เปิดเหตุผล สันติบาล ส่งข้อมูลให้กรมการปกครอง ทำ “เนติวิทย์” อดเป็นกรรมการแอมเนสตี้ฯ

เปิดเหตุผล ตำรวจสันติบาล ส่งข้อมูลให้กรมการปกครอง ทำ “เนติวิทย์” ชวดเป็นกก.แอมเนสตี้

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ ซึ่งเคยได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย แต่กระทรวงมหาดไทยไม่รับรอง ทำให้นายเนติวิทย์  ฟ้องอธิบดีกรมการปกครองในฐานะนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง กรณีใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นกรรมการสมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และฟ้องร้องดำเนินคดี รมว.มหาดไทย ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยวินิจฉัยอุทธรณ์ของสมาคมฯ ล่าช้าเกินกำหนดระยะเวลา

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นายเนติวิทย์ เปิดเผยหนังสือของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ส่งถึงอธิบดีกรมการปกครอง เกี่ยวกับข้อมูลของนายเนติวิทย์ อ้างว่าพบพฤติกรรมไม่เหมาะสม ขัดต่อการดำรงตำแหน่ง อาทิ พฤติการณ์ฝ่าฝืนต่อจารีตประเพณี อัตลักษณ์อันดีงาม โดยยกตัวอย่างการเคลื่อนไหว สมัยม.5 เรื่องการยกเลิกการไว้ผมสั้นในนักเรียน การใช้วิธีโค้งคำนับแทนการหมอบกราบพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ระหว่างพิธีถวายสัตย์เข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ  มีพฤติการณ์คัดค้านการเกณฑ์ทหาร การทำกิจกรรมอาลัยนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจีนที่เสียชีวิต การยืนรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ซึ่งทำให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งคสช.หลายกรณี

สำหรับ นายเนติวิทย์ เป็นผู้ก่อตั้งสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทยและกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เคลื่อนไหวทางการเมือง สิทธิ มาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ เช่นเรื่องทรงนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา รวมถึงวิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และการยกเลิกเกณท์ทหาร

เนติวิทย์เคยชวน โจชัว หว่อง นักกิจกรรมคนดังของฮ่องกง มาปาฐกถา ที่จุฬาฯ ก่อนถูกล็อกตัวไม่ให้ออกจากสนามบินเข้าไทย และถูกส่งกลับฮ่องกงจนเป็นข่าวดัง เคยได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ในปี 2560 เนติวิทย์และสมาชิกสภานิสิตฯ อีก 7 คนเดินออกจากพิธีของมหาวิทยาลัยจนเป็นข่าวดัง  รองอธิการบดีจุฬาฯ สั่งตัดคะแนนความประพฤติ ทำให้เนติวิทย์ขาดโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหรือลงสมัครในตำแหน่งต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตฯ

Advertisement

ต่อมา ยังเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในการประท้วงต่อต้าน คสช. และถูก คสช. ฟ้องร้อง ว่าเป็นผู้นำการประท้วง ละเมิดพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อมา ศาลสั่งปล่อยตัวกับนักเคลื่อนไหวโดยไม่มีเงื่อนไข

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยเสนอ “รางวัลสิทธิมนุษยชน” ประเภทเด็กและเยาวชนจากบทบาทการรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนในโรงเรียนให้เขา แต่เขาปฏิเสธ  ใน ปี 2561 เนติวิทย์เป็น 1 ใน 50 บุคคลชาวเอเชียที่น่าจับตามองแห่งปี (50 Asians to Watch) สาขาบุคคลสาธารณะผู้เคลื่อนไหวสังคม ประจำปี 2018 โดยสำนักข่าวสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ และได้รับเชิญให้เป็น 1 ในผู้กล่าวปาฐกถางาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 จากมูลนิธิ Human Rights Foundation ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่พูดถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน

ปัจจุบันเนติวิทย์ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และล่าสุด เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็น นายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image