ประกันสังคม จี้นายจ้างเร่งมารับรองลูกจ้างว่างงานด้วย ยัน มีเงินพอดูแลทุกคน

“ประกันสังคม” ย้ำ ขอให้ปชช.มั่นใจ เงินประกันสังคมเพียงพอดูแลผู้ประกันตนทุกคน พร้อมวอน นายจ้าง เร่งมารับรองการว่างงานให้ลูกจ้างด้วย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 4 พฤษภาคม ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. นายทศพล กฤตงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แถลงว่า ผลการดำเนินการกรณีการจ่ายเงินทดแทนสำหรับผู้ว่างงานโดยเหตุสุดวิสัยนั้น มีผู้ประกันตนมายื่นขอใช้สิทธิ์ทั้งสิ้นจำนวน 1,177,841 ราย โดยยื่นมาตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา แต่มีการยื่นซ้ำ รวมถึงบางกรณีไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 219,537 ราย เมื่อหักลบแล้วจะเหลือผู้มีสิทธิ์ทั้งสิ้นจำนวน 958,304 ราย ในจำนวนทั้งหมดนี้เราจะดำเนินการจ่ายได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้คือตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา โดยสำนักงานได้เร่งดำเนินการ สั่งจ่ายได้แล้วทั้งสิ้น 455,717 ราย เหลืออีก 207,895 ราย เราได้เร่งรัดดำเนินการโดยเพิ่มอัตรากำลังจากปกติ และให้มีการทำงานล่วงเวลา รวมถึงการทำงานในวันหยุดด้วย ทั้งนี้ การจะจ่ายเงินได้ลูกจ้างจะต้องยื่นร้องมา โดยนายจ้างจะต้องรับรองให้ลูกจ้างด้วย แต่ขณะนี้มีลูกจ้างจำนวนกว่า 294,629 ราย ที่รอนายจ้างรับรองให้อยู่ เรื่องนี้ สำนักงานประกันสังคมขอความร่วมมือนายจ้างทุกคนมามรับรองสิทธิ์ให้ลูกจ้างด้วย นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้เร่งรัดการทำงาน โดยระดมเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานทุกคนทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคออกประสาานงานกับนายจ้างให้ช่วยมารับรองสิทธิ์ให้ลูกจ้าง หรือบางท่านอาจจะได้เอสเอ็มเอส หรืออีเมลให้มารับรองสิทธิ์ให้ลูกจ้างด้วย

นายทศพล กล่าวอีกว่า ในจำนวน 4 แสนกว่ารายที่เราได้สั่งจ่ายไปแล้วเราใช้เงินไปทั้งสิ้น 2,354 ล้านบาท เรายืนยันว่าสำนักงานประกันสังคมมีเงินเพียงพอ เงินไม่ได้หายไปไหน เพราะเป็นเงินของพี่น้องผู้ประกันตน สรุปคือ ในแต่ละวันจะมีการยื่นแจ้งว่างานเข้ามาเฉลี่ยวันละ 30,000 คน ส่วนที่มีข้อสงสัย เรามีช่องทางโทรศัพย์สายด่วน 1506 ซึ่งจะมีคู่สายกว่า 250 คู่สายในการให้บริการ แต่ช่วงนี้อาจจะช้าบ้างเพราะวันหนึ่งมีคนติดต่อเข้ามามากเพิ่มขึ้นเป็น 11 เท่าตัวเลยทีเดียว ส่วนเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้น โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ทางกองทุนประกันสังคมดูแลผู้ที่ป่วยเทียบเท่ากับกองทุนข้าราชการ คือจะดูแลอย่างเต็มที่ พร้อมวางระเบียบ และระบบในเรื่องนี้ไว้แล้ว

ด้านนางพิศมัย นิธิไพบูลย์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้น เป็นเหตุที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราจึงมีช่องทางให้ลูกจ้าง และนายจ้างยื่นเรื่องเข้ามาผ่านระบบอีเซอร์วิส โดยจะมีรายละเอียดหน้าเว็บไซต์ประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เรามีบางส่วนพบว่า ยังมีนายจ้างบางคนที่ประกอบกิจการอยู่แต่ลูกจ้างยื่นเข้ามา ดังนั้น ลูกจ้างจึงจะไม่ได้รับสิทธิรับเงิน เนื่องจากยังได้เงินเดือนอยู่ อีกกรณีคือ นายจ้างหยุดกิจการก็จริง แต่ยื่นใช้สิทธิ์ตามมาตรา 75 คือจ่ายเงินร้อยละ 75% ของเงินเดือน ประกันสังคมถือว่าเงินตรงนั้นเป็นค่าจ้างที่ต้องนำส่งสำนักงานประกันสังคม ลูกจ้างก็จะไม่ได้ใช้สิทธิ์เยียวยาจากประกันสังคม โดยสำนักงานฯจะนำข้อมูลต่างๆเหล่านี้มาหักออกจากกรณีลูกจ้างที่รอรับรอง เพื่อที่เราจะได้มีกรณีที่เราบริหารต่อให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ ที่มีการถามเข้ามาว่า เงินเดือนเท่ากัน ทำไมถึงได้รับเงินไม่เท่ากัน ต้องเรียนว่า การวินัจฉัยจ่ายเงินวินิจฉัยตามช่วงเวลาที่มีการยื่นเข้ามา ซึ่งกฎกระทรวงมีผลตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น เรื่องที่ยื่นเข้ามาก่อนวันที่ 17 เมษายนนั้น เรานำมาวินิจฉัยให้ก่อน โดยได้ตัดจ่ายเงินให้ไปก่อน อาจจะไม่เท่ากันในครั้งแรกเพราะพิจารณาตามวัน แต่ในครั้งต่อไปจะเท่ากัน และเมื่อนำมารวมกันแล้ว ลูกจ้างจะได้รับเงินเท่ากัน ส่วนการคำนวนเงินสมทบที่ต้องมาคำนวนรายวันนั้น เราใช้ฐานค่าจ้างสูงสุดที่ผู้ประกันตนนำส่งเข้ามา กรอบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ถ้าไม่เท่ากันเราจะนำมารวมกันแล้วหาร 90 วัน ก็จะเป็นค่าจ้างต่อวัน จึงอาจจะได้ไม่เท่ากันเพราะมีเงินอื่นๆด้วย เช่น ค่าครองชีพที่รวมเข้ามา

ขณะที่ นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักเงินสมทบ กล่าวว่า เงินประกันสังคมที่อยู่ในส่วนของเงินลงทุน จำนวน 2.03 ล้านล้านบาทนั้น ร้อยละ 82 เป็นการนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เรานำไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่เลย และพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเข้ามาค้ำประกันให้ อีกนร้อยละ 18 ไปลงทุนในหน่วยลงทุนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจในความมั่นคง และเสถียรภาพของกองทุน เรามีความพร้อม และมีความเพียงพอที่จะจ่ายเงินในทุกกรณี ย้อนไป 10 ปี เรามีผลงานของการนำไปลงทุนอยู่ที่ 3.8% ดังนั้น ขอย้ำเรียนอีกครั้งว่า การลงทุนของสำนักงานประกันสังคมมีคณะกรรมการที่กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด และมีคณะอนุกรรมการบริหารการลงทุนอีก ส่วนกรณีที่สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 และลดอัตราเงินสมทบให้สถานประกอบการ จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 4 นั้น มีการสื่อสาร และให้ความรู้โดยเราจะคิดเพดานเงินเดือนที่สูงที่สุด ท่านก็จะได้รับเงินคืนตามเพดานเงินเดือนที่เราคำนวนมา ซึ่งมาตราการนี้จะทำให้มีเงินหมุ่นเวียนกลับไปยังวงผู้ประกันตนกว่า 17,000 ล้านบาท

Advertisement

เมื่อถามว่า มีกำหนดเวลาที่จะให้นายจ้างเข้ามายื่นรับรองหรือไม่ นางพิศมัย กล่าวว่า นายจ้างจ้องไปคุยกับลูกจ้างด้วยว่า มีใครยื่นเข้ามาบ้าง หรือลูกจ้างต้องแจ้งนายจ้างว่าได้ยื่นว่างงานแล้ว ขอให้ไปรับรองในระบบให้ด้วย แต่ถ้ายื่นเข้ามาพร้อมกันได้จะดีที่สุด ทั้งนี้ ไม่มีเดตไลน์เวลาการยื่นรับรองของนายจ้าง แต่อยากให้รวดเร็วที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image