ผู้ตรวจการแผ่นดิน แนะ คลัง เพิ่มโต๊ะทวนสิทธิ เยียวยา 5พัน เร่ง บรรเทารายจ่ายช่วยนศ.

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงพื้นที่ติดตามผลยื่นทบทวนสิทธิ์เงินเยียวยา 5 พันบาท กำชับเพิ่มเจ้าหน้าที่โต๊ะรับเรื่องให้เพียงพอ รองรับการบริการ แนะ หามาตรการช่วยกลุ่มนร.-นศ. แบกรับค่าใช่จ่ายช่วงเปิดเทอมด้วย

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่กรมประชาสัมพันธ์ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 ร่วมประชุมหารือกับกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องการอนุมัติเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อชดเชยรายได้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยและร่วมลงพื้นที่รับเรื่องร้องเรียนบริเวณกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่และประชาชนที่เดินทางมาปรึกษาปัญหาจากการยื่นขอรับสิทธิ์ด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการขั้นตอนยื่นทบทวนสิทธิ์เป็นไปด้วยดี จากที่มีประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ จำนวน 28.8 ล้านคน มีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาแล้วประมาณ 13.7 ล้านคน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์สามารถยื่นทบทวนสิทธิ์ผ่านระบบออนไลน์ได้ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม ส่วนจุดรับเรื่องร้องเรียนบริเวณกรมประชาสัมพันธ์จะขยายเวลาให้บริการออกไปจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้กำชับให้กำกับดูแลจำนวนโต๊ะรับเรื่องและเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอเพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการ รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน บัญชีธนาคาร ให้ถูกต้องเพื่อป้องกันความผิดพลาดจนเกิดความล่าช้าในการรับเงินเยียวยา หรือควรแนะนำให้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารใดก็ได้ซึ่งจะสะดวกที่สุดในการดำเนินการ

พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม คือ ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้นักเรียน นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมในลักษณะจิตอาสา เพื่อช่วยแนะนำหรือช่วยดำเนินการให้แก่ประชาชนที่มาขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาต่าง ๆของรัฐ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งในวันข้างหน้า อาจมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก โดยเด็กนักเรียนนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญ เพราะมีความรู้และสามารถเข้าระบบออนไลน์ได้ดี สามารถช่วยเหลือหรือทำแทนได้ โดยเฉพาะคนสูงวัยที่ไม่คุ้นเคยกับระบบออนไลน์

ขณะเดียวกันช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ จะเปิดเทอมการศึกษาภาคแรก จึงขอให้ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาฯ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณามาตรการให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ที่ตนเองหรือผู้ปกครอง ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการเรียน เช่น ค่าบำรุงการศึกษา ค่าเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ เพื่อเตรียมการวางแผนหามาตรการช่วยเหลือตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนกรณีดังกล่าวได้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image