พล.ต.ต.สุพิศาล ถาม-ตอบ 7 ข้อ ชี้ ประชาธิปไตยดิจิทัล คือ New normal ยุคหลังโควิด-19
วันนี้ (8 พ.ค.) พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ 7 ข้อถาม-ตอบ ประชาธิปไตยดิจิทัล ยุคหลังโควิด -19 ผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
.
ถาม : มองสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร ?
ตอบ : นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มมาเยือนประเทศไทย การรับมือของรัฐบาลอาจมีติดขัดในช่วงแรก โดยเฉพาะการตัดสินใจที่ไม่เป็นเอกภาพ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดการไม่เป็นทางเดียวกัน ให้ข่าวคนละทิศคนละทาง แต่เมื่อตั้งตัวได้ ก็เข้าทางถนัดของรัฐบาลที่รวบอำนาจและรวมศูนย์การบริหารอยู่ส่วนกลาง มีความชำนาญในการออกข้อกำหนด ใช้อำนาจในการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ปัญหาก็คือ แม้จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง แต่ก็ส่งผลกระทบอีกมุมหนึ่งนั่นคือปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ซึ่งการเยียวยาประชาชนล่าช้าอย่างมาก ต้องมีการพิสูจน์สิทธิความยากจน และแสดงตัวว่าลำบากเดือดร้อน ข่าวคนฆ่าตัวตายรายวันเป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลต้องใส่ใจเรื่องนี้ให้มากๆ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคิดถึงนั่นคือ การมาถึงของยุคหลังโรคระบาด (Post Covid-19 Era) จะต้องเตรียมตัวและตื่นตัว รัฐบาลต้องประกาศความพร้อมให้ประชาชนได้รับทราบว่ามีการเตรียมตัวอย่างไร การเว้นระยะห่างทางกายภาพ (Physical Distancing) ที่พยายามรณรงค์กันก่อนหน้านี้ หลังยุคหลังโควิด – 19 จะต้องอยู่ในระดับไหน และประชาชนเราพร้อมกันหรือยัง สำหรับการปรับตัว เพราะโควิด -19 คงไม่หายไปจากเราแน่นอน ยังคงอยู่ แม้มีวัคซีนออกมาก็จะยังคงอยู่ แต่ผมเชื่อว่าคนไทยเราร่วมมือกันแล้วเก่งครับ เราจะผ่านพ้นไปได้
.
ถาม : ประชาธิปไตยดิจิทัล หรือ Digital Democracy คือ ?
ตอบ : Digital Democracy ถ้าจะเรียกเต็มๆ ก็คือ Digital Democracy : The Internet And Electronic Democracy in Thailand คือ หรือ “ประชาธิปไตยดิจิทัล” คือ ยุคที่ระบบอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทุกคนมีในครอบครอง เข้ามามีบทบาทกับการขับเคลื่อนประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ายุคหลังโควิด-19 จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “New normal” หรือ “ความปกติใหม่” ในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม นอกจากการปฏิบัติตัวของแต่ละบุคคลที่เปลี่ยนไปแล้ว จะมีข้อบังคับ ข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับดำเนินชีวิตของผู้คนออกมาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ออกมาบังคับ กำหนดนี้ ก็ไม่อาจที่จะทำลายหัวใจของประชาชนที่รักประชาธิปไตย คนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีความหวังที่จะเห็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่แท้จริง ประชาธิปไตย เสรีภาพ เสมอภาค และความเท่าเทียม ยังเป็นความหวังที่สมบูรณ์แบบในสังคมไทยยุคใหม่ และประชาธิปไตยดิจิทัลจะเกิดขึ้น แสดงถึงพลังของมวลมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ การเข้าถึงองค์ความรู้ การสื่อสารที่รวดเร็ว และเกิดสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทุกอย่างสามารถทำได้ทันทีในโลกเสมือน และสังคมที่เราเรียกว่า “สังคมโซเชียล” กำลังเติบใหญ่และรวดเร็วเป็นทวีคูณ คนไทยก็ได้รับประโยชน์ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็หนีไม่พ้นเช่นกัน
.
ถาม : คำว่าประชาธิปไตย On Time และ Online ?
ตอบ : ประชาธิปไตยดิจิทัลกำลังเริ่มและเคลื่อนตัวกลายเป็นระลอกคลื่นกระแสการเมืองที่มีความถี่มากยิ่งขึ้นหลังจากนี้ และจะรวมตัวกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ จากกรณีของ “Flash Mob” ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วก่อนหน้านี้ คนในสังคมเห็นแล้วว่าไม่ต้องมีการจัดตั้ง ไม่ต้องมีการปักหลักค้างคืน เป็นกลุ่มคนที่มารวมตัวกันแสดงออกอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้น และยุคหลังโควิด-19 กระแสที่สืบเนื่องมาจากครั้งนั้นยังคงอยู่ นักศึกษาที่เคยรวมตัวกันมากมายก่อนหน้านี้จะเปลี่ยนมาสู่พื้นที่ออนไลน์ ดังที่เราได้เริ่มเห็นกระแสแล้วของ Mob From Home และคนรุ่นใหม่กำลังจะกลายเป็นนักต่อสู้และผู้นำในยุคดิจิทัลนี้ พวกเขาเข้าถึงองค์ความรู้ ความคิด ของนักคิดจากทั่วทุกมุมโลกได้แบบออนไทม์ กำลังปลุกกระแสความคิด ผมเชื่อว่า Mob From Home นี้จะทวีจำนวนผู้คนและผู้ที่อยากเห็นประชาธิปไตยออกมาแสดงความเห็นในแง่มุมต่างๆ พร้อมกับการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาค ความเป็นธรรม ความเท่าเทียม เสมอภาคให้แก่สังคมอย่างต่อเนื่อง และจะไม่สามารถหยุดยั้งความคิดและการกระทำ ซึ่งจะปรากฏออกมาสู่โลกจริงส่งผลต่อชีวิตจริงได้ด้วย
.
ถาม : การปั่นป่วนในโลกดิจิทัล ?
ตอบ : การปั่นป่วนในโลกดิจิทัล หรือ Digital Disruption เกิดจากเทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้า เกิดสิ่งที่เรียกว่า “โลกโซเชียล” ซึ่งผู้คนที่ดำรงชีวิตในยุคนี้ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เพื่อติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าหาความรู้ ประกอบธุรกิจ บันทึกกิจกรรมต่างๆ ของชีวิต ฯลฯ ซึ่งข้อมูลดิจิทัลนั้นถูกใช้ในรูปของ ข้อความ ภาพ เสียง ฯลฯ อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แสดงผลที่ต้องการอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะปั่นป่วนระบบนี้ สร้างความวุ่นวายได้ด้วยเช่นกัน เพราะมนุษย์นี่เองที่เป็นคนป้อนข้อมูลให้กับระบบ เช่นในกรณีของการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นั้น การใช้ระบบ AI มาพิจารณาคัดเลือก ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ไม่ทั่วถึง และวุ่นวายจนผู้เดือดร้อนต้องบุกไปถึงหน้ากระทรวงการคลังเพื่อทวงสิทธิของตนเอง ซึ่งงานด้านความมั่นคงทางสาธารณสุข เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงระมัดระวังและรอบคอบให้มาก การตัดสินใจอำนาจปกครองเป็นสิ่งที่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และในโลกดิจิทัล ถ้ายังไมมี National Digital Identity ออกมาใช้เพื่อยืนยันการเป็นมนุษยที่แท้ ความวุ่นวายในโลกดิจิทัลจะคงดํารงอยู่แบบต่อเนื่อง การนำเอาเทคโนโลยีมานำเสนอผลงานของ ส.ส. ในเฟสบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ฯลฯ การบันทึกห้วงเวลา (Time) และสถานที่ (Place) เหตุการณ์ของ CCTV ที่มีอยู่ในที่สาธารณะ ล้วนแต่เป็นการบันทึกอดีตไว้อย่างมีหลักฐานรับฟังได้ ซึ่ง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ที่ผ่านสภาก็เจอกระแสป่วนนี้ไปแล้ว จนต้องมาลงมติใหม่ให้วุ่นวาย
.
ถาม : อินเตอร์เน็ตและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้คนเข้าถึง และติดตามการเมืองมากขึ้น ?
ตอบ : ชัดเจนแล้วว่า การถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภาก็ตาม มีคนไทยเฝ้าติดตามและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในขณะที่ผู้อภิปรายปรากฏในช่องการถ่ายทอดสดนั้นๆ มีการแสดงความคิดเห็นสดๆ หรืออาจจะชมย้อนหลังในเสี้ยววินาทีที่ผ่านไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเพจหรือโพสต์ในช่องทางการสื่อสารโซเชียลต่างๆ อีกมากมาย เพื่อแสดงความคิดเห็นสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคต เมื่อเทคโนโลยี งบประมาณมีเพียงพอ เราจะเกิดประชาธิปไตยแบบออนไทม์และออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ การลงประชามติในแพลตฟอร์มของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้ National Digital Identity : NDI ในการลงคะแนนของผู้มีสิทธิในเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง ย่อมต้องเกิดขึ้น เรื่องนี้ต้องตระหนักร่วมด้วยเพราะว่าไม่ช้าก็เร็วย่อมมาแน่
.
ถาม : ประชาธิปไตยดิจิตอลยุคหลังโควิด ?
ตอบ : ผู้คนส่วนใหญ่ที่มีหัวใจเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ต้องการสร้างความสมบูรณ์ จะมีส่วนร่วมและแสดงออกในทางการเมืองบนโลกดิจิทัลมากขึ้น และการเคลื่อนไหวจะเปลี่ยนไปจากเดิม คนไทยอยู่ในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดจากการที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบขนานใหญ่ โดยตัวผู้มีอำนาจในรัฐเองก็รู้สึกเช่นนั้น เพราะไปต่อแบบนี้ไม่ได้ หรือจากภาคประชาชนที่รวมตัวกันเสนอความต้องการผ่านรัฐสภาก็ตาม เราควรจะเตรียมรับมือด้วยการเท่าทันกับข่าวสารที่ออกมา พิจารณาอย่างมีสติ การได้แสดงความเห็นในปัจเจกบุคคลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ผลประโยชน์ของชาติในภาพรวมย่อมเหนือกว่าบุคคลหรือกลุ่มคน ยึดถือตัวบทกฎหมายในการแสดงออกทั้งความคิดเห็นต่างและที่มีส่วนร่วม หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง สร้างความคิดที่เป็นฉันทามติให้ได้ในระบบประชาธิปไตยออนไทม์และออนไลน์ ให้เกิดขึ้นอย่างมีคุณค่า
.
ถาม : มุมมองต่อคนรุ่นใหม่กับประชาธิปไตย ?
ตอบ : คนรุ่นใหม่มีความเป็นตัวตนสูง มีความรู้ ความสามารถมาก รักสิทธิและเสรีภาพบุคคล และเดือดร้อนร่วมกับผู้อื่นเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม เห็นการถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค เท่าเทียม นอกจากนี้มีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รับรู้ประวัติศาสตร์ประสบการณ์และการกระทำของรัฐที่ผ่านมาในแบบที่ต่างออกไปหรือที่รัฐพยายามปกปิดไว้ พวกเขาสามารถเข้าถึงและรับรู้ได้ เป็นกลุ่มคนจำนวนมากและจะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ ที่ต้องการเห็นประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ