่อง ข่าวจริง 24 เรื่อง และข่าวบิดเบือน 28 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 8 : 1 : 1 ตามลำดับทั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่าในช่วงที่มีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ข่าวปลอมส่วนใหญ่ที่มีการแพร่กระจายบนออนไลน์และโซเชียลหลักๆ กว่า 60% จะเป็นข่าวในกลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ ขณะที่ข่าวกลุ่มสุขภาพซึ่งเคยครองพื้นที่ข่าวปลอม ลดสัดส่วนลงไปอยู่ที่กว่า 30% และสรุปภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมาว่า จากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนข้อความเข้ามาทั้งหมด 5,904,637 ข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข้อความที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 10,611 ข้อความ จำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 3,127 เรื่อง และได้รับการเผยแพร่แล้ว 565 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 399 เรื่อง ข่าวจริง 114 เรื่อง และข่าวบิดเบือน52 เรื่อง คิดเป็นสัดส่วน 7 : 2 : 1 ตามลำดับ

สำหรับผลจากการทำงานอย่างทุ่มเทของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย มีการดำเนินคดีกับผู้สร้างข่าวปลอม ในช่วงที่ผ่านมาจึงเริ่มเห็นแนวโน้มกระแสและข่าวปลอมลดลงอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image