กกต.จัดเต็มโค้งสุดท้าย ลุยอีเวนท์-ตีปี้บปลุกโหวต 7 ส.ค.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมาระบุว่าสำนักงานเขตกทม.บางแห่งไถเงินพ่อค้าเพื่อทำป้ายรณรงค์ออกเสียงประชามติ ว่า ในการทำประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงจำเป็นต้องหาการสนับสนุนจากแหล่งต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งตามระเบียบ กกต.เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถให้การสนับสนุนได้ภายใต้กรอบกติกาว่าจะต้องไม่เป็นไปในเชิงพาณิชย์มากเกินไป เช่น ข้อความในป้ายที่ระบุว่าสนับสนุนโดยใครต้องอยู่ด้านล่างและเป็นตัวเล็ก รวมทั้งไม่รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองใด ๆ โดยเป็นแนวทางที่กกต.ของแต่ละจังหวัดจะไปพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ทำสิ่งที่รบกวนภาคเอกชนมากเกินไป แต่ในส่วนของสำนักงานเขต กทม.ไม่ใช่เรื่องของกกต. โดยต้องแยกส่วนกันเพราะเรื่องของกกต.คือสำนักงานกกต.กทม.ไม่ใช่สำนักงานเขตกทม. โดยเท่าที่สังเกตป้ายก็แตกต่างกัน คือ ถ้าเป็นของกทม.จะเป็นช้างแต่ของกกต.จะเป็นหนุมาน ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องสอบถามกับกทม.ไม่ใช่ กกต.

นายสมชัย กล่าวว่า กกต.ไม่ได้มีการจัดสรรงบประมาณหรือป้ายรณรงค์กับทางกทม.แต่จัดสรรให้กับสำนักงาน กกต.กทม.ในวงเงินประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างน้อยโดยกกต.มีการขอความร่วมมือไปยังทุกส่วนราชการเกี่ยวกับการรณรงค์ออกเสียงประชามติเพราะถือเป็นวาระแห่งชาติ และขอบคุณกทม.ที่มีเจตนาดีในการช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและรับรู้ถึงการออกเสียงประชามติครั้งนี้ ส่วนการไปขอสนับสนุนจากเอกชนนั้นก็ต้องพิจารณาตามกระบวนการภายในของหน่วยงานนั้น ๆ เพราะระเบียบของกกต.ใช้กับ กกต.เท่านั้น

ส่วนกรณีที่นายนิพิฐฏ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า กกต.มีความล่าช้าในการจัดกิจกรรมให้ถกเถียงเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ นายสมชัย กล่าวว่า การจัดกิจกรรมของกกต.มีมาตลอด แต่การจัดกิจกรรมเสริมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เพื่อให้ประชาชนรับรู้กว้างขวางมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ การที่สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า กกต.เพิ่งตื่นจัดกิจกรรมนั้นจึงเป็นการสื่อสารที่มีสีสัน แต่ไม่สร้างสรรค์ เพราะ กกต.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งจัดรายการทีวี 13 ครั้งใน 6 ช่องหลักกับทีวีดิจิตอล 20 ช่อง การรณรงค์ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือการแจกจ่ายเอกสาร ซึ่งในส่วนของการแจกจุลสารร่างรัฐธรรมนูญฉบับย่อให้กับประชาชน 17 ล้านครัวเรือนภายในวันที่ 18-22 กรกฎาคม หากใครไม่ได้รับสามารถแจ้งมาที่กกต.ได้จะได้แจ้งไปยังไปรษณีย์ที่เป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ เอกสารที่จะส่งไปยังประชาชนจะประกอบด้วย หนังสือแจ้งเจ้าบ้านเกี่ยวกับผู้มีสิทธิออกเสียง ใช้สิทธิที่หน่วยเลือกตั้งใด พร้อมกับแนบจุลสารที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการออกเสียงประชามติ สรุปเนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 6 หน้า และรายละเอียดเกี่ยวกับคำถามพ่วงอีก2 หน้า โดยขนาดของหนังสือจะเป็นขนาดA5 รวม 8 หน้า และจะมีการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มผ่านทางหนังสือพิมพ์จำนวน 5 ฉบับ เพิ่ม 2 ฉบับ จากเดิมที่กำหนดไว้ 3 ฉบับ โดยจะตีพิมพ์เป็นใบแทรกผ่านหนังสือพิมพ์ที่มียอดตีพิมพ์สูง นอกจากนี้ได้ประสานงานส่วนตัวไปยังไทยพีบีเอสเพื่อให้จัดรายการ 10 ครั้งครั้งละ 1ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม -5 สิงหาคม 2559 เวลา 13.00-14.00 น.ซึ่งจะมีการเชิญวิทยากรทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วมรายการฝ่ายละ 2 คน ทั้งนี้ กกต.จะไม่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาแต่ขอร่วมพิจารณาตัวบุคคลที่จะเป็นวิทยากรในรายการ

Advertisement

“ในส่วนของประเด็นผมได้ทำตุ๊กตาไปให้ 10 ครั้ง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรคยังอยู่หรือไม่ คนยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลในราคาถูกหรือไม่ เรื่องการศึกษาฟรี 12 ปี เบี้ยผู้สูงอายุ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านจะหายไปหรือไม่ หรืออาจจะเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศว่าถ้าจะไปยกดินแดนให้กับใครรัฐบาลทำได้เลยหรือไม่ ผ่านสภาแล้วถ้าไม่พิจารณาภายใน 50 วันจะมีผลบังคับใช้เลยหรือเปล่า เรื่องที่จะนำเสนอจะเป็นรูปธรรมจับต้องได้เป็นปัญหาปากท้องที่ประชาชนยังเข้าใจไม่ชัดเจน จึงต้องเอาคนร่างและคนที่มีความห่วงใยมาพูดแต่ไม่ใช่เอาคนที่ค้านหัวชนฝามาต้องเป็นคนที่ค้านอย่างมีเหตุผลด้วยความห่วงใยว่าเรื่องไหนจะกระทบสิทธิประชาชน ผมไม่เซ็นเซอร์แต่ขอดูตัววิทยากรเพื่อมีความเห็น และพร้อมช่วยประสานเป็นการส่วนตัวกับวิทยากรให้ด้วย โดยขอให้จัดรายการที่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียมไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และถ้าสื่อมวลชนรายใดสนใจที่จะจัดรายการขอให้แจ้งมาที่ผมได้เช่นเดียวกัน” นายสมชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image