เผือกร้อน ในมือ “บิ๊กตู่” ผลตีความ มาตรา 7 กรณีสถาปนา “พระสังฆราช”

เผือกร้อน ในมือ "บิ๊กตู่" ผลตีความ มาตรา 7 กรณีสถาปนา "พระสังฆราช"

เผือกร้อน ในมือ “บิ๊กตู่” ผลตีความ มาตรา 7 กรณีสถาปนา “พระสังฆราช”

ผลตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาในมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ประเด็นขั้นตอนการเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชและแนวทางการปฏิบัติ

ทำให้เผือกร้อนกลับมาอยู่ในมือรัฐบาล

เนื่องจากมีความชัดเจนว่ามติมหาเถรสมาคม (มส.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ซึ่งเห็นชอบให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่

เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisement

ขณะเดียวกันก็ชัดเจน เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี ว่าจำกัดอยู่เพียงการนำนามสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ขึ้นนำความกราบบังคมทูล

ดังนั้น การที่มีบุคคลบางกลุ่มพยายามอธิบายว่า ขั้นตอนเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เริ่มต้นที่มหาเถรสมาคม

จึงเป็นความพยายามที่ล้มเหลว เป็นคำอธิบายที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

“อยากให้เข้าใจว่า วันนี้เรื่องมาตรา 7 จบแล้ว” นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

เมื่อผลตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมา เท่ากับยืนยันสิ่งที่มหาเถรสมาคมดำเนินการตั้งแต่ต้น เป็นไปตามขั้นตอน ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกฎหมาย

คำถามเผือกร้อนจึงตกอยู่กับนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากในมาตรา 7 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ วรรคแรกบัญญัติไว้

“ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

เมื่อมหาเถรสมาคมทำหน้าที่แล้วโดยถูกต้องเสร็จสิ้นตามหลักกฎหมาย

ต่อจากนี้จึงเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี จะสนองตอบในลักษณะเดียวกันหรือไม่

เป็นที่รับรู้ของสังคมในวงกว้างว่า

หัวใจสำคัญของมติมหาเถรสมาคมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 คือ

เห็นชอบให้เสนอนามสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ไม่เพียงเป็นมติถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย ยังเป็นมติแสดงถึงความเป็นเอกภาพของกรรมการมหาเถรสมาคม ทั้งในฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

แต่ก็เป็นที่รับรู้ของสังคมด้วยเช่นกันว่า

มติมหาเถรสมาคมดังกล่าวได้ถูกคัดค้านหัวชนฝาจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่รู้จักกันในนาม “แก๊ง 3 พ.” ประกอบไปด้วยฆราวาส 2 คนกับพระอีก 1 รูปพร้อมเครือข่าย

ที่มีความพยายามขัดขวางทุกรูปแบบ

ไม่ว่าด้วยเรื่องของการครอบครองรถเบนซ์โบราณ ไม่ว่าการลากโยงเข้ากับกรณีพระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย

ไม่ว่าความพยายามขยายประเด็นสมเด็จพระสังฆราช ให้เป็นความขัดแย้งในหมู่สงฆ์ระหว่างมหานิกายกับธรรมยุติกนิกาย

ไม่ว่าการยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7

รวมถึงการยื่นร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า อำนาจเริ่มขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่เป็นของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่มหาเถรสมาคม

จากนั้นแผนสกัดก็รับ-ส่งต่อกันเป็นทอดๆ

จากอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แนวร่วม กปปส. ยื่นเรื่องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่รับเรื่องไว้แล้วส่งต่อไปยังรัฐบาล ก่อนไปสิ้นสุดที่คณะกรรมการกฤษฎีกา

ทุกอย่างดูเหมือนสอดประสานกันราบรื่น

และน่าจะเป็นเช่นนั้นไปจนจบ หากว่าผลตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ออกมาตรงกันข้าม กับความเห็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและฆราวาสผู้ยื่นเรื่อง

แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่นำนามสมเด็จพระราชาคณะที่ได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม ขึ้นนำความกราบบังคมทูล

มีท่าทีต่อผลตีความที่ออกมาอย่างไร

หากใครติดตามฟังคำให้สัมภาษณ์

ทั้งของ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย

หรือแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเองก็ตาม

ก็พอประเมินได้ว่า ขั้นตอนการนำนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน

เพราะยังต้อง “ตรวจสอบอะไรบางอย่าง”

เรื่องที่ควรจบ ก็เลยต้องยืดเยื้อต่อไป

ยังไม่นับรวมถึงกรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ยังคงยืนกรานความเห็นเดิม ว่าขั้นตอนเสนอนามสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ ต้องเริ่มต้นที่นายกรัฐมนตรี

ขณะที่กลุ่มคัดค้านสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้เข้ายื่นหนังสือผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรี

อ้างว่าผู้ได้รับการเสนอนามเป็นสมเด็จพระสังฆราชยังมีคดีความ และล่วงละเมิดพระธรรมวินัย จึงขอให้ระงับขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อดำเนินการตรวจสอบให้รอบคอบและแล้วเสร็จ

ความพยายามสกัดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์แบบไม่ยอมเลิกรา

ตรงนี้เองเป็นแรงผลักดันให้ พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันทสาโร) เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) ต้องออกมาเรียกประชุมด่วนภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

ก่อนมีมติขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะไปตามกระบวนการที่ควรจะเป็น โดยฟังความเห็นให้รอบด้าน รอบคอบ คำนึงถึงความสงบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์และพุทธศาสนิกชน

โดยจะรอดูท่าทีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้านการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ภายใน 1 สัปดาห์ หากฝ่ายต่อต้านยังเดินเกมไม่หยุด ภาคีเครือข่ายองค์กรชาวพุทธจะกำหนดท่าที่เคลื่อนไหวร่วมกัน

ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลยืนยัน ขณะนี้เรื่องทั้งหมดได้พ้นหน้าที่ของมหาเถรสมาคมแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559

จากนี้ไปเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งยังระบุระยะเวลาที่แน่นอนไม่ได้ ว่าจะช้าหรือเร็ว

จึงต้องติดตามดูกันต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะใช้อำนาจจัดการกับ “เผือกร้อน” ในมืออย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image