“ก้าวไกล”หวั่นรบ.กดดันสภาเร่งผ่านกม.โอนงบฯ เผยหลายหน่วยไม่ยอมตัดงบไม่จำเป็นทิ้ง

ศิริกัญญา ตันสกุล
‘ศิริกัญญา’ หวั่นรัฐบาลกดดันสภาเร่งผ่าน พ.ร.บ.โอนงบฯ รวดเดียว เผย หลายหน่วยงานไม่ยอมตัดงบไม่จำเป็นทิ้ง

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดทำร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา ว่า 1.จำนวน 1 ใน 3 ของงบที่ปรับลดเป็นเงินใช้หนี้ งบที่ถูกปรับลด 1 แสนกว่าล้านบาทนั้นอาจดูเหมือนเยอะ แต่จริงๆ แล้วงบกว่า 1 ใน 3 จำนวนกว่า 36,612 ล้านบาทเป็นงบชำระหนี้ โดยแบ่งเป็นชำระต้นเงินกู้ 35,693 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 919 ล้านบาท ส่วนที่เป็นงบประมาณที่ถูกคืนจากแต่ละกระทรวง และแผนบูรณาการ จำนวน 61,161 ล้านบาทนั้น เราก็ไม่ทราบว่าแต่ละหน่วยงานได้ส่งคืนงบถึงเป้า 10% ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพันตามมติ ครม. หรือไม่ เพราะไม่สามารถสืบค้นได้ว่าวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน ณ ปัจจุบันมีเท่าใด จึงคาดหวังว่าหน่วยงานต่างๆ ควรจะปรับลดงบประมาณของตัวเองได้มากกว่านี้

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า 2.กระทรวงก่อสร้าง-จัดซื้อครุภัณฑ์คืนงบเยอะที่สุด กระทรวงที่โอนงบคืนมากที่สุด คือกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นกระทรวงที่ได้งบประมาณเป็นจำนวนมาก และงบส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและจัดซื้อครุภัณฑ์ รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ส่วนรัฐวิสาหกิจที่โอนงบเยอะส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรงบเพื่อเป็นงบลงทุนเช่นเดียวกัน โดย 3 อันดับแรกคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รองลงมาคือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่น่าสนใจคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โอนงบคืนเพียง 124 ล้านบาท จากที่ได้รับการจัดสรรงบ 6,437 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2% เท่านั้น ทั้งที่ช่วงเวลานี้ไม่เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว

3.หน่วยงานไหนไม่คืนงบบ้าง ถึงแม้จะเป็นมติ ครม. ให้ทุกหน่วยรับงบประมาณคืนงบ 10% ของวงเงินคงเหลือที่ไม่มีข้อผูกพัน แต่ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมมหกรรมคืนงบ ไม่นับกองทุนและรัฐวิสาหกิจ ยังมีอีก 16 หน่วยงานที่ไม่มีการคืนงบประมาณ นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขแล้ว ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปถึงสาเหตุที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่คืนงบประมาณ ตัวอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่ในการตั้งงบประมาณมีจำนวนมากที่เป็นกิจกรรมจัดอีเวนท์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ ทำไมจึงไม่มีการคืนงบประมาณในส่วนนี้

4.ตัดโครงการไม่หมด ไว้ผ่อนจ่ายปีหน้า เมื่อทีมงานได้ลงไปเจาะดูในรายละเอียดรายรายการ พบว่าเป็นการตัดงบประมาณโครงการที่ผูกพันไปหลายๆ ปี หรือเป็นผ่อนจ่ายเป็นงวดๆ โครงการละ 5% แทนที่จะตัดงบโครงการที่ไม่จำเป็นและที่ไม่สามารถทำได้ทั้งโครงการออกทั้งหมด การลดงบประมาณบางส่วน เฉพาะงวดที่ต้องจ่ายปี 63 ทำให้ทำให้ถ้าเรามองอย่างผิวเผินในปีเดียวเราจะคิดว่างบประมาณที่ใช้ลดลง แต่ความจริงแล้วงบยอดงบประมาณเหล่านี้ก็จะไปพอกพูนเป็นงบที่ต้องผูกพันในปีต่อๆ ไปอยู่ดี

Advertisement

“โดยเฉพาะงบปี 64 ซึ่งจะต้องรื้อแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดที่จะยังคงอยู่กับเรา ถ้าส่วนราชการจะพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าโครงการใดมีความจำเป็นเร่งด่วน หรือต้องพักเอาไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ เพื่อไม่ให้โครงการนั้นไม่เป็นภาระกับงบประมาณในอนาคต หวังว่าข้อสังเกตบางประการตรงนี้จะส่งถึงรัฐบาลให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. โอนงบ 63 ให้มีความสมบูรณ์และสมเหตุสมผลมากกว่านี้ และช่วยกรุณาแนบข้อมูลผลการเบิกจ่ายมาให้พิจารณาร่วมด้วย ยิ่งมีข่าวมาว่าจะกดดันให้สภาต้องพิจารณา 3 วาระรวด ก็ควรจะอำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาเป็นได้อย่างราบรื่น”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราเข้าใจดีว่างบประมาณส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ทุกข์ร้อน แต่อย่าเอาประชาชนมาเป็นตัวประกันให้เราเร่งผ่านกฎหมายโดยไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ขอให้ผู้แทนราษฎรได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราได้อย่างเต็มที่เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image