พลันที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์เปิดเผยเป้าหมาย 14 ล้านคนที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ หากประสานกับตัว เลข 20 ล้านคนที่แสดงความจำนงผ่าน”เราจะไม่ทิ้งกัน”
ก็พอจะมองออกว่าเหตุใดจึงมีคนจำนวนมากมายไปออกันอยู่ที่กระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องทวงสิทธิ์
ก็พอจะเข้าใจว่าเหตุใดเมื่อมีข่าวเรื่องการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของไม่ว่าจะเป็นที่เชียงใหม่ หาดใหญ่ ชลบุรี นครราชสีมาและบนถนนเพชรเกษม
แถวจึงยาวเหยียดนับเป็นกิโล กิโล และไปเฝ้ารอตั้งแต่ก่อนเวลาที่นัดหมายด้วยซ้ำไป
คำถามก็คือรัฐบาลรับรู้ในเรื่อง”ตัวเลข”เหล่านี้หรือไม่
คำถามก็คือ เป็นการรับรู้ก่อนดำเนินมาตรการ”เข้ม”ก่อนประกาศและบังคับใช้สถานการณ์”ฉุกเฉิน”หรือไม่
หากดูจากระยะเวลาที่กทม.เริ่มมาตรการ”เข้ม”ในวันที่ 13 มีนาคม หากดูจากระยะเวลาที่ประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน”ในวันที่ 26 มีนาคม
เด่นชัดอย่างยิ่งว่า กทม.ไม่ได้คำนึงถึง”ตัวเลข”เหล่านี้ เด่นชัดอย่างยิ่งว่ารัฐบาลไม่ได้คำนึงถึง”ตัวเลข”เหล่านี้
แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งหัวโต๊ะ
ไม่ว่าจะเป็นหัวโต๊ะในฐานะประธานศบค. ไม่ว่าจะเป็นหัวโต๊ะในฐานะนายกรัฐมนตรี
คำว่า “บูรณาการ”จึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูง
คำว่า “บิก ดาต้า” อันเป็นส่วนหนึ่งแห่ง “ไทยแลนด์ 4.0”จึงมีความสำคัญเป็นอย่างสูง
หากไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงขั้น”รู้”
ปัญหาจากมาตรการ”เข้ม”และการประกาศบังคับใช้สถาน การณ์”ฉุกเฉิน”ก็จะวนเหมือนเขาวงกต ไม่มีทางออกเหมือนเดิม
เมื่อไม่มีลักษณะ”บูรณาการ”เสียแล้ว ปัญหาก็จะย่ำอยู่กับที่อย่าง ที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เคยตั้งเป็นข้อสังเกตภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
ยิ่งนายกรัฐมนตรีให้หลักประกันกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ยิ่งทำให้เกิดอาการสยดสยองในทาง “ความคิด”
แสดงให้เห็นว่าไม่ว่ามองผ่าน”ศบค.” ไม่ว่ามองผ่าน”ครม.” เท่ากับไม่ได้มีการสรุปความผิดพลาด ความล้มเหลวใดๆมาเป็น
“บทเรียน”เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งที่เป็นบทเรียนสำคัญในเรื่องการประสานระหว่าง”คำพูด” กับ “การลงมือทำ”ในทางเป็นจริง