09.00 INDEX รัฐประหารตุรกี ประชามติไทย คนละเรื่อง แต่มี “นัยประหวัด”

อ่าน “แถลง” จาก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช.ต่อสถานการณ์รัฐประหารในตุรกีแล้ว

ก็”เข้าใจ”

เข้าใจ 1 ในความละเอียดอ่อนของ “สถานการณ์” เข้าใจ 1 ในผลสะเทือนที่จะตกกระทบมาถึงไทย

นี่ย่อมเหมือนกับประชามติที่ “อังกฤษ”

Advertisement

ในยุคแห่ง 4.0 ที่อุปกรณ์ดิจิทัลแบบ”พกพา”ทรงพลานุภาพเป็นอย่างสูงเช่นนี้

ฝนตก”บ้านน้อง” ย่อมได้ยินเสียงฟ้าร้องถึง”บ้านพี่”

ความละเอียดอ่อนมิได้อยู่ที่ไทยเพิ่งผ่าน”รัฐประหาร”มาแล้ว 2 หนในรอบ 1 ทศวรรษ

Advertisement

1 รัฐประหารเดือนกันยายน 2549

1 รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

หากแต่ที่ละเอียดอ่อนและมากด้วยความแหลมคมยังอยู่ในบรรยากาศแห่ง “ประชามติ”

เหลืออีก 20 วัน “7 สิงหา”ก็จะมาเยือน

ไม่ว่าจะห้ามมิให้เปรียบเทียบ หรือคิดนึกรำลึกถึงอย่างไร แต่ละคนย่อมเกิดสภาพที่เรียกว่า

“นัยประหวัด”

รัฐประหาร 17 กรกฎาคมที่ตุรกีบังเกิด ภาพรัฐประหาร 19 กันยายน และภาพรัฐประหาร 22 พฤษภาคม ย่อมเรียงกันมา

บังเอิญที่ที่ตุรกีกลายเป็น “กบฎ”

ขณะที่ของไทย ไม่ว่าจะเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเดือน พฤษภาคม 2557 ล้วนเรียบร้อยกองทัพบก

จึงอดไม่ได้ที่จะต้อง “เปรียบเทียบ”

ยิ่งเหลืออีกเพียง 20 วันประชามติวันที่ 7 สิงหาคมก็จะเดินทางมาถึง

ก็ยิ่งอดไม่ได้ที่จะต้อง “เปรียบเทียบ”

ทาง 1 เปรียบเทียบกับความคึกคักและความโชคดีของชาวอังกฤษที่สามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่

สะท้อนความเป็น “ประชาธิปไตย”

ขณะเดียวกัน ทาง 1 ก็นึกถึงบรรยากาศที่ชาวเมียนมาเคยประสบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551

แตกต่างจาก”อังกฤษ”อย่างแน่นอน

เพราะว่าอังกฤษเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่เมียนมาเป็น “รัฐบาลทหาร”

ไม่ได้มาจาก “การเลือกตั้ง” หากแต่มาจากกระบวนการ”รัฐ ประหาร”

และคิดจะต่อท่อ “สืบทอดอำนาจ”

รัฐประหารตุรกีจึงสอดสวมกับ”ประชามติ”วันที่ 7 สิงหาคม

โดยอัตโนมัติ

ผลจะเป็นอย่างไร 7 สิงหาคม มี”คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image