คนตกสี : เพื่อนมนุษย์ในยามอันธการ : โดย กล้า สมุทวณิช

ผู้ที่ได้ติดตาม “พี่ตุ้ม” หนุ่ม เมืองจันท์ สรกล อดุลยานนท์ มายาวนาน คงทราบว่าพี่ตุ้ม
เป็นคน “เก็บอาการ” เก่ง

แน่นอนว่าเขาต้องมีความเชื่อความชอบมีฝ่ายฝั่งตามธรรมดา แต่เมื่ออยู่ในหมวกของผู้เล่าและ
ผู้ถ่ายทอด ตุ้มเผยท่าทีพอดีเพียงให้เราทราบว่าเขาคิดอย่างไรเห็นอย่างไร อาจมีบ้างที่จะกระทุ้งเบาบ้างแรงบ้างพอขำๆ แต่พี่ตุ้มไม่ค่อยจะ “ออกอาการ” ให้เห็นว่ามี “อารมณ์” หรือ “ความรู้สึกอย่างไร” กับเรื่องนั้น

ที่ใช้คำว่า “ไม่ค่อย” ก็เพราะว่ามันก็มีบ้าง ครั้งแรกที่จำได้ว่าจับสัมผัสได้ คือใน Podcast the Power game ในช่อง The Standard Podcast ตอนที่พูดถึงการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ผู้ฟังแฟนประจำหลายคนรู้สึกตรงกันว่า น้ำเสียงของพี่ตุ้มนั้นออกจะมีความเครียดขึ้งที่ปกปิดได้ไม่หมด

และล่าสุดเร็วๆ นี้ คือ ใน Podcast ตอน (EP) ที่ 51 ที่เล่าถึงเรื่องปัญหาในการเยียวยาผู้ประสบภัยจากวิกฤต COVID-19 ในประมาณช่วงนาทีที่ 16.30-17.00 ที่พูดถึงเรื่องประชาชนที่ไปรออุทธรณ์เรื่องเงินช่วยเหลือห้าพันบาทหน้ากระทรวงการคลัง ที่พี่ตุ้มพูดว่า

Advertisement

“…ผมนึกถึงรัฐมนตรี หรือข้าราชการกระทรวงการคลัง เวลาที่นั่งรถประจำตำแหน่งเข้าไปในกระทรวงการคลัง แล้วผ่านคนกลุ่มนี้ที่ยืนตากแดดตากฝนอยู่ และเข้าไปในห้องแอร์ เข้าไปในอาคารอันนี้ แล้วเขาเคยนึกบ้างไหมว่า ไอ้รถประจำตำแหน่งของเขาอาคารของเขานี่มันมาจากไหน มันก็มาจากภาษีอากรของประชาชน มาจากคนกลุ่มนี้แหละมาจากประชาชนทั่วไป แต่เชื่อไหมครับว่า คนกลุ่มนี้เนี่ย เขา ..เขา แค่เข้าร่มเงาของอาคาร … ยังไม่ได้เลย .. ต้องยืนอยู่หน้ารั้ว จะแค่จะเข้าไปในร่มเงา..นิดหน่อยยังไม่ได้เลย…”

ในช่วงท้ายของประโยค แฟนประจำทุกคนฟังออกว่า เสียงของพี่ตุ้มสั่นเครือจนตะกุกตะกักเหมือนติดลูกสะอื้นอยู่ในคอ อารมณ์ที่เปี่ยมล้นออกมาซึ่งเราไม่ค่อยได้ยิน ทำให้ผู้ฟังหลายคนจุก และถึงกับน้ำตาไหลตามๆ กันไป

และจะจุกยิ่งกว่านั้น หากเราโชคร้ายได้ไปรับรู้ถึง “ทัศนคติ” ของ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลังผู้เป็น “ข้าราชการ” คนหนึ่ง กล่าวถึงประชาชนเหล่านั้น ส่วนรายละเอียดอย่างไรขอให้ท่านไปหาอ่านข่าวย้อนหลังของวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมากันเองเถิด

Advertisement

นักเศรษฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักสังคมศาสตร์ ล้วนลงความเห็นตรงกันว่า ภาวะวิกฤต COVID-19 คือภัยคุกคามมนุษยชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบร้อยปี ไม่ต่างจากสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นภาวะที่ระเบียบสังคมล่มสลายหมดด้วยภัยสงคราม มนุษย์แสดงออกมาต่างๆ นานา ทั้งที่โหดร้ายจนไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์จะกระทำต่อกันได้ และที่มีน้ำใจจนไม่น่าเชื่อเช่นกันว่าจะมีคนที่เห็นแก่ผู้อื่นยิ่งกว่าตัวเองได้ถึงขนาดนั้น ในประวัติศาสตร์บันทึกทั้งวีรเวรและวีรกรรมของผู้คนใหญ่น้อยไว้ให้เราศึกษาเรียนรู้เป็นบทเรียนและภาพยนตร์ โดยไม่คาดหวังว่าจะมีวันที่เราจะได้เห็นเอง

หากเราขนลุกขนพองและตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่ของนาซีที่ดูแลค่ายกักกันชาวยิวหลายแห่งนั้น ทำงานแบบนั้นได้อย่างไรโดยไม่รู้สึกสลดหดหู่ ก็มีรายงานการสอบปากคำของผู้ที่ทำงานนั้นว่า เขาก็ไม่ได้มองอะไรเป็นอะไรเลย นอกจาก “ตัวเลข” สถิติที่เขาจะต้องรายงานไปยังหน่วยเหนือเท่าไร มีชาวยิวที่ถูกรมก๊าซกี่คน ป่วยและตายเองกี่คน ก๊าซหมดไปแล้วกี่ถังต้องสั่งเพิ่ม

พวกนี้คือ “ตัวเลข” ที่ตัดแยกออกจากมนุษย์…เช่นเดียวกับสถิติการฆ่าตัวตายเนื่องจากการตกงานอันเนื่องมาจากนโยบายปิดเมืองแบบก้ำกึ่งของรัฐบาล ก็เป็นตัวเลขที่เอามาคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบวัดกับการฆ่าตัวตายในวิกฤตเศรษฐกิจอื่นแล้วบอกว่า นี่ไม่ได้แย่นะ น้อยกว่าตั้งเยอะ เป็นไปตามการ
คาดการณ์ล่วงหน้า

เรื่องของพ่อที่กระโดดแม่น้ำตายเพราะตกงานและไม่เหลือเงินสักบาท ลูกสาววัยไม่เดียงสาก็กระโดดตามพ่อของเธอลงไปด้วย จึงเป็นเพียงตัวเลข “ผู้ฆ่าตัวตาย 2 ราย” ในรายงานนั้น แม่ที่รอให้ลูกหลับแล้วค่อยเข้าห้องน้ำไปผูกคอตายก็ 1 ราย กับเด็กกำพร้า 2 คน ในมือผุดผ่องสะอาดสะอ้านของพวกเขามีแสดงอยู่เพียงแค่นั้น เราไม่รู้ว่าเขาจะได้เห็นข่าวพวกนั้นบ้างหรือไม่ แต่ต่อให้เขาได้เห็น ความเป็น “มืออาชีพ” ของพวกเขาที่ตัดแยกความรู้สึกร่วมกับชะตากรรมของผู้อื่น ก็คงปรับจิตเขาให้กลับมาจดจ่อกับตัวเลขสถิติได้อยู่ดี

เมื่อสักเดือนที่แล้ว ผมได้เขียนเรื่องของ “เซลล์ประสาทกระจกเงา” (The Mirror Neuron) ซึ่งเป็นระบบประสาทธรรมชาติที่ทำให้เราสามารถรับรู้ถึงความรู้สึกและความเจ็บปวดของผู้อื่นได้เสมือนว่าความเจ็บปวดนั้นก็เกิดขึ้นกับตัวเองด้วย ที่อาจจะชี้ว่าแท้แล้วมนุษย์เรามีธรรมชาติที่จะมี Empathy หรือความรับรู้สุขทุกข์ของผู้อื่นได้เสมือนเป็นเนื้อหนึ่งกายเดียวกัน คือสิ่งที่เรียกว่า “มนุษยธรรม” หรือ “ภราดรภาพ” (Solidarity) ก็อาจจะสงสัยว่า แล้วเหตุใดเซลล์ประสาทกระจกเงาของคนเหล่านั้นไม่ได้สว่างวาบขึ้นเพื่อรับรู้ความทุกข์ยากของผู้คนหรือ

คำตอบของเรื่องนี้อาจเป็นเพราะว่า แม้ตามธรรมชาติแล้ว เราจะสามารถรับรู้สุขทุกข์ของผู้อื่นได้เสมือนเป็นความเจ็บปวดของเราเอง แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า เราต้องมองเห็นว่าคนอื่นนั้นมีส่วนร่วมบางอย่างกับเรา และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา คือสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้เช่นกัน

พูดง่ายๆ คือ แม้ความ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” จะเป็นธรรมชาติร่วมกันของมนุษย์ แต่ “ใจเขา” ที่มนุษย์ส่วนมากนิยมเอามาใส่นั้น จะเป็น “ใจเขาที่เรามีส่วนร่วม” ที่ “เรา” มีความพ้องตรงแม้สักส่วนใดส่วนหนึ่งกับ “เขา” เรื่องนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่าทำไมคนที่เคยมีลูก หรือเลี้ยงลูกเล็กๆ วัยหกเจ็ดขวบ จะรู้สึกเศร้า จิตตก และเสียน้ำตาให้ข่าวพ่อแม่ที่ฆ่าตัวตายแล้วลูกตามไปด้วยหรือทิ้งลูกไว้เบื้องหลัง นั่นเพราะเขาสามารถรับรู้ได้ทั้งความรู้สึกของผู้เป็นพ่อเป็นแม่และความรู้สึกของเด็กน้อยเหล่านั้น

แม้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราควรรับรู้ทุกข์สุขของมนุษย์ได้ในฐานะมนุษยชาติเผ่าพันธุ์เดียวกัน แต่เรานั้นต่างถูกแบ่งแยกมานานแล้ว ด้วยรูปลักษณ์สีผิว เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา ท้องถิ่น ที่ทำให้เรามุ่งมอง “ความต่าง” ของ “คนอื่น” และตัดแยกเราออกไป เมื่อเราเห็นว่าเราแตกต่างจากเขา ดังนั้น สิ่งที่เขาได้รับก็ไม่ใช่สิ่งที่เราอาจได้รับ พูดง่ายๆ คือเราไม่ได้มองว่าภาพของผู้ประสบทุกข์นั้นเป็นภาพของเราเสียแล้ว กระจกเงาในสัญชาตญาณของเราก็ไม่ทำงาน

ความแตกต่างนี้แบ่งย่อยออกไปได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อหรือรสนิยมทางการเมือง ที่เราเฉยๆ กับที่ผู้มีอุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองต่างจากเราถูกจับกุมคุมขังอย่างไม่ได้รับความยุติธรรมหรือแม้แต่ปลิดชีพโดยเงื้อมมือของรัฐอย่างไร้ผู้รับผิด เพราะเราคิดว่านั่นไม่ใช่เราหรือพวกเรา และเราคงจะไม่มีวันโดนแบบนั้น หรือแม้แต่ในวิกฤต COVID-19 ก็มี
ผู้ไม่ยี่หระกับความอดหิวและสิ้นหวังจนถึงกับฆ่า
ตัวตาย เพราะนั่นเป็นเรื่องของพวกไม่รู้จักเก็บออม พวกจิตใจอ่อนแอไม่สู้ชีวิต ไม่ใช่เราหรือคนอย่างเรา

ยิ่งมองจุดต่างของผู้อื่นมากเท่าไร เท่ากับเราสามารถตัดเยื่อใยความรู้สึกรู้สุขรู้ทุกข์ออกจาก “คนอื่น” ได้มากเท่านั้น หรือ “มืออาชีพ” บางคนจะมีวิธีการลดทอนคุณค่า มองชีวิตคนเป็นสถิติตัวเลข หรือมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวที่ถอนใจออกมาจากความรู้สึกร่วมได้ นั่นคือวิถีทางของคนฉลาด

บางครั้งคำว่า “ใจแคบ” กับ “ใจกว้าง” อาจจะหมายถึงพื้นที่ของความรู้สึกมีส่วนร่วมกับมนุษย์คนอื่นนั่นเอง ว่าใครจะมีข้อจำกัดหรือความรู้สึกแตกต่างนี้มากน้อยกว่ากัน

ในสภาวะที่ชวนสลดและสุขภาพจิตเสื่อมเช่นทุกวันนี้ ก็ยังมีแง่ดีที่ยังต้องขอบคุณโอกาสของตัวเองอยู่บ้าง ที่คนที่รู้จักรอบตัวทั้งในชีวิตจริงและโซเชียลเน็ตเวิร์กนั้น มีแต่คน “ใจกว้าง” ให้ชุบชูชีวิต

มิตรสหายท่านหนึ่งเป็นดาราชื่อดัง ซึ่งแน่นอนว่าภาวะเช่นนี้ไม่มีงานแสดงหรือพิธีกรใดๆ แถมกิจการของครอบครัวก็ยังเป็นกิจการร้านกาแฟและร้านอาหารที่รัฐห้ามคนนั่งกินที่ร้านอีกต่างหาก แต่เธอและพี่น้องมิตรสหาย ก็ยังมีแก่ใจริเริ่มทำกิจกรรม #เลี้ยงข้าวเพื่อน โดยแนวคิดที่ต่อยอดมาจากธรรมเนียมเลี้ยงกาแฟล่วงหน้า Caffe sospeso ของอิตาลี สำหรับการเลี้ยงข้าวเพื่อนนี้ คือการทำคูปองที่มีคนจ่ายค่าอาหารสำหรับคูปองนั้นไว้แล้ว สำหรับผู้อดหิว สามารถฉีกคูปองมาแลกอาหารได้ทันที นี่ไม่ใช่การแจกทานหรือการบริจาคเสียทีเดียว แต่มันคือการเปิดโอกาสให้เราสามารถเลี้ยงข้าวใครสักคนที่เราไม่รู้จักและมีความต้องการได้ ประโยคของเจ้าของร้านที่ว่า “คุณคือลูกค้า มีคนเลี้ยงข้าวคุณเอาไว้” จึงค้ำชูจิตใจของผู้ให้ และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้รับ

ผู้ใดสนใจอยากเลี้ยงข้าวเพื่อน หรือไปให้เพื่อนเลี้ยงข้าว สามารถติดต่อได้ที่ร้าน Coffee Tree ของทราย เจริญปุระ และร้านที่ร่วมโครงการอีกหลายร้านในซอย เช่น บะหมี่ปราบเซียน สาขา 3 ในซอยติวานนท์ 3 ใกล้ MRT สายสีม่วง สถานีกระทรวงสาธารณสุข

ส่วนมิตรสหายมนุษย์ Super Productive และ Podcaster ชื่อดังที่นับถืออีกท่าน ทำกิจการเครื่องสำอางชื่อดังของคนไทยที่รีแบรนด์มาจากสมุนไพรเก่าแก่ของครอบครัว ซึ่งยอดขายตกลงกว่า 75% เพราะห้างสรรพสินค้าปิด แต่เขาและหุ้นส่วนก็ยังเป็นห่วงเพื่อนบ้านรายรอบบริษัท ที่เป็นชุมชนของคนรายได้น้อย และเพื่อน SME ผู้ร่วมชะตากรรมในสภาวะเศรษฐกิจและข้อจำกัด จึงก่อตั้งโครงการแบบกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว ด้วยการหาซื้อข้าวสารอาหารแห้งจาก SME ที่กำลังมีปัญหา ไปแจกจ่ายให้แก่ชุมชนที่มีความต้องการผ่านทางสำนักงานเขตเพื่อไม่ให้มีปัญหากับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใครสนใจรูปแบบนี้ สามารถศึกษาวิธีการจากโครงการ “ศรีจันทร์ปันเพื่อนบ้าน” ของคุณ รวิศ หาญอุตสาหะ ได้

คุณก็อาจต้องลองมองหาคนรอบข้างที่ช่วยชุบชูใจและให้เราอุ่นใจในความเป็นมนุษย์เช่นนี้ ในยามที่สิ้นหวังทำให้เราเห็นความใจร้ายใจหินของหลายคน และช่วยเป็นกำลังใจมือไม้ให้เขา ในช่วงเวลาแบบนี้ ยิ่งต้องแน่ใจว่าเรายังรายล้อมไปด้วย “เพื่อนมนุษย์” ที่มีความเป็นมนุษย์เหมือนกันในห้วงยามอันมืดมิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image