บทนำ : เลิก‘ฉุกเฉิน’

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในสำรวจความเห็นประชาชน ว่าควรยกเลิกการใช้พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือไม่ โดยระบุว่า ขณะนี้เสียงสะท้อนหลายแนวทาง ได้แก่ 1.ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากกระทบการใช้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยอดผู้ติดเชื้อลดลง ควบคุมได้ 2.ให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ยังไม่อยากให้ต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และ 3.ให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะห่วงจะมีการระบาดอีกรอบ แต่ขอให้ผ่อนคลาย เช่น เลิกหรือลดเวลาเคอร์ฟิวจากเดิม เป็น 5 ทุ่มถึงตี 4

ก่อนหน้านี้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงถึงการคลายล็อกจากเฟสแรกเมื่อวันที่ 3 พ.ค. และกำลังเข้าสู่เฟส 2 ในวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งจะเปิดห้างขนาดใหญ่และกิจการหลายประเภท ล่าสุด ศบค.ยังแย้มว่าอาจเปิดสถานประกอบการบางประเภทเพิ่ม 3 กลุ่ม อาทิ จำหน่ายอาหาร ห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ ร้านเสริมสวยบริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง ร้านทำเล็บ คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามคุมน้ำหนัก สนามกีฬาเฉพาะกีฬากลางแจ้ง และตามกติกาสากลเล่นเป็นทีม ไม่มีผู้ชม กลุ่มสวนดอกไม้ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ นวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า) การประชุม ณ
สถานที่ภายใน หรือภายนอกองค์กร การบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่ ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป จำนวนไม่เกิน 5 คน ฯลฯ

การผ่อนคลายมาตรการที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังขยายต่อไป ก็เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ แต่ข้อกำหนดของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยเฉพาะเคอร์ฟิวจาก 22.00-04.00 น. เป็นข้อจำกัด แน่นอนว่าการแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ต้องป้องกันเต็มที่ แต่มาตรการที่เข้มข้นเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาในอีกมุมหนึ่ง ทางออกคือ จะต้องสร้างมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดแบบนิว นอร์มอล และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ ได้ทำอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวไปพร้อมกัน น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image