บุคลากรสาธารณสุข 10% เครียด มีอาการหมดไฟจากงานหนัก ช่วงวิกฤตโควิด-19

บุคลากรสาธารณสุข 10%  เครียด มีอาการหมดไฟจากงานหนัก  ช่วงวิกฤตโควิด-19

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า จากแบบสำรวจความเครียดโดยกรมสุขภาพจิต ในการสำรวจจำนวน 3 ครั้ง คือช่วงวันที่ 12-18 มีนาคม ช่วงวันที่ 30 มีนาคม-5 เมษายน และช่วงวันที่ 13-19 เมษายน ใน 2 กลุ่มตัวอย่าง คือ กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และกลุ่มประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้หญิงตอบแบบสอบถามมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงอาจจะให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากกว่าผู้ชาย

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มบุคลากรสาธารณสุข มีความเครียดเริ่มเยอะขึ้นถึง 5.2% เครียดปานกลางอีก 4.2% รวมแล้วเกือบ 10% หมายความว่าบุคลากรสาธารณสุข 1 ใน 10 คน จะเริ่มมีความเครียดขึ้นมา ส่วนกลุ่มประชาชน พบว่า มีความเครียดมากเพิ่มขึ้น ล่าสุดอยู่ที่ 2.0% บวก 4.1% การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นไปทั้งโลกนั้น จึงไม่แปลกที่มีความเครียดแบบนี้ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในจิตใจต่อสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เราจึงต้องมีการดูแลคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ แต่คนส่วนใหญ่ยังสามารถปรับตัว และอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับบุคลากรสาธาณสุขที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจในกรทำงาน ก็อาจจะมีอาการ Burnout หรืออาการหมดไฟขึ้นมา เพราะต้องทำงานอย่างหนัก จึงอาจจะต้องมีการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูบุคลากรเหล่านี้ และมีมาตรการให้หมุนเวียนให้พัก และค่าตอบแทนต่างๆ ส่วนประชาชนที่มีความเครียดต้องแสดงตัว ขอความช่วยเหลือออกมาให้เรารับทราบ ทั้งเรื่องการรักษาพยาบาล ความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจ หรือสังคม ตอนนี้ทุกหน่วยงานก็เร่งให้การช่วยเหลือ ท่านก็สามารถมาขอรับความช่วยเหลือได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เราต้องเผชิญไปด้วยกัน และร่วมกันแก้ปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image