อนาถแรงงานไทยในมาเลย์ ต้มแป้งผสมน้ำเป็นนมให้ลูกกิน ดิ้นสู้มาตรการสุดหิน รบ.ไทย

อนาถแรงงานไทยในมาเลย์ ต้มแป้งผสมน้ำเป็นนมให้ลูกกิน ดิ้นรนสู้มาตรการสุดหินของรัฐบาลไทย คาดตกค้างอีก 4 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก รักษาการประธาน The Patani เปิดเผยถึงปัญหาการช่วยเหลือนำแรงงานไทยกลับเข้าประเทศ ว่าตนได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข องค์กรที่รวบรวมแพทย์มุสลิมของประเทศไทย ซึ่งกำลังทำงานเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในระหว่างที่ทำงานเรื่องนี้ เราก็ทำในส่วนของการประสานงานพาคนไทยที่อยู่ที่มาเลเซียกลับเข้าไทย ทั้งนี้ เมื่อมาเลเซียประกาศมาตรการ Movement Control Order (MCO) หรือการปิดประเทศ ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มข้นมาก คนไทยที่อยู่ที่นั่นจึงไม่สามารถทำงานและไม่มีรายได้ จึงต้องการกลับไทย และเมื่อไทยประกาศปิดพรมแดนก็ทำให้กระบวนการต่างๆ ในการเดินทางกลับเป็นไปด้วยความยากขึ้น จากการประสานงานกับคนไทยฝั่งนั้นพบว่า คนไทยบางคนไม่ได้กินข้าวติดต่อกัน 1 สัปดาห์ มีเพียงมะพร้าวใช้ประทังชีวิต หรือบางคนไม่มีเงินซื้อนมผงให้ลูก ต้องนำแป้งสำหรับทำขนมผสมน้ำ และอุ่นเป็นนมแทน

นายอาเต๊ฟเปิดเผยว่า แรงงานไทยในมาเลเซียที่มีวีซ่าทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมายนั้นมีไม่ถึง 20% ของจำนวนทั้งหมด คือมีไม่ถึง 40,000 คน นอกนั้นเป็นแรงงานนอกระบบกว่า 200,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะมาก จากการประเมินคาดว่ามีแรงงานไทยตกค้างที่มาเลเซีย 30,000-40,000 คน

สำหรับกระบวนการขอกลับไทยมีปัญหาคือ ข้อกำหนดของรัฐบาลไทยที่กำหนดว่า คนไทยที่จะกลับเข้ามาจะต้องมีเอกสาร 2 อย่าง คือเอกสารที่ลงทะเบียนออนไลน์ของสถานกงสุล หรือสถานทูตเท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ไม่มีสมาร์ทโฟน และหลายคนไม่สามารถอ่านหนังสือได้ แม้เราจะมีทีมที่ช่วยลงทะเบียนให้ แต่ก็ยากที่จะได้รับการอนุมัติจากทางการไทย มีไม่ถึง 10% ที่ผ่านการอนุมัติ ขั้นตอนไม่ซับซ้อน แต่กว่าจะเข้าได้ก็ยากพอสมควร พูดให้เห็นภาพก็เหมือนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แม้จะผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ก็ต้องรอ 5-7 วัน เพื่อรับหนังสือยืนยันจากทางสถานกงสุล ซึ่งนับจากวันลงทะเบียนอย่างเร็วที่สุดในการจะกลับไทยได้ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

เมื่อได้รับใบรับรองจากสถานกงสุลก็ต้องรอให้ถึงวันใกล้เดินทาง 3 วันสุดท้าย ถึงจะสามารถไปขอทำใบรับรองแพทย์ที่มีอายุ 72 ชั่วโมง และจะต้องไปทำที่คลินิกที่ทางรัฐบาลไทยกำหนดเท่านั้น ซึ่งในแต่ละรัฐของมาเลเซียมีไม่กี่แห่ง และแต่ละรัฐก็มีขนาดใหญ่ การเดินทางออกไปข้างนอกก็ค่อนข้างยากลำบาก ทั้งเรื่องการเดินทางและการสื่อสาร เพราะการเดินทางเดียวที่ทำได้คือแกร็บ ซึ่งจำกัดให้โดยสารได้ครั้งละ 1 คน ค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งจึงสูงมาก

Advertisement

จากนั้นเมื่อเอกสารครบแล้วจะต้องเดินทางมาที่ด่านชายแดนที่ลงทะเบียนไว้ ซึ่งปัจจุบันเปิดใช้ 5 ด่าน ซึ่งเปิดให้ผ่านเพียง 50-100 คนต่อวัน รวมทั้งหมดก็ตกวันละ 350 คนต่อวัน และจะต้องมาถึงก่อนเที่ยงวันของเวลามาเลเซีย ทำให้คนที่อยู่ห่างไกลด่าน เช่น รัฐยะโฮร์ ที่อยู่ใกล้กับสิงคโปร์ ต้องมาถึงด่านล่วงหน้าก่อน 1 วัน อาจจะมานอนค้างที่โรงแรมแถวๆ นั้น บางครอบครัวลงทะเบียนมาทั้งพ่อแม่ลูก แต่ปรากฏว่า พ่อแม่ลงทะเบียนผ่าน ลูกต้องรออีก 1 วัน บางกรณีลงทะเบียนมา 20 คน แต่ผ่านคนเดียว จึงไม่สามารถเหมารถเดินทางมาที่ด่านได้

นายอาเต็ฟเปิดเผยอีกว่า ตอนนี้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่มีความรู้สึกว่ากระบวนการที่ยากลำบากนี้อาจจะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ในประเด็นความมั่นคงและการเมืองในพื้นที่ เราก็ยอมรับว่ามีหลายฝ่าย แต่เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันดีมาก แต่ก็ยังเกินศักยภาพที่ทำได้ เพราะขาดความชัดเจนเรื่องนโยบายของรัฐบาล เราสามารถประสานงานกับสันติบาล ฝ่ายความมั่นคง และรัฐบาลมาเลเซีย ทางการมาเลเซียพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ที่จริงเรื่องนี้ง่ายมาก และไม่ควรเป็นเรื่องของสถานทูตกับหน่วยงานภายในของมาเลเซีย แต่ควรเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลมาเลเซียที่จะต้องแก้ปัญหาเรื่องมนุษยธรรม และการดูแลคนไทยให้กลับประเทศในแบบที่ไม่นำความเสี่ยงกลับไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image