“สุรชาติ บำรุงสุข” วิเคราะห์ ”รัฐประหาร”ตุรกีเหลว

กลายเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวโลกต่างให้ความสนใจกับข่าวรัฐประหารเหลวในประเทศตุรกี เมื่อทหารกลุ่มหนึ่งนำกำลังพร้อมอาวุธ หวังยึดอำนาจจากรัฐบาลของนายเรชิป เทย์ยิป แอร์ดวน ประธานาธิบดีตุรกี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เมื่อผู้นำเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านทหาร ชาวโลกจึงเห็นภาพประชาชนชาวตุรกีออกมาเดินตามท้องถนนเพื่อขัดขวางรัฐประหารครั้งนี้

ความล้มเหลวในรัฐประหารตุรกี มีคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ท่ามกลางความท้าทายของโลกประชาธิปไตย สุรชาติ บำรุงสุขŽ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ

สุรชาติเล่าย้อนหลังรูปแบบการปกครองของตุรกีว่า แม้ตุรกีจะเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ.2466 แต่ก็มีรัฐประหารเพียง 4 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือ พ.ศ.2540 นั้นเป็นการรัฐประหารเงียบ ซึ่งกองทัพได้กดดันรัฐบาลจนลาออก โดยไม่มีการนำกำลังหรือรถถังออกมาข่มขู่ อย่างไรก็ตาม การปกครองของตุรกีจะแยกการเมืองกับเรื่องศาสนาออกจากกันค่อนข้างชัดเจน และรัฐประหารซึ่งล้มเหลวครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเห็นผลสืบเนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายอิงกับศาสนาจนเกินไป ทำให้ทหารกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย จึงต้องการความเปลี่ยนแปลง

ถ้าพูดถึงบทบาทของกองทัพตุรกี สุรชาติมองว่า การทหารของตุรกีมีความคิดที่ว่า เมื่อไหร่ที่การเมืองหรือประเทศไม่มีเสถียรภาพ ทหารจะเข้ามายึดอำนาจ ทหารถูกสร้างให้เป็นผู้พิทักษ์ จากเดิมที่เป็นผู้พัฒนาความทันสมัย แต่รัฐประหารครั้งล่าสุดทำให้มีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นเหตุใดจึงล้มเหลว ย้อนกลับไปจะเห็นว่า ตุรกีเป็นแบบอย่างในการนำกองทัพให้มีความเป็นสมัยใหม่ ในสังคมที่ล้าหลังนั้น กองทัพตุรกีกลับมีความทันสมัย เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 จากนั้น พ.ศ.2476 ก็มีเรื่องวุ่นวาย แต่ประเทศตุรกีมีรัฐประหารหลังจากการเปลี่ยนแปลงถึง 37 ปี คือ พ.ศ.2503

Advertisement

ที่ผ่านมารัฐประหารในตุรกีเกิดจากความผันผวนทางการเมือง โดยทหารเข้ามามีบทบาท เมื่อทหารเข้ามามีบทบาทแล้วจึงได้วางบทบาทตัวเองผ่านโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ จากนั้นผู้นำทางทหารจึงเข้าสู่การเมืองด้วยการเลือกตั้ง รัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2514 เกิดจากการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสังคมตุรกี หมายถึงอุดมการณ์ซ้ายและขวา และตุรกีมีรัฐประหารอีกครั้งใน พ.ศ.2523 ซึ่งทหารเข้ามาเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมือง หลักการของตุรกีคือ การเมืองต้องไม่อิงกับศาสนา หากรัฐบาลละเมิดหลักการนี้ ทหารจะเข้ามาจัดการ

วิเคราะห์ความล้มเหลวในรัฐประหารครั้งนี้ว่า 1.เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ทางการเมืองซึ่งเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาพรรครัฐบาลปัจจุบันนั้น ชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีฐานมวลชนขนาดใหญ่ คุมเสียงประชาชนได้จริงๆ 2.การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ก่อนหน้านี้จะมีรัฐประหารเงียบเมื่อ พ.ศ.2540 การเลือกตั้งก็ไม่ได้สะดุด นั่นเท่ากับว่าตุรกีมีรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อ 36 ปีที่แล้ว บางทีคนหนุ่มสาวตุรกีอาจจะไม่รู้จักรัฐประหาร ไม่เคยเห็นภาพรถถังออกมาวิ่งบนถนน ไม่เคยเห็นทหารเอารถถังออกมาวิ่งยึดเมือง ซึ่งที่ผ่านมาระบบการเลือกตั้งได้วางรากฐานลงลึก คนยอมรับว่าเป็นกลไกทางการเมืองŽ

3.เมื่อรัฐประหารห่างกันถึง 36 ปี รัฐประหารจึงไม่มีเสียงสนับสนุนจากมวลชนเท่าที่ควร คนอาจจะไม่ชอบประธานาธิบดีและพรรคของเขา แต่คนประกาศชัดว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างรัฐบาลพลเรือนที่ไม่ดีกับการรัฐประหาร เขาจะอยู่กับรัฐบาลพลเรือนที่ไม่ดี นั่นหมายถึงคนไม่เอาระบอบทหารเหมือนในอดีต 4.ที่ผ่านมาประธานาธิบดีตุรกีได้จัดการกับกองทัพพอสมควร มีการนำทหารขึ้นศาล 2 รอบ คือ พ.ศ.2550 และ พ.ศ.2553 ลดบทบาทของทหารลงพอสมควร ซึ่งรัฐบาลมีขีดความสามารถในการควบคุมกองทัพได้จริง 5.การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) เปลี่ยนชุดความคิดของผู้นำตุรกี เป็นการยกระดับของภาพลักษณ์ผู้นำตุรกี ซึ่งการเมืองไม่ต้องมาจากการรัฐประหาร มีเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนŽ

Advertisement

นักวิชาการรายนี้อธิบายต่อไปว่า ทหารที่หวังยึดอำนาจครั้งนี้เป็นทหารระดับกลาง เปรียบเป็นนายทหารยศ พ.ต. และ พ.ท. ไม่ใช่ทหารระดับสูง ซึ่งไม่สามารถควบคุมสายบังคับบัญชาของกองทัพได้จริง พูดง่ายคือกองทัพตุรกีไม่ได้เคลื่อน แต่เป็นการเคลื่อนของทหารบางกลุ่ม ดังนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงถูกมองว่าไม่ใช่รัฐประหารแต่เป็นเพียงกบฏทหาร เหมือนการเมืองไทยในอดีต เช่น กบฏยังเติร์ก ภาพที่ออกมาจึงเห็นว่าทหารคุมอะไรไม่ได้ทั้งสถานการณ์และสื่อ

ขณะที่รัฐบาลเมื่อถูกก่อรัฐประหารก็ยังมีอำนาจในการต่อสู้ มีตำรวจอยู่ข้างรัฐบาล มีฐานมวลชนขนาดใหญ่ นอกจากนี้สื่อยังให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งแม้ทั้งมวลชนและสื่อจะไม่ชอบรัฐบาล แต่ชาวตุรกีเลือกแล้วว่าจะเอารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากกว่าเอาทหาร

บทบาทของสื่อยุคใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลทำให้รัฐประหารล้มเหลว สุรชาติเห็นว่า บทบาทของสื่อต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีความสำคัญ ยกตัวอย่างกรณีจัตุรัสเทียนอันเหมิน บทบาทของสื่อคือเครื่องแฟกซ์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ของไทย เครื่องมือสื่อสารในครั้งนั้นคือโทรศัพท์มือถือ มาถึงช่วงอาหรับสปริง เช่น ในอียิปต์ ขณะนั้นมีการใช้ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ และเมื่อมาถึงตุรกี พระเอกคือเฟซไทม์ ซึ่งรัฐบาลได้ใช้สื่อสารกับประชาชนให้ออกมาต่อต้านรัฐประหาร

ด้วยเหตุนี้วันนี้บทบาทของสื่อใหม่จึงน่าสนใจ ดังนั้น การรัฐประหารในยุคใหม่ หากผู้ทำจะไปยึดสถานีโทรทัศน์ก็อาจไม่มีความหมาย เพราะเครื่องมือสื่อสารอยู่กับทุกคน ทุกคนมีศักยภาพในการเป็นสื่อ

การเข้าร่วมของประชาชนในครั้งนี้มีความสำคัญ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สนับสนุนพรรครัฐบาล แต่พรรคฝ่ายค้านยังเอาด้วย นอกจากนี้ปัจจัยด้านการต่างประเทศก็เป็นที่น่าสนใจด้วยเช่นกันเพราะหลายประเทศไม่เห็นด้วย รัฐประหารเป็นสินค้าที่ขายไม่ออก คนรุ่นใหม่ไม่เอาแล้ว ชาวตุรกีเชื่อว่าถ้าไม่ชอบรัฐบาล ก็ต้องมาสู้กันด้วยการเลือกตั้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะต้องมาจากการเลือกตั้งไม่ใช่รัฐประหาร แม้แต่ฝ่ายค้านยังต่อต้านรัฐบาลŽ

แม้ว่าวันนี้ประชาธิปไตยจะมีความท้าทายจากหลายอย่าง ทั้งก่อการร้าย เศรษฐกิจ แต่อย่างน้อยมันให้หลักประกันแก่ประชาชนอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ชอบรัฐบาลเรามีโอกาสเปลี่ยนด้วยการออกเสียง ซึ่งในกรณีตุรกีจะทำอย่างไรไม่ให้มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ตรงนี้ไม่มีสูตรตายตัว และชัยชนะดังกล่าวจะนำไปสู่ความยั่งยืนหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะประธานาธิบดีตุรกีมีข้อครหาเรื่องการคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจ วันนี้จึงมีการกวาดล้างทางการเมือง คำถามคือหลังรัฐประหารล้มเหลวจะมีความสุดโต่งมากกว่านี้อีกหรือไม่ รัฐบาลจะนำนโยบายไปสู่การเป็นศาสนามากขึ้นหรือไม่Ž

สุรชาติทิ้งท้ายว่า ถึงที่สุดแล้วหากในอนาคต รัฐบาลตุรกีจะมีความเป็นอำนาจนิยม แต่ถึงอย่างไรอำนาจนิยมซึ่งมาจากการเลือกตั้งก็จะมีความชอบธรรมกว่าอำนาจของทหาร ที่มาจากรัฐประหาร

นั่นเป็นการวิเคราะห์เจาะลึกจากสุรชาติ บำรุงสุข ผู้ซึ่งศึกษางานด้านต่างประเทศมาเป็นเวลายาวนาน ต่อจากนี้คงต้องจับตามองการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลตุรกี รวมถึงการหาทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้อยู่ในความสนใจของชาวโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image