‘บิ๊กป้อม’ สั่งทุกหน่วยบูรณาการ กำจัดผักตบชวา เปิดทางน้ำ แก้ภัยแล้ง

‘บิ๊กป้อม’ สั่งทุกหน่วยบูรณาการ กำจัดผักตบชวา เปิดทางน้ำ แก้ภัยแล้ง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ห้องประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ แผนการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเพื่อเตรียมการรับน้ำหลากในฤดูฝน ปี 2563 ครั้งที่ 1/2563 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทยกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กองทัพบก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดปทุมธานี นครปฐม นครนายก ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สิงห์บุรี สมุทรสาคร อ่างทอง ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำจัดเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เป็นอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝนที่สำคัญ ที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาโดยตลอดและมีการติดต่อผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการประชุมในวันนี้เพื่อติดตามแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งผลการดำเนินการ ประจำปี 2562 และ 2563

และเพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมในการรับน้ำหลากช่วงฤดูฝน ปี 2563 ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ บูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนภายใต้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ที่แสดงการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำสายหลักและแหล่งน้ำเชื่อมโยง จำนวน 25 จุด ให้หน่วยงานรับผิดชอบหลัก จำนวน 4 หน่วยงาน เพื่อจัดทำแผนดำเนินการก่อนฤดูฝน ได้แก่ 1. กรมชลประทาน จำนวน 16 จุด 2. กรมเจ้าท่า จำนวน 4 จุด 3. กรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน 3 จุด และ 4.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 2 จุด โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดังกล่าวเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนนี้

นอกจากนี้ยังให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำชับนายอำเภอในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ ให้เร่งรัดติดตามการจัดเก็บผักตบชวาในแหล่งน้ำด้วยเรือท้องแบนที่ได้จัดซื้อให้ โดยขอให้ท้องถิ่นมีการจัดเก็บทุกวันอย่างต่อเนื่อง และรวบรวมผลการดำเนินงานให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทราบทุกวันที่ 15 ของทุกเดือน

Advertisement

ส่วนการดำเนินการของชมรมคนริมน้ำ ขอให้นายอำเภอไปทำการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

รองนายกฯ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในครั้งต่อไป ด้วยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA มาบูรณาการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบนำไปวางแผนและแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณในการสำรวจการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำต่างๆ โดยขอให้ GISTDA ส่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำต่างๆ เขตลุ่มน้ำภาคกลาง ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทุก 15 วันเพื่อแจ้งให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปจัดทำแผนดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้ทั้งสองหน่วยงานประสานการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันและรายงานผลให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติทราบต่อไป

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ได้แบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางและพื้นที่แหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยง โดยพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางมี 4 หน่วยงานหลักรับผิดชอบ ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง รับผิดชอบในแม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำโพธิ์พระยาลงมา) และแม่น้ำแม่กลอง กรมชลประทาน รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (เหนือเขื่อนเจ้าพระยา) แม่น้ำท่าจีน (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพลเทพถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำบรมธาตุ ถึง ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ด)แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง

กรมเจ้าท่า รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยา (จากเขื่อนเจ้าพระยา ถึงกรุงเทพฯ) แม่น้ำน้อย (ตั้งแต่ประตูระบายน้ำเจ้าเจ็ดเชื่อมถึงแม่น้ำเจ้าพระยา) แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำสะแกกรัง และกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงคลองสาขาในเขตกรุงเทพฯ

ส่วนแหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยงทั่วประเทศให้บูรณาการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่กับหน่วยงานหลักที่มีเครื่องจักร ได้แก่ อปท, ชป, จท, ยผ, หน่วยงานทหาร

“กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดหาเรือท้องแบนแบบติดเครื่องยนต์ จำนวน 790 ลำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้ในการกำจัดผักตบชวา และกรมการปกครอง ได้จัดตั้งชมรมคนริมน้ำจำนวน 7,608 ชมรม มีสมาชิกจำนวน 1,424,050 คน

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 มีผลการดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศ ของทุกหน่วยงานร่วมกัน สามารถกำจัดได้ทั้งหมด 4,646,622 ตัน และปีงบประมาณ 2563 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – 17 เมษายน 2563 สามารถกำจัดได้แล้ว จำนวน 1,411,156 ตัน ทั้งนี้ การกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเป็นหนึ่งในมาตรการในการบริหารจัดการน้ำควบคู่กับมาตรการอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการเปิดทางน้ำ ให้น้ำสามารถไหลเวียน การบริหารจัดการน้ำทำได้สะดวกทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน อีกทั้งยังเป็นการรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำและแหล่งน้ำให้อยู่ในค่ามาตรฐานอีกด้วย”นายชยพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image