รายงานหน้า 2 : ทางออก-สูตรไหนดี รีสตาร์ต-คง‘พรก.ฉุกเฉิน’

รายงานหน้า 2 : ทางออก-สูตรไหนดี รีสตาร์ต-คง‘พรก.ฉุกเฉิน’

รายงานหน้า 2 : ทางออก-สูตรไหนดี

รีสตาร์ต-คง‘พรก.ฉุกเฉิน’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการ ภาคเอกชน และราชการ กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุจะพิจารณาเรื่องการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่าจะทบทวนหรือไม่ ในวันที่ 28 เมษายนนี้ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 30 เมษายนนี้

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

Advertisement

พยายามเข้าใจว่าโจทย์ที่คุณประยุทธ์ต้องตัดสินใจเป็นอย่างไร กล่าวคือ คุณประยุทธ์เห็นบทเรียนจากการที่ไม่สามารถรับมือต่อมาตรการก่อนหน้านี้ได้ ซึ่งหากมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะป้องกันความโกลาหลจากการที่ประชาชนเคลื่อนย้ายกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจการตัดสินใจและความสะดวกในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ ซึ่งความเป็นจริงก็ไม่สามารถล็อกดาวน์เช่นนี้ไปได้ตลอด เพราะเมื่อเปรียบเทียบบริบทของสถานการณ์อย่างรอบด้านกับต่างประเทศที่วิกฤตกว่าประเทศไทย ก็ล้วนมีมาตรการควบคุม และเฝ้าระวัง รวมถึงเริ่มปลดล็อก คลี่คลาย ความกดดันของผู้คนที่ต้องการให้เปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รัฐบาลชุดนี้จึงต้องมองเห็นบริบทรอบด้านเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ว่าเริ่มคลี่คลายปลดล็อกแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างไร คุณประยุทธ์ก็คงเอาโจทย์นี้มาเทียบเคียงด้วย เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 กลับมาโจมตีระลอก 2 เหมือนสิงคโปร์ หรือญี่ปุ่น เชื่อว่ารัฐบาลไทยกังวลประเด็นดังกล่าวอย่างมาก เพราะหากปลดล็อกทันทีแล้วไทยต้องเผชิญโควิดระลอก 2 ผู้ติดเชื้อมากกว่าเดิม รัฐบาลจะกลายเป็นจำเลยถูกโจมตีถึงความประมาท

Advertisement

ส่วนตัวจึงเห็นด้วยว่าควรขยายล็อกดาวน์ออกไป แต่ไม่ควรนาน อำนาจจะต้องถูกปลดล็อกในบางส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีแรงกดดันจากสังคม เนื่องจากขณะนี้ประชาชนเริ่มรู้สึกว่า เมื่อให้ความร่วมมือกับรัฐ แต่รัฐไม่มีมาตรการในการเยียวยา ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนยังสูงมาก หากขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควรมีมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้้ำ ควรงดเว้นมากกว่าลด ซึ่งจะทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้นด้วยซ้ำ

จริงอยู่ว่ารัฐบาลบังคับต่อไปได้ แต่เมื่อไม่มีมาตรการรองรับที่ประชาชนรู้สึกอยากให้ความร่วมมือ ท้ายที่สุดรัฐบาลจะถูกแรงกดดันจากรอบด้าน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่คนหวาดกลัวที่สุดคือตัวเลขของผู้ตกงาน

ดังนั้น ในการขยายล็อกดาวน์ควรจะเป็นลักษณะกึ่งล็อกดาวน์ ให้บางสาขาอาชีพได้มีกิจกรรมเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจได้ อาชีพสำคัญ เช่น ร้านตัดผม เป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปเรียกร้องถวิลหามากที่สุดส่วนหนึ่ง

รวมถึงอาชีพด้านงานบริการสาธารณะ ขนส่ง กระทั่งเครื่องบิน โดยอาจจะเพิ่มจำนวน แต่ไม่ต้องเต็มสูบเหมือนรอบที่ผ่านมา ให้มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เฉพาะเส้นทางที่ความปลอดภัยสูง

สิ่งสำคัญที่สุด คือรัฐบาลต้องมีการเยียวยา โดยศึกษาจากประเทศอื่นๆ เช่น นิวซีแลนด์ มีการขอความร่วมมือบริษัทห้างร้าน คนที่ตกงาน รวมถึงฟรีแลนซ์ จะมีการเช็กจากฐานภาษีของผู้มีเงินได้ เช่น เงินเดือน 10,000 บาท รัฐบาลนิวซีแลนด์สงเคราะห์ช่วยเหลือ 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ คือ 8,000 บาทเป็นต้น หากรัฐไทยไม่มีมาตรการเยียวยา จะเกิดแรงกดดันเรียกร้องรัฐบาลปลดล็อกให้เร็วที่สุด

แต่หากรัฐบาลมีงบประมาณมากเพียงพอ หรือเยียวยาในรูปแบบอื่นได้ ประชาชนก็จะให้ความร่วมมือมากกว่าเดิม แรงกดดันและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จะน้อยลง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศิวิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การที่เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเห็นตัวอย่างในหลายประเทศ ตัวแบบของการจัดการปัญหาโควิดระดับโลก มันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การจัดการที่เรียกว่า “การรักษาระยะห่างทางสังคม” ประเทศที่ประสบความสำเร็จในเรื่องแบบนี้ และตัวเลขของผู้ติดเชื้อคงที่คือ “สวีเดน” ซึ่งไม่มีการห้าม ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่เน้นการรักษาระยะห่างทางสังคม

ในขณะที่อีกหลายประเทศประสบความสำเร็จในการ “ล็อกดาวน์” แต่การใช้วิธีการทั้ง 2 ส่วนในการตอบโจทย์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของไทยเอง ต้องสร้างสมดุล ส่วนตัวคิดว่าคนไทยในปัจจุบัน มีความตระหนัก กระตือรือร้น ในการรักษาระยะห่างทางสังคม แต่สิ่งหนึ่งต้องคำนึง คือ การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องไม่เป็นการสร้างผลกระทบหรือทำลายเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะคนที่เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน หรือคนที่ไม่ได้มีเงินเดือนประจำ พ.ร.ก.นี้ต้องรักษาสิทธิของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเท่าเทียม นี่คือหัวใจและโจทย์หลัก

กรณีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ่งที่ต้องคิดอันดับแรกคือประเด็นการเคอร์ฟิว ซึ่งการทำงานบางอย่างอาจต้องผ่อนคลายระยะเวลาการออกจากบ้านไปทำงาน แต่การเยียวยา ส่วนตัวมองเป็น 2 แบบ 1.ต้องเยียวยาเชิงสวัสดิการ เช่น จะทำอย่างไรให้คนเข้าถึงการตรวจหรือการรักษาได้อย่างเท่าเทียม เข้าใจว่าจะมีกฎหมายหลายส่วนที่บอกว่าสวัสดิการทางสังคมสามารถใช้เงินตรงนั้นได้ แต่รัฐเองยังทำไม่ชัด เพราะฉะนั้นต้องทำตรงนี้ให้ชัดเจน

2.ปกติเวลาเราพูดถึงการเยียวยา เรามักพูดถึงเงินชดเชย ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่จะทำให้เท่าเทียมได้คือการใช้ฐานข้อมูลจาก อสม. เข้าไปช่วยควบคุมโรค เพราะทุกวันนี้ปัญหาหนึ่งเราพบว่า การจ่ายเงินให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบไม่ทั่วถึง ภาครัฐสามารถใช้ข้อมูลเรื่องอาชีพและสถานะของครัวเรือนมาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลอื่นๆ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการกระจายความเท่าเทียมจะชัดมากขึ้น

วิชวุทย์ จินโต
ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี

สถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ติดต่อกันเป็นวันที่ 12 แล้ว ตัวเลขผู้ป่วยยืนยันสะสมมี 18 รายเท่าเดิม กลับบ้านแล้ว 13 ราย เหลือรักษาอยู่ 5 ราย และรอผลการตรวจอีก 3 ราย โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างดีตามมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อสู่เป้าหมายเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งทางจังหวัดไม่รีบเสนอปลดล็อกเปิดจังหวัดและทำกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงสุขภาพความปลอดภัยของประชาชนสำคัญ

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น แต่ทางจังหวัดยังไม่วางใจและยังคงมาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าสู่เขต จ.สุราษฎร์ธานี อย่างเข้มข้น ทั้งที่สนามบิน, ที่ท่าเรือข้ามไปเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า มีการบันทึกข้อมูลบุคคลและข้ามไปถึงเกาะสมุย เกาะพะงัน ใช้เครื่องสแกนขั้นสูงคัดกรอง และที่ด่านตรวจ จุดสกัด พื้นที่อำเภอรอยต่อเข้าสู่จังหวัดยังทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยล่าสุดเพิ่มอีก 3 ด่าน รวมเป็น 7 ด่าน

จึงขอให้ประชาชนอดทนอีกนิดและช่วยกันหยุดการแพร่กระจายเชื้อให้เป็นศูนย์อีกระยะเชื่อว่าจะมีข่าวดีแน่นอน

พิชัย มะนะสุทธิ์
ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จังหวัดที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 ราย ซึ่งรักษาหายกลับบ้านหมดแล้ว อีกทั้งยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มานานกว่า 14 วันแล้ว อย่างไรก็ตามทราบว่าหลังจากวันที่ 30 เมษายน 2563 รัฐบาลจะประกาศปลดล็อก แต่ยังไม่ทราบว่าจะปลดล็อกเรื่องใดบ้างเท่าที่ทราบจังหวัดตรังยังไม่เข้ากลุ่ม 36 จังหวัดที่เข้าเกณฑ์การปลดล็อกเพราะเพิ่งจะมีผู้ป่วยเป็นศูนย์ 2-3 วันที่ผ่านมา

ในฐานะภาคเอกชน มีความเห็นว่าจังหวัดตรังสมควรได้รับการปลดล็อกในบางส่วนด้วย เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่ได้รับค่าจ้างรายวัน ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอาหารแปรรูปทางทะเล

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ เจ้าของกิจการต้องระมัดระวังดูแลเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด หากเกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาอีกจะไม่คุ้ม

และเห็นควรให้ปลดล็อกด้วยการเปิดชนิดค่อยเป็นค่อยไปเมื่อปลอดภัย และไม่พบผู้ป่วยก็ขยายเปิดกันต่อไป ประเด็นสำคัญมาตรการปิดเมืองด้วยการห้ามคนนอกพื้นที่เดินทางเข้าจังหวัดยังเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคราชการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้

โดยเฉพาะคนตรังทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตน เช่น สวมหน้ากากอนามัยทุกคน ไม่รวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมาก รักษาระยะห่างทางสังคม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องดูว่าทางรัฐบาลจะประกาศอย่างไร ซึ่งหวังว่าการทยอยปลดล็อกค่อยเป็นค่อยไป จะเป็นส่วนดีที่ผ่อนคลายความกังวลของบรรดาเจ้าของกิจการและชาวบ้านได้ดี อย่างน้อยระบบเศรษฐกิจจะได้ฟื้นตัวขึ้นบ้าง

ธัชกร หัตถาธยากูล
ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

ตามหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาขององค์การอนามัยโลก เตือนว่าการจะปลดล็อกให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จะต้องพิจารณาว่าคุณสมบัติใน 6 ข้อนี้หรือไม่ 1.สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศได้แล้ว 2.ระบบสุขภาพต้องสามารถหาผู้มีอาการมาตรวจหาเชื้อแยกตัวและรักษาพร้อมทั้งทำการ สอบสวนโรค 3.มีความเสี่ยงระดับน้อยที่สุด ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงภัยมากที่สุด เช่น บ้านพักคนชรา 4.โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่สาธารณะต้องมีมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ 5.สามารถจัดการความเสี่ยงของโรคจากผู้ที่เดินทางเข้าประเทศได้ 6.คนในชุมชนต้องมีความรู้มีส่วนร่วม และได้รับการสนับสนุนให้มีชีวิตภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากเกิดโรค

จังหวัดบุรีรัมย์ เรามีครบหมดทั้ง 6 หลักเกณฑ์ จึงคาดว่าภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จะผ่อนปรนล็อกดาวน์ให้ภาคธุรกิจเปิดทำการได้

แต่ยังคงต้องมีการคัดกรองประชาชนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ที่เดินทางมาพำนักในจังหวัดบุรีรัมย์ ตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมอย่างเข้มข้นต่อไป ภายใต้ชื่อ เปิดบ้าน ปิดเมือง

เกรียงไกร เธียรนุกูล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

เห็นสัญญาณของรัฐบาลที่อาจมีแนวโน้มขยายใช้มาตรการปิดเมือง หรือปลดล็อกดาวน์ออกไป และจะกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จากเดิมกำหนดไว้ว่าจะเปิดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยประเมินใน 2 มุมคือ 1.มุมเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของผู้ประกอบการและธุรกิจที่ต้องปิดชั่วคราวในช่วงที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงในการรวมกลุ่มคนไว้เป็นจำนวนมากๆ ซึ่งจะง่ายต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยการต้องปิดทำการชั่วคราวนั้น ก็สร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ก็รอคอยที่จะกลับมาเปิดทำการตามปกติ ในวันที่กำหนดไว้เดิม 2.เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีก็คงจะต้องมีข้อมูลในหลายมุมมาประกอบกัน คงไม่ได้มองแค่ในด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เพราะหากมองในมุมเศรษฐกิจ ประเมินตัวอย่างของต่างประเทศ อาทิ สหรัฐ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ออกมาเปิดเผยความต้องการว่าอยากให้เปิดประเทศกลับมาทำการตามปกติ แต่ก็มีบางรัฐที่ไม่ยอมให้เปิด และขยายเวลาปิดเมืองออกไปเช่นกัน เนื่องจากกังวลในมุมของสาธารณสุข และการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยมองว่าขณะนี้ควรให้ความสำคัญหลักๆ ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุข เพราะหากปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์เร็วเกินไป และไม่มีมาตรการรองรับที่ดีและเตรียมพร้อมหลังจากเปิดเมืองแล้ว ก็เกรงว่าไวรัสโควิด-19 อาจกลับมาแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น เหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ ที่ตอนแรกการควบคุมโรคระบาดทำได้ดีมาก แต่พอกลับมาเปิดเมืองแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดก็กลับมารุนแรงอีกครั้ง เมื่อเหตุการณ์เป็นในลักษณะอย่างนี้ ก็เข้าใจว่านายกรัฐมนตรีคงนำบทเรียนจากต่างประเทศมาประกอบการพิจารณา ทำให้อาจต้องขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ออกไปอีกสักระยะ หรือพิจารณาปลดล็อกในบางจังหวัด หรือเปิดตามปกติในพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูง ส่วนพื้นที่ที่มีความปลอดภัยน้อยหรือปานกลางก็ให้ชะลอการเปิดออกไปก่อน

รวมถึงบางธุรกิจที่มีความสุ่มเสี่ยงมาก ก็ให้ชะลอการเปิดไปก่อน อาทิ สถานบันเทิง การจัดงานแสดงสินค้า แม้กระทั่งโรงหนัง ที่ต้องเปิดช้าที่สุด เพราะเป็นที่ที่สามารถรวมคนไว้จำนวนมาก และเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสที่สุด

คงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า หากปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์เร็ว แล้วไม่มีมาตรการเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ดี และตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่กลับมาเพิ่มขึ้นแบบร้อนแรงอีกครั้ง จะทำอย่างไร

เพราะเชื่อว่าหากเป็นแบบนั้น ก็คงต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างแย่ลงมากกว่าเดิม

แต่หากขยายเวลาออกไปอีก 15 วัน แล้วทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ลดลงได้เรื่อยๆ และมั่นใจว่าจะไม่มีการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งน่าจะดีกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image