พรรคร่วมฝ่ายค้าน นัดถกพรุ่งนี้ ปมขอเปิดประชุมสภาฯวิสามัญ แย้มยกร่างเรียบร้อย

“พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ประชุมร่วมกันพรุ่งนี้ ถกปมขอเปิดประชุมสภาฯวิสามัญ แย้ม ยกร่างขอเปิดประชุมแล้ว ค้างให้สมาชิกร่วมลงชื่อ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ประธานศูนย์โควิดพรรคพท. พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคพท. ร่วมแถลงถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

โดยนพ.ทศพร กล่าวว่า จากตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 19 คน ในช่วง 14 วันที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ มีจำนวน 19-111 คน  13 วันที่ผ่านมา มีจำนวน 19 -54 คนและ 7 วันที่ผ่านมามีจำนวน 19 -30 คน จะเห็นได้ว่า มาตรการการป้องกันโรค คือการดูแลสุขอนามัยตัวเองของประชาชนเป็นไปด้วยดี การควบคุมโรค การปิดสนามบิน การคัดกรอง และกักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ทำกันอย่างเข้มงวดในระยะหลัง ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงการรักษาพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเพิ่มมากขึ้นจำนวนผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักในการดำรงชีวิตจากการที่ต้องหยุดงานตกงาน ไม่มีเงินทองจับจ่ายใช้สอยในการดำรงชีวิต การเยียวยาของกระทรวงการคลัง ไม่ทั่วถึง เราจะเห็นภาพคนที่ไปเรียกร้องสิทธิ์ที่จะได้รับเงิน 5000 บาท ที่กระทรวงการคลัง คนจำนวนมากมายออกมาเบียดเสียดยัดเยียดรับแจกอาหาร รับเงิน มีคนที่ทุกข์หนักจนถึงขนาดฆ่าตัวตาย เราจำเป็นต้องสร้างความสมดุลย์ ของความปลอดภัยจากโควิด-19 กับความปลอดภัยจากความอดอยาก เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผ่อนคลายมาตรการโดยใช้หลักการของ WHO และหลักการทางการแพทย์เป็นลำดับขั้น โดยขอเสนอแนวทาง “เข้มสุขภาพ คลายเศรษฐกิจ”

1. การปิดสนามบินเพื่อป้องกันการนำเข้าเชื้อไวรัสโควิด-19 จากต่างประเทศอาจจะต้องทำต่อไป แต่ต้องเร่งนำคนไทยที่ติดอยู่ในต่างประเทศกลับมาสู่เมืองไทยโดยมีมาตรการกักกันอย่างเข้มงวด 2.การเดินทางระหว่างจังหวัดยังต้องคงความเข้มงวดในการคัดกรอง และการกักกันผู้เดินทางมาจากจังหวัดหรือสถานที่ที่มีการระบาดของโรคอยู่ 3.เร่งตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อ และภูมิคุ้มกันของประชาชนในประเทศให้มากขึ้นอย่างทั่วถึง 4.เร่งทบทวนและเสริมความรู้ ให้ประชาชนทุกคนในการดูแลป้องกันตนเอง ให้เจ้าหน้าที่รัฐทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น อ.ส.ม. ที่จะดูแลป้องกันชุมชนแต่ละชุมชน 5.เร่งเสริมความพร้อมของหน่วยงานสาธารณสุขโรงพยาบาล ในเรื่องสถานที่ ห้องตรวจ ห้องคนไข้ ห้องไอซียู อุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์การป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่ ยาต้านโควิด-19 ตลอดจนหน้ากาก และแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ 6.เตรียมความพร้อมของสถานประกอบการธุรกิจต่างๆ โรงเรียน บ้านพักคนชราสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่จะต้องมีการคัดกรอง มีห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ มีที่ให้ล้างมืออย่างพอเพียง การจัดสถานที่ไม่ให้คนแออัด ให้มี physical distancing 7.จัดลำดับความสำคัญของกิจการต่างๆ ทั้งกิจการสาธารณะ สถานประกอบการและธุรกิจต่างๆ ที่จะเปิดตามลำดับในแต่ละพื้นที่แต่ละชุมชน และ 8.กำหนดมาตรการที่จะผ่อนคลายทั้งประเทศโดยรวมและมาตรการที่จะผ่อนคลายในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ ตามสถานการณ์ของศักยภาพในการควบคุมโรคและ สภาพเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ก่อนถึงการปลดมาตรการทั้งหมด รัฐบาลต้องรีบจ่ายเงินเยียวยาให้คนทั้งประเทศอย่างทั่วถึงด้วย

Advertisement

ด้านนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้นำฝ่ายค้านได้หารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรค เราเห็นตรงกันว่า รัฐสภาจะเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้น รัฐสภาควรมีส่วนเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆโดยเฉพาะโควิด-19 นี้ เราจึงเตรียมการที่จะเปิดสมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภา โดยเราเตรียมดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ซึ่งต้องส.ส.และ ส.ว.ต้องเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 247 คน อย่างไรก็ตาม ตนได้ยกร่างหนังสือเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 123 และเตรียมเอกสารเพื่อให้สมาชิกลงชื่อเรียบร้อยแล้ว ต่อไปคือ พรุ่งนี้ (22 เมษายน) ผู้นำฝ่ายค้านได้เชิญพรรคร่วมฝ่ายค้านมาประชุมร่วมกันเพื่อลงรายละเอียด โดยหลังการประชุมจะมีการแถลงข่าวอีกครั้งหนึ่งถึงรายละเอียด

ทั้งนี้ รัฐบาลเสนอออก พ.ร.บ.เงินกู้ 3 ฉบับ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อใช้เม็ดเงนให้เกิดประโยชนืลูงสุด เราเป็นห่วงเรื่องรายละเอียดของการใช้เงินมากโดยเฉพาะ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดเดียวและมีผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกฯ ตั้ง 5 คน สุ่มเสี่ยงต่อการใช้เม็ดเงิน ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.โอนจ่ายงบประมาณแผ่นดินฯ นายกฯ พูดถึงรายละเอียดน้อยมาก พรรคพท.เราเสนอให้นำงบประมาณปี 63 มาใช้แก้วิกฤตก่อน รัฐบาลบอกว่าจะให้แต่ละกระทรวงไปปรับลดงบฯ แต่ก็ไม่บอกตัวเลขว่าใช้ไปเท่าไรแล้ว ซึ่งการตรา พ.ร.บ.ต้องใช้เวลา ดังนั้นถ้าเปิดสภาฯ ได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน ดังนั้น ฝ่ายค้านขอความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และส.ว. ถ้าสามฝ่ายร่วมกันลงชื่อให้ครบเพียง 247 ท่าน ประธานสภาฯ ก็จะได้เรียกเปิดประชุมสภาฯ ได้ ซึ่งนอกเหนือจากการพิจารณางบแล้ว ก็จะได้ร่วมกันเสนอแนะการแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้อีกด้วย ช่น วิถีใหม่หลังวิกฤติโควิด-19 เป็นต้น

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำคัญสุดคือความร่วมมือ เราอยากเห็นปัญหาของประชาขนได้รับการแก้ไข นายกฯ ยังกล้าเขียนจดหมายเปิดผนึกไปถึง 20 มหาเศรษฐีเพื่อขอความร่วมมือ ถือเป็นดาบสองคมว่าคุณต้องช่วย ไม่ช่วยไม่ได้ และถ้าเศรษฐีคนไหนช่วยน้อย สังคมก็จะจับจ้องและคุณก็จะถูกกำจัดไปโดยปริยาย ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นที่ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว เพราะหากกล่าวอ้างว่าสามารถควบคุมการแพร่เชื่อได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องคงเคอร์ฟิวอีก และการประกาศเคอร์ฟิวในเวลากลางคืน ก็ไม่มีหลักฐานว่ามีผลต่อการช่วยควบคุมการติดเชื้อในเวลากลางวัน ที่สำคัญเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตน ส่งผลแทรกซ้อนกับประชาชนที่ต้องตกงาน เมื่อคุมสุขภาพได้แล้ว เสรีภาพในการทำมาหากินต้องกลับมาได้แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image