“ศบค.” เตรียมชงเปิดสถานประกอบการ 3 กลุ่มเพิ่ม ย้ำ! ให้รอความชัดเจนวันที่ 15 พ.ค.นี้
เปิดห้าง- เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงการคลายล็อกเปิดสถานประกอบการบางประเภท ว่า ได้พูดคุยกับทางผู้บริหารของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และทางรอง ผบ.ทบ. พบว่าอินโฟกราฟิกที่มีการเผยแพร่ออกไปว่าจะให้สถานประกอบการบางประเภทเปิดนั้น ยังไม่เป็นเรื่องที่มีข้อสรุปชัดเจนจริงๆ ถ้าสุดท้ายจริง ต้องรอวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ซึ่งจะมีการประชุม ศบค.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตาม ตนได้รับมอบหมายจากท่านว่า งั้นวันนี้ให้ประกาศแบบไม่เป็นทางการไปก่อน เพื่อผู้ประกอบการจะได้เตรียมตัวในระยะที่ 2 (เฟส2) แต่ยังไม่ 100% ต้องรอวันที่ 15 พฤษภาคม โดยที่เคยประกาศไว้มีทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มกิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตประจำวัน
กลุ่ม ก. การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร และร้านอาหาร ร้านครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีมในอาคารสำนักงาน
กลุ่ม ข. ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ (ยกเว้น โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส โบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม ศูนย์พระเครื่อง สนามพระ และพระบูชา)
กลุ่ม ค. ร้านค้าปลีก-ค้าส่งอื่นๆ
กลุ่ม ง. ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในเวลาการบริหารไม่เกิน 2 ชั่วโมง) และร้านทำเล็บ
2.กิจกรรมด้านการออกกำลังกาย และการดูแลสุขภาพ
กลุ่ม ก. คลินิคเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามคุมน้ำหนัก
กลุ่ม ข. สนามกีฬา เฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้ง และตามกติกาสากลเล่นเป็นทีม ไม่มีผู้ชม
กลุ่ม ค. สวนดอกไม้ สวนพฤษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลอรี่ ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
กลุ่มที่ 3 กลุ่มอื่นๆ เช่น การประชุม ณ สถานที่ภายใน หรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่ อีกกลุ่มคือ ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป จำนวนไม่เกิน 5 คน
“นี่เป็นร่างอยู่ ต้องมีการประชุมกันอีก และอาจมีการเปลี่ยนแปลง เพราะต้องพูดคุยกันหลายฝ่าย มีบางรายการเข้ามาแล้วก็ต้องเอาออก หรืออาจมีบางรายการเอาเข้ามาใหม่ ซึ่งเราจะประเมินเอาที่มีความเสี่ยงต่ำก่อน” โฆษก ศบค. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการเปิดห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานที่ต่างๆ จะต้องมีการเก็บข้อมูล วันนี้แอพพลิเคชั่นในการติดตามตัวเพื่อเก็บข้อมูลมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีอยู่ในข้อกำหนดที่จะประกาศอออกมา
“แต่บางคนก็อาจะรู้สึกว่า หากมีแอพพ์ฯ ติดตามตัวแบบนี้ไม่เอาดีกว่า โทนแบบนี้ก็อยากเรียนว่า ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นเลย หลายคนเข้าร้านอะไรไปแล้ว มีการจดชื่อ ขอเบอร์โทร ก็คล้ายๆ กันอย่างนั้น หรือเปรียบกับการเช็กอินสถานที่ที่เราไป แอพพ์ฯ จะทำหน้าที่แบบนั้น ลองเปรียบเทียบกับกรณีเกาหลีใต้ที่มีการเข้าไปในสถานบันเทิง เขาสามารถบอกตัวเลขละเอียดลงไปในจำนวนหลักหน่วยได้เลย คือ 1,570 คน ที่ต้องไปติดตาม ที่เกาหลีใต้เขาใช้ระบบไอทีตามคนได้แบบนี้ เราก็ต้องมีระบบคล้ายๆ แบบนี้ เพื่อติดตามนำมารักษาตัว และท่านสามารถให้เรตติ้งร้านที่ท่านเข้าไปใช้บริการได้ด้วย ซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคมนี่เอง ที่จะทำให้เราผ่านระยะที่ 2 ไประยะที่ 3 และ 4 ไปด้วยกัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า เป็นความอิ่มอกอิ่มใจ จากโครงการที่เริ่มโดยคนไม่กี่คน แต่เป็นภาพที่แพร่กระจายกันไปทั่วประเทศ คือ “ตู้ปันสุข” ขณะนี้เพิ่มขึ้นมา 43 จังหวัด ในหลายๆ ชื่อที่ต่างกันออกไป
“นี่คือปรากฎการณ์ที่คนไทยด้วยกันได้แบ่งปันความรัก และให้การแบ่งปันน้ำใจกัน เราอยากเห็นภาพนี้ยั่งยืน และอยู่ตลอดไป ได้เห็นภาพที่ได้เป็นทั้งผู้ให้ และผู้รับ คิดว่า ถ้าเป็นไปได้อาจจะเห็นครบทั้ง 77 จังหวัด” โฆษก ศบค. กล่าว