เสียงสะท้อนเรียนออนไลน์ ‘อจ.’แนะ-ทำให้มี‘คุณภาพ’

 

หมายเหตุวามเห็นจากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ เกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อการเรียนการสอนในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด

ปิยณัฐ สร้อยคำ
ผช.อธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.อุบลราชธานี

Advertisement

วิธีการสอนออนไลน์เป็นเทรนด์ของการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 การสอนออนไลน์เท่าที่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างขั้นพื้นฐาน มองเป็น 2 มุม ตัวอาจารย์เองต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน ทำให้ต้องนำเทคโนโลยีขึ้นมาใช้มากขึ้น ทำให้อาจารย์เองต้องเรียนรู้และจัดการ ต้องมีการจัดการเลือกใช้โปรแกรมการใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยจัดการ ตัวอาจารย์ก็ต้องปรับเปลี่ยนเยอะ เรื่องอินเตอร์เน็ตก็เป็นปัญหา ผู้เรียนยังคงประสบปัญหาอยู่ในเรื่องของอินเตอร์เน็ต เสียงสะท้อนนักศึกษามองว่าการเรียนออนไลน์สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ถ้าไม่ได้สนใจหรือตั้งใจจะทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างแท้จริง อีกประเด็นคือบางโปรแกรมที่ให้ใช้สอนอยู่ปัจจุบันนี้ จะพบว่าหากใช้การไลฟ์ (Live) และดู เฟซบุ๊ก ไลฟ์ (FacebooklLive) ใช้กูเกิล มีต (Google Meet) โปรแกรม ซูม (Zoom) ค่อนข้างกินอินเตอร์เน็ตของนักศึกษามาก ใช้ดาต้า (Data) ค่อนข้างสูงนักศึกษาสะท้อนมาว่าบางครั้งอาจจะต้องให้อาจารย์อัดเป็นวิดีโอคลิปและแขวนไว้บนยูทูบ (YouTube) เอาเฉพาะเนื้อหาสำคัญที่จะบอกนักศึกษาเอาเฉพาะเนื้อทำไว้ใช้ก่อน และก็ใช้วิธีตอบโต้กันก็ค่อยมาใช้โปรแกรมออนไลน์ เช่น โปรแกรม มีต คลาวด์ ซูม (Meet Cloud Zoom) ค่อยมาใช้ทีหลัง ในส่วนของอาจารย์เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงออนไลน์กังวลการวัดผลและการประเมินผลว่าการเรียนในห้อง หรือการเรียนออนไลน์จะทำให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ได้จริงไหม แล้ววิธีการประเมินผล ถ้าต้องการสอบออนไลน์ อาจารย์เองก็ยังรู้สึกว่าจะวัดผลได้จริงหรือเปล่า แต่ถ้ามองอีกมุมในสถานการณ์โควิด เราอาจมุ่งหวังกับการวัดประเมินผลไม่ได้ 100% ก็จะต้องพยายามหาจุดกึ่งกลางว่าจะทำให้การเรียนการสอนประคับประคองไปได้ ในมุมมองของนักศึกษาเป็นโอกาสการเรียนออนไลน์ฝึกให้นักศึกษาเป็นพลเมืองของศตวรรษที่ 21 คือคนในยุคต่อไป การเรียนรู้จะต้องขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง หาความรู้จากช่องทางอินเตอร์เน็ต

อยากให้นักศึกษาใช้โอกาสนี้ลองฝึกเข้ามาศึกษา ทำให้ตัวเองพร้อมกับการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน รัฐบาลก็ควรมองและให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคด้วย ในส่วนของผู้บริหารระดับสูงอยากจะบอกว่าเรื่องของการศึกษาค่อนข้างสำคัญ โครงสร้างขั้นพื้นฐานอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการสนับสนุนการเรียนการสอน อยากให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคไม่มีงบประมาณสูงอย่างเช่นมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ส่วนกลางของประเทศ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยภูมิภาคบางส่วนจะเป็นนักศึกษาที่มาจากพื้นฐานครอบครัวไม่ได้มีรายได้สูงมากนัก ดังนั้น อยากให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัย จุดนี้รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคด้วย

Advertisement

พีระ พันลูกท้าว
รองคณบดีฝ่ายอำนวยการ คณะศิลปกรรมศาสตร์
ม.มหาสารคาม

การเรียนการสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นทางเลือกของผู้เรียนเข้ามาศึกษาด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า อี-เลิร์นนิ่ง (E-Learning) หรือผ่านระบบอื่นๆ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถมีการพูดคุยสื่อสารกันได้แบบเฟซ ทู เฟซ (Face to Face) อาทิ กูเกิล มีต (Google Meet) , แฮงเอาต์(Hangout), สไกป์ (Skype) และซูม (Zoom) เป็นต้น ถูกนำมาใช้ แต่การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ยังมีข้อจำกัด ปัญหาและอุปสรรค ตนในฐานะที่สอนนิสิตระดับปริญญาตรีในวิชาบัลเลย์ เป็นกลุ่มวิชาทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ เน้นทักษะและการปฏิบัติการ จำเป็นต้องอาศัยการทำซ้ำ การสาธิตเป็นตัวอย่าง เช่น ในด้านศิลปะการแสดง การเต้น การฟ้อนรำ การเข้าคู่พระนาง ผู้สอนจะต้องสอนผู้เรียนอย่างใกล้ชิดทำให้การเรียนการสอนแบบออนไลน์ยังทำได้ไม่จริง 100%

การเรียนการสอนออนไลน์ คุณภาพและประสิทธิภาพของการเรียนการสอนด้านศิลปกรรมศาสตร์ และศาสตร์ด้านอื่นๆ ความพร้อมในด้านอุปกรณ์การสอน พื้นที่และสภาวะแวดล้อมที่พึงประสงค์ และเอื้อต่อการเรียนการสอนออนไลน์ สัญญาณอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์สื่อสารจะมีความพร้อมทั้งผู้สอนและผู้เรียนหรือไม่ เด็กต่างจังหวัดอาจไม่มีงบประมาณเพียงพอ พ่อแม่อาจประสบปัญหาตกงาน ขาดรายได้ ทำให้ไม่มีความพร้อมที่จะต้องมาเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าอินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ

อีกทั้งการประเมินผลงานทางด้านศิลปกรรมศาสตร์ของนิสิตจะสำเร็จการศึกษา (Thesis) นิสิตต้องทำงานศิลปะและจะต้องประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก จะมีการให้คำแนะนำ ข้อคิดเห็น ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ในผลงานนิสิต เพื่อนิสิตจะได้รับประโยชน์ในการพัฒนาและต่อยอดทักษะของตนเอง หากจะต้องประเมินผลออนไลน์ในมิติของคุณภาพอาจลดน้อยลง เนื่องจากการประเมินผลทางศิลปะจะต้องอาศัยทัศนธาตุ การรับรู้ แนวคิด ตลอดจนสุนทรียภาพ ของงานศิลปะทั้งด้านทัศนศิลป์ และศิลปะการแสดง และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ การสอนออนไลน์ไม่สามารถให้ความรู้และประสบการณ์ได้อย่างชัดเจนและมีคุณภาพเพียงพอ

อยากฝากถึงรัฐบาล ในฐานะตนเป็นอาจารย์ คงต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และต้องจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากที่สุด รัฐบาลควรออกแบบหรือสร้างโปรแกรม หรือช่องทางการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีความเสถียร ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนให้แก่สถาบันการศึกษา หากจะต้องมีการเรียนการสอนอย่างจริงจัง ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องใช้งานจากแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ความเสถียรของระบบอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน

และจากนโยบายเวิร์กฟรอมโฮม (Work from Home) ก็จะทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น กรณีค่าอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้าและค่าอินเตอร์เน็ต ทางรัฐบาลหรือกระทรวงควรจะเข้ามาดูแลตรงนี้ เพราะสถาบันการศึกษาไม่ได้จ่ายค่าอุปกรณ์ ค่าไฟฟ้าและค่าอินเตอร์เน็ตให้กับผู้สอนและผู้เรียน ดังนั้น ภาระตรงนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

นภ คงดี
อาจารย์ประจำสาขาแอนนิเมชัน วิชวลเอฟเฟกต์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

ช่วงแรกๆ ก็จะวุ่นวายหน่อย เพราะเด็กนักศึกษาไม่เคยใช้ และไม่มีคอมพิวเตอร์ของตนเอง แต่ตอนนี้เริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว บางคนไม่เคยใช้กล้องผ่านคอมพิวเตอร์ระบบซูม (ZOOM) ก็จะอาย แต่เดี๋ยวนี้ติดใจแล้ว เพราะตื่นมาคุยได้เลย แต่ที่กังวลคือผู้สอน เพราะเห็นใบหน้าชัดมาก ขณะที่เวลาสอนในห้องอาจจะไม่ต้องมอง หรือส่งอาย คอนแทคต์ (Eye Contact) หันหน้า หันข้าง หรือจะหมุนตัวสอนไปตามจังหวะ แต่นี่เราต้องมองกล้อง เด็ก 45-100 คน มองยาก ปัจจุบันนี้ต้องใช้ 2 จอ สลับกัน เพราะต้องมีสไลด์ให้ดู และเด็กจะอัดหรือบันทึกในคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น อาจารย์ไม่ค่อยชอบนะ แต่ถ้าสอนในห้องก็จะไม่ค่อยทำแบบนั้น

ปัญหาและข้อน่าห่วงคือระบบการสอบออนไลน์ มช.จะมีระบบ Mooc CMU เวลาสอบก็จะต้องรออาจารย์ 2-3 คน มาคุมสอบและดูเด็กให้ตรงตัวว่าเด็กทุจริตหรือไม่ ห่วงว่าจะโกงการสอบ เพราะตัวคนอาจจะตรง แต่มือทำคำตอบอาจจะไม่ใช่ก็ได้ นี่คือเรื่องยากของคอมพิวเตอร์ ก็ต้องปรับเปลี่ยนข้อสอบไม่ให้ใช้ความจำ แต่ให้เข้าใจความหมายของเนื้อหามากกว่า

ปัจจุบันนี้เด็กไม่ใช่ท่องจำแบบ ก ข แล้ว เพราะแนวทางการเรียนการสอนเปลี่ยนไป ในแง่ของการสอนวิชาชีพไม่น่าโกง เช่น วิจิตรศิลป์ แมสคอม แพทย์ แต่ที่ใช้ความจำ เช่น ภาษาอังกฤษ สังคม รัฐศาสตร์ ส่วนใหญ่ใช้ความจำมากกว่า ยกเว้นจะให้ทำการสอบแบบวิเคราะห์

ช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นช่วงสอบแล้ว จะเปิดเทอมอีกทีก็ 8 กรกฎาคม 2563 แต่เชื่อว่าระบบการเรียนการสอนคงเป็นแบบครึ่งๆ คือ ZOOM บ้าง มาเจอกันหน่อย หรือจนกว่าจะมีวัคซีนออกมาไม่มีการแพร่ระบาดแล้วก็หมดห่วง แต่ถ้ายังไม่มีก็น่าห่วงและคงใช้ระบบออนไลน์ช่วยไปเรื่อยๆ เพราะแม้จะป่วยมาเรียนไม่ได้ ZOOM ก็จบ และจากระบบที่เคยมีปัญหา ล่าสุด มช.ลงทุนซื้อใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 200-300 คน ไม่ตัดทุก 40 นาทีเหมือนก่อน

สรุปปัญหาตอนนี้คือ มีอาจารย์รุ่นเก่ากับรุ่นใหม่แบบครึ่งต่อครึ่ง ก็ต้องปรับตัวกัน และเด็กไม่มีคอมพิวเตอร์ของตัวเอง มช.กำลังประสานบริษัทเอกชนเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้ ยิ่งเด็กต่างจังหวัดนี่ไม่มีใช้เลย หรือมีก็ของคนทั้งบ้าน มันก็ลำบาก และห่วงการสอบว่าจะจับทุจริตเด็กไม่ได้มากกว่า ยกเว้นวิชาโปรเจ็กต์ Lab Software CD Animation ที่ผมสอน อันนั้นใช้ผลงานในการสอบว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน ก็ไม่มีปัญหา

ชาลินี สนพลาย
ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น มหาวิทยาลัยจะมีระบบของมหาวิทยาลัยผ่านเว็บไซต์ของสำนักทะเบียน ให้อาจารย์ใช้ติดต่อสื่อสารกับนักศึกษา และให้อาจารย์ได้เลือกใช้โปรแกรมต่างๆ ตามสะดวก ที่คณะรัฐศาสตร์ก็มีใช้ทั้งโปรแกรมไมโครซอฟท์ทีม และซื้อใบอนุญาตโปรแกรมซูมไว้ให้อาจารย์ไปจองเวลาใช้ ใบอนุญาตจะทำให้สามารถใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ ของโปรแกรมได้มากขึ้น เหมาะกับวิชาที่มีนักศึกษาไม่เกิน 100 คน สำหรับคลาสเรียนใหญ่ๆ อาจารย์บางท่านใช้วิธีไลฟ์สดลงเฟซบุ๊กกรุ๊ป หรืออัดคลิปประกอบเพาเวอร์พอยต์ อัพโหลดให้นักศึกษา หลังจากมหาวิทยาลัยประกาศปิดการเรียนการสอนในห้องเรียน และประกาศให้เรียนออนไลน์ มหาวิทยาลัยมีเวลาให้ 1 สัปดาห์ในการปรับตัว เพื่อทดลองใช้แพลตฟอร์มที่หลายคนยังไม่คุ้นเคย คณะได้เปิดให้นักศึกษาที่ขาดแคลนอุปกรณ์มาลงชื่อ และให้ยืมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้เรียนได้ มีบางส่วนเข้ามาลงชื่อ ขณะที่คอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเปิดให้ลงชื่อยืมเรียน เท่าที่ทราบวันเดียวก็เต็มแล้ว

ช่วงแรกลองไลฟ์สดดูพบว่าค่อนข้างสอนยาก เนื่องจากไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน จึงเปลี่ยนมาสอนผ่านโปรแกรมซูม ทำให้เห็นหน้านักศึกษา แต่สำหรับคลาส 70 คนนั้น เมื่อเริ่มสอนในซูมได้ครึ่งชั่วโมงก็ต้องหยุดสอน เพราะทั้งผู้สอนและนักศึกษายังไม่คุ้นกับวิธีใหม่ ต้องตั้งกติกาการสอนใหม่ และปรับความคาดหวังในการสอนใหม่ ยอมรับว่าเราไม่สามารถทำให้ชั้นเรียนออนไลน์เหมือนกับชั้นเรียนปกติได้เป๊ะ ภายหลังมีกติกาให้ต้องเปิดกล้อง และให้ลงทะเบียนรายงานตัวเพื่อรับข้อสอบ นักศึกษาส่วนใหญ่ก็เข้ามาเรียนตามปกติ และให้ความร่วมมือกับชั้นเรียน

นับว่าโชคดีนักศึกษาเปิดเทอมไปแล้วครึ่งเทอม ทำให้นักศึกษาในชั้นเรียนรู้จักกันบ้าง มีความสัมพันธ์กันบ้างแล้ว ส่งต่อข่าวสารหรือช่วยเหลือกันได้ ส่วนการสอบไฟนัลนี้ อาจารย์ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอบแบบเทกโฮม คือให้ข้อสอบให้นักศึกษาทำมาส่งผ่านกูเกิลคลาสรูม บางรายวิชาสอบแบบเปิดซูม หรือไมโครซอฟท์ ทีม สอบ บางรายวิชาใช้การสอบปากเปล่าผ่านโทรศัพท์ เช่น วิชาประวัติศาสตร์การทูต ในอดีตที่คณะก็มีการสอบแบบปากเปล่าอยู่แล้วในบางรายวิชา ทั้งหมดนี้อาจารย์จำเป็นต้องศึกษาระบบ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อสอบหรือคำตอบจะไม่ตกหล่นระหว่างทาง

ส่วนกิจกรรมนักศึกษาต้องงดก่อน บางกลุ่มกิจกรรมก็มีคิดกิจกรรมรักษาสัมพันธ์ผ่านทางออนไลน์ ล่าสุด คณะรัฐศาสตร์จัดเลือกตั้งคณะกรรมการนักศึกษาผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยที่พ่วงไปกับการเลือกตั้งองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ เป็นระบบเริ่มใช้ไปในปีที่แล้ว ปีนี้เปิดให้นักเรียนลงทะเบียนผ่านยูสเซอร์ พาสเวิร์ด รับรหัสโอทีพีผ่านโทรศัพท์และเข้าไปลงคะแนน เป็นปีที่ได้รับความสนใจ มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด แม้ว่าปีที่แล้วเริ่มใช้มีนักศึกษาหลายคนตั้งคำถามอยู่บ้าง

สำหรับปัญหาที่พบจากการเรียนการสอนผ่านออนไลน์นั้น ในมุมผู้สอนแม้ว่าจะเป็นวิชาบรรยาย แต่ในห้องเรียนปกติก็ไม่ได้พูดคนเดียว ชั้นเรียนต้องเป็นความพยายามของนักศึกษาและผู้สอนร่วมกัน การสอนออนไลน์ไม่สามารถเห็นองค์ประกอบของชั้นเรียนทั้งหมดได้ ไม่เห็นสีหน้า แววตาของผู้เรียน ทำให้ไม่รู้ว่าเข้าใจหรือไม่ แม้จะเปิดกล้อง แต่ก็ยังเห็นหน้านักศึกษาไม่ครบทุกคน ทำให้ไม่รู้ว่านักศึกษาเข้าใจประเด็นทั้งหมดหรือไม่ ต้องยกตัวอย่างเพิ่มหรือไม่ หรือเวลาถามคำถามนักศึกษาก็ไม่สามารถจัดลำดับได้ว่าควรเริ่มจากนักศึกษาคนไหน จัดลำดับอย่างไร เพราะจดจำนักศึกษาได้ไม่ทั้งหมด นอกจากนี้เข้าใจว่าอาจารย์จำนวนหนึ่งจะเซ็นเซอร์ตัวเองด้านเนื้อหาด้วย เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของการเรียนออนไลน์ อย่างไรก็ตาม อาจารย์หลายท่านกล่าวว่า การเรียนแบบออนไลน์ทำให้เด็กกล้าพิมพ์เข้ามาถาม กล้าถามมากขึ้น ไม่เขินอาย จากบางคำถามที่อาจกังวลว่าคนในห้องจะมองเช่นไร

ปัญหาสำหรับนักศึกษานั้น คือเรื่องสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ต้องเข้าใจว่าบ้านไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะกับกิจกรรมทุกรูปแบบ การที่นักศึกษากลับไปอยู่บ้านทำให้บทบาทหน้าที่ของความเป็นนักศึกษากับบทบาทหน้าที่ในบ้านปะทะกันมากขึ้น บางครอบครัว สมาชิกในครอบครัวไม่เข้าใจว่านักศึกษายังต้องเรียน หรือเงื่อนไขของบางคน เมื่อกลับไปบ้านต้องทำงานช่วยที่บ้าน ความสนใจจดจ่อต่อการเรียนจะลดลง แต่ละคนมีเงื่อนไขที่บ้านต่างกัน ไม่เหมือนกับการอยู่ในห้องเรียน จะดึงเขาออกจากสภาพแวดล้อมเหล่านั้นมาเรียนได้เต็มที่

นอกจากนี้ หากเวลาเรียนปกตินักศึกษาสามารถเข้ามาสอบถามหลังคาบ หรือมาพบอาจารย์ที่ห้องเพื่อปรึกษาได้ แต่การเรียนออนไลน์ไม่เปิดโอกาสเช่นนั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอุปกรณ์ บางคนไม่มีคอมพิวเตอร์ก็ต้องเรียนกับมือถือจอเล็กๆ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ แม้มหาวิทยาลัยจะมีซิมการ์ดเพื่อการศึกษาให้ แต่ก็ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนอยู่ดี

ข้อกังวลคือ แม้จะมีคนกล่าวว่าการเรียนแบบออนไลน์เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาได้จากทุกที่ แต่ในสถานการณ์โครงสร้างพื้นฐานเรื่องออนไลน์ของประเทศเราไม่ครอบคลุมขนาดนั้น การเรียนแบบออนไลน์กลายเป็นการกีดกันคนอีกกลุ่มมากกว่า ทั้งเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรืออุปกรณ์ ทำให้บางครั้งแม้ผู้สอนจะทำงานหนักขึ้นเพื่อให้เนื้อหาไปถึงนักเรียน แต่ก็ยังตกหล่นระหว่างทางจากปัญหาดังกล่าว นักศึกษามีเงื่อนไขต่างกัน คลาสเรียนบางคลาสต้องการให้นักศึกษาเปิดกล้องเรียน (เช่นของเราด้วย) แต่สำหรับนักศึกษาบางส่วนบ้านอาจไม่มีพื้นที่ทางกายภาพมากพอ หรือเหมาะสมพอจะใช้เป็นที่เรียนได้ และยังออกไปข้างนอกไม่ได้ ยังไม่รวมถึงนักศึกษาที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ขณะนี้ไม่สามารถไปทำงานได้ สถานการณ์เช่นนี้หากยิ่งนานจะยิ่งเป็นการทอดทิ้งทุกคนไว้ข้างหลัง ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำมากกว่าจะเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม การศึกษากลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยกับเด็กบางกลุ่มที่กำลังเผชิญความยากลำบากในช่วงเวลานี้ แต่ก็มีนักศึกษาอยากได้อะไรจากการเรียนเหมือนในห้องเรียน คณาจารย์ต้องทำงานหนักขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ส่งผลตอบรับกลับมาเพื่อให้นำไปปรับปรุงได้ เพราะแต่ละคนมีปัญหาที่เผชิญแตกต่างกัน แต่เราต้องพยายามพาทุกคนไปด้วยกัน

เวียงรัฐ เนติโพธิ์
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

นับตั้งแต่เกิดปัญหาวิกฤตโควิดระบาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการรับมือและป้องกันปัญหาค่อนข้างเร็ว ตั้งแต่การสั่งปิดมหาวิทยาลัย การประกาศบุคลากรห้ามเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง และให้เริ่มการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ โดยส่วนตัวและเพื่อนคณาจารย์ในระยะแรกก็ติดปัญหาบ้าง แต่คณะจะมีเจ้าหน้าที่เทคนิคสอนเรื่องการลงโปรแกรม และเทคนิคการใช้โปรแกรมระบบต่างๆ ซึ่งทางจุฬาฯซื้อแอคเคาต์ไว้รองรับเกี่ยวกับการเรียนการสอนออนไลน์นานแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ใช้ มาเริ่มใช้จริงจังช่วงวิกฤตที่ผ่านมา

ส่วนตัวทำการสอนโดยการอัดคลิป หรือไลฟ์สดลงในเฟซบุ๊กโดยนิสิตสามารถเข้ามาดู หรือดูย้อนหลังได้ มีข้อดีคือนิสิตสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมาคณะ ส่วนข้อเสียคือ หลังจากเปิดการสอนออนไลน์ไปราวหนึ่งถึงสองอาทิตย์ พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิสัมพันธ์ เพราะการเรียนในห้องเรียนอาจารย์กับนิสิตได้ใกล้ชิดกัน มีคำถามหรือปัญหาก็สามารถรับรู้และสื่อสารกันได้ทันที การไม่เห็นสีหน้าท่าทางของกันและกัน ยอมรับว่าการสอนออนไลน์ก็ทำให้พลังในความอยากสอน อยากชี้แนะ หรือตั้งคำถามในแต่ละบทเรียนลดลง เช่นเดียวกับฝั่งนิสิต ก็อาจจะมีปัญหาความอยากเรียนอยากรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจลดลง

ส่วนปัญหาในเชิงเทคนิคสำหรับจุฬาฯมีไม่มาก ในเชิงระบบจุฬาฯมีการซื้อและเตรียมระบบโครงสร้างพื้นฐานการเรียนการสอนออนไลน์มานานแล้ว เช่น โปรแกรม Zoom ในช่วงวิกฤตก็มีการซื้อเพิ่มเติม นิสิตทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เรื่องอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยมอบซิมการ์ดให้กับนิสิตที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตฟรี จึงการันตีว่านิสิตทุกคนจะมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ใช้งานตลอดสามเดือน จะมีปัญหาเล็กน้อยคือนิสิตที่อยู่ห่างไกลในบางพื้น มีปัญหาสัญญาณอินเตอร์เน็ตของค่ายมือถือ ซึ่งก็เป็นส่วนน้อย มหาวิทยาลัยก็เร่งแก้ปัญหาให้เป็นรายบุคคล เรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์พื้นฐานในการเรียนการสอนออนไลน์ในชั้นเรียนของตนเองจึงมีน้อย

ยอมรับว่าหากวิกฤตยิ่งยืดเวลายาวนานก็อาจส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะสภาพแวดล้อมจากการเรียนทางบ้านของนิสิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีความพร้อม พ่อแม่เข้าใจ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่รบกวนในเรื่องการเรียนการสอน ขณะที่บางคนอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด หรือไม่พร้อม ทำให้ขาดสมาธิในการศึกษา ซึ่งต่างกับการเรียนในห้อง ที่สภาพแวดล้อมบังคับให้นิสิตพยายามเรียนรู้ มีการปฏิสัมพันธ์ของผู้สอนกับผู้เรียน

ในส่วนระดับนโยบายรัฐที่ดูแลภาพรวมการศึกษาทั้งประเทศ เมื่อต้องแก้ปัญหาการเรียนการสอนด้วยระบบออนไลน์ ก็ขอให้คำนึงถึงความเสมอภาคเท่าเทียม การบังคับล็อกดาวน์ให้อยู่บ้าน ก็ต้องสร้างระบบการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image