รายงานหน้า 2 : ‘ธนินท์’เลคเชอร์ฝ่าโควิด กู้นอก 3 ล้านล.ยืดชีพจรธุรกิจ

รายงานหน้า 2 : ‘ธนินท์’เลคเชอร์ฝ่าโควิด กู้นอก 3 ล้านล.ยืดชีพจรธุรกิจ

รายงานหน้า 2 : ‘ธนินท์’เลคเชอร์ฝ่าโควิด กู้นอก 3 ล้านล.ยืดชีพจรธุรกิจ

หมายเหตุนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงรายละเอียดจดหมายตอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ขอความร่วมมือจากนักธุรกิจชั้นนำให้ร่วมช่วยชาติฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นการนำเสนอแยกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยโครงการที่ทำอยู่ โครงการที่กำลังทำเพิ่มเติม และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

ส่วนแรก โครงการที่เครือซีพีได้ทำในเบื้องต้นวงเงิน 700 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงงานหน้ากากอนามัยฟรี 100 ล้านบาท เพิ่มงบผลิตหน้ากาก 75 ล้านบาท บริจาคอุปกรณ์การแพทย์ 30 ล้านบาทและโครงการอื่นๆ รวมถึงโครงการมอบอาหารให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้กักตัว 200 ล้านบาท มอบงบ 77 ล้านให้กับ 77 โรงพยาบาล วงเงิน 176.6 ล้านบาท แจกอุปกรณ์สื่อสารให้โรงพยาบาล 120 ล้านบาท ทั้งดาต้า หุ่นยนต์ ซิม และอินเตอร์เน็ต

ในส่วนที่สาม ได้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในมุมมองของซีพี ได้แก่ มาตรการด้านดิจิทัลในยุคนิวนอร์มอล มาตรการดึงดูดคนเก่งและผู้เชี่ยวชาญมาอยู่ในเมืองไทย มาตรการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว สู่ศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น และมาตรการปฏิรูประบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกร 100%

Advertisement

ดังนั้น ในส่วนที่สอง จึงนำเสนอโครงการที่เครือซีพีวางแผนดำเนินการเพิ่มเติม และเป็นหน่วยหนึ่งในการนำเสนอรัฐบาล ได้แก่ โครงการปลูกน้ำ โครงการเกษตรผสมผสาน โครงการแพลตฟอร์มออนไลน์ และโครงการวิจัยสู้ภัยโควิด-19

โดยโครงการเกษตรผสมผสาน หรือ เกษตรผสมผสานในยุค 4.0 โดยจะขยายโครงการต้นแบบแนวคิด “3 ประโยชน์ 4 ประสาน” เรื่องนี้ซีพีได้ทำจริงมีประสบการณ์มาแล้ว ขณะนี้กำลังเลือก 2- 3 จังหวัดของไทย นำร่องทำเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน โมเดล 3 ประโยชน์ 4 ประสาน เป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย คือ รัฐบาล เอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ประการ คือ ต่อประเทศ ต่อประชาชน และต่อองค์กร ที่นำเสนอนายกรัฐมนตรีเพราะถือเป็นการฟื้นฟูเกษตรกรจากพิษเศรษฐกิจโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยียุคเกษตร 4.0 ก่อนหน้านี้ในไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ดำเนินโครงการเกษตรกรรมทันสมัยเพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้เพื่อยกระดับเกษตรกรอย่างยั่งยืน หลายโครงการ อาทิ โครงการเกษตรกรรมหนองหว้า อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จากพื้นดินรกร้างว่างเปล่ากว่า 1 พันไร่ ส่งเสริมอาชีพให้เลี้ยงสุกร จนถึงปัจจุบันกลายเป็นตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จ มีความเข้มแข็งสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง มีผู้เดินทางมาศึกษาดูงานจากทั่วโลก จากนั้นก็ไปทำสำเร็จในจีน ได้แก่ โครงการไก่ไข่ครบวงจร 3 ล้านตัวที่ผิงกู่ นครปักกิ่ง โครงการไก่เนื้อ 100 ล้านตัวต่อปี หมู 1 ล้านตัวต่อปี รวมถึงโครงการเกษตรกรรมทันสมัยฉือซี พัฒนาพื้นที่ 8,000 ไร่ มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งเป็นเกษตรผสมผสานแบบทันสมัยครบวงจรที่อยู่ใกล้เมือง ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ โดยให้ทุกอย่างอยู่ในจุดเดียวกัน ครบทั้งด้านพืชผักและปศุสัตว์ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำการเกษตร อาทิ นำระบบจีพีเอส และคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องไถนา โดยไม่ต้องใช้คนขับ ช่วยลดต้นทุนและควบคุมประสิทธิภาพผลผลิต สามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ว่าพืชแต่ละชนิดเริ่มปลูกเมื่อไหร่ และนำสถิติไปสแกนคิวอาร์โค้ด ดูข้อมูลย้อนหลังของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้นผ่านสมาร์ทโฟนได้ สำหรับโครงการนี้วางแผนให้เป็นแหล่งผลิตอาหารป้อน 100 ล้านคนรอบนครเซี่ยงไฮ้ ในเบื้องต้นมีมูลค่าโครงการ 4,000-5,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 20,000-25,000 ล้านบาท

ในไทยปีนี้น่าจะได้นำร่อง 3-4 แห่ง ที่จะหาพื้นที่เลี้ยงหมูล้านตัน ไก่ 3 แสนตัน/หมู่บ้าน โดยใช้วิธีการแบ่งปัน เกษตรกรลงทุนพื้นที่ โดยบริษัทลงทุน ทำตลาด ทำการขาย รายได้ก็แบ่งคืนให้เจ้าของที่ดิน ซึ่งเจ้าของที่ดินยังสามารถขยายตัวธุรกิจเกี่ยวข้องได้อีก ทั้งเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเพื่อทำอาหารเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักหรือผลไม้ โดยเกษตรกรจะได้รายได้สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำ 2-3 เท่าตัวแน่นอน ในอนาคตจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย

โครงการปลูกน้ำ เกษตรที่งอกจากแผ่นดินไทย บนดิน ผมเรียกว่าน้ำมันบนดิน สินค้าเกษตรมีความสำคัญยิ่งกว่าน้ำมัน เพราะสินค้าเกษตรเลี้ยงชีวิตมนุษย์ แต่น้ำมันเลี้ยงชีวิตเครื่องจักร แล้วใครสำคัญกว่ากัน นี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติยิ่งกว่าน้ำมัน อย่างญี่ปุ่นให้ความสำคัญของเกษตรกร รัฐบาลญี่ปุ่นถือว่าเกษตรกรเป็นฐานของประเทศ ทำให้สินค้าเกษตรของญี่ปุ่นแพงที่สุดในโลก รายได้เกษตรกรสูงที่สุดในโลกด้วย ชาวนาญี่ปุ่นรวยกว่าชาวนาสหรัฐอเมริกาเสียอีก

ดังนั้น ในจดหมายเน้นย้ำว่าเกษตรกรเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศ การพัฒนาด้านเกษตรต้องคิดแบบครบวงจร เพื่อความยั่งยืน คือเกษตรกรต้องมีรายได้เพียงพอต่อการปลดหนี้ และเลี้ยงครอบครัวได้ระยะยาว

แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยอยู่ภายใต้ความเสี่ยงสูง 3 ประการคือ 1.เงินทุน 2.ภัยธรรมชาติ และ 3.ราคาสินค้าเกษตรที่ไม่แน่นอน ที่สำคัญมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ด้านชลประทานที่ขาดการบริหารจัดการ ทั้งที่ไทยมีฝนตกต่อปีจำนวนมาก แต่เก็บในอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนทั้งประเทศเพียง 10% ในแหล่งน้ำธรรมชาติอีก 28% แต่กลับปล่อยให้น้ำ 62% ไหลลงสู่ทะเล ขณะที่น้ำใต้ดินอีกจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลเช่นกัน

ดังนั้น ขอเพียงการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังก็จะช่วยเกษตรกรได้มาก และมีทางเลือกที่จะปลูกพืชมูลค่าสูงที่ต้องใช้น้ำปริมาณมากได้ จะทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกมากและหลากหลายขึ้น สามารถทำเกษตรผสมผสานได้ และยังขยายไปเรื่องปศุสัตว์และการท่องเที่ยวได้ด้วย เรื่องนี้ 62% หากมีการบริหารจัดการจะมีศักยภาพที่นำมาใช้ได้อีก 33% หรือใช้น้ำบาดาลมาทำประโยชน์ให้มากขึ้น ซึ่งกำลังให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรเจ้าของที่ดินในพื้นที่ลุ่ม ขุดบ่อกักน้ำ เพื่อใช้งานและจำหน่ายให้กับพื้นที่ใกล้เคียงเหมือนกับขายไฟฟ้า กำลังดูพื้นที่อยู่ 3-4 แห่ง เป็นต้นแบบ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนและนำร่องเพราะมีการเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและระเบียบกฎหมาย เป็นเรื่องที่ควรนำทั้งประเทศ เป็นการต่อยอดจากแก้มลิงแต่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ และบริการจัดการเป็นโซนนิ่ง เป็นสมาร์ทฟาร์ม

ผมเห็นด้วยที่รัฐบาลจะทยอยคลายล็อกประเทศ ทยอยให้ธุรกิจเปิดให้บริการอีกครั้ง เพราะการประกาศให้ธุรกิจหยุดชั่วคราว (ล็อกดาวน์) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อวันประมาณ 18,670 ล้านบาท (จากข้อมูลคุณสมหมาย ภาษี) ดังนั้น ปิด 1 เดือนเสียหายรวมประมาณ 4.5 แสนล้านบาทถึง 5 แสนล้านบาท ปิด 2 เดือนเสียหาย 1 ล้านล้านบาท หากปิดอีก 1 เดือนเสียหายเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาท หากธุรกิจเจ๊งเศรษฐกิจก็จะเสียหายหนัก นอกจากนี้ ได้ทำการประเมินว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อวันต่อจีดีพีด้านรายจ่ายจะเสียหายประมาณวันละ 15,010 ล้านบาท หรือ 32.5% ของจีดีพีต่อวัน ประเมินจากจีดีพีด้านผลผลิตจะเสียหายประมาณวันละ 16,460 ล้านบาท หรือ 35.6% ของจีดีพีต่อวัน เทียบจีดีพีเฉลี่ยต่อวันปี 2562 ของไทยมีมูลค่า 46,240 ล้านบาท หากเทียบเคียงกรณีออสเตรเลียเสียหายต่อวัน 4,800 ล้านบาท หรือ 10.4% ของจีดีพีต่อวัน กรณีฝรั่งเศส เสียหาย 14,800 ล้านบาทต่อวัน หรือ 32% ของจีดีพี กรณีสหราชอาณาจักร เสียหาย 16,185 ล้านบาท หรือ 35% ของจีดีพี หรือมาเลเซีย เสียหาย 26,925 ล้านบาท หรือ 58% ของจีดีพี

หากเอาเงินที่ต้องเสียไป 5 แสนล้านบาทมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ก็ดีกว่า จากที่ส่งจดหมายนำเสนอไป ยังไม่ได้ความคืบหน้าว่าจะอย่างไร แต่อยากให้นายกรัฐมนตรีหารือเป็นรายบุคคลและองค์กร เพื่อให้มีเวลาในการนำเสนอและหารือ ก็คาดว่าจะมีการได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี หลายเรื่องควรใช้วิกฤตเป็นโอกาส และเริ่มดำเนินการเลย โดยไม่ต้องรอว่าโควิดต้องหมดลง เพียงเราดูแลควบคุมต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้การล็อกดาวน์ทำให้คนเดินทางออกไปตามต่างจังหวัดต่างๆ ตอนนั้นกังวลเรื่องการแพร่ระบาดมาก เพราะเป็นหมื่นคนที่กระจายไปทั่วประเทศ แต่ก็พบว่าไม่ได้แพร่ระบาดรวดเร็ว บุคลากรทางการแพทย์และรัฐบาลทำได้ดี ดังนั้น คลายล็อกครั้งนี้ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร วิกฤตเกิดได้ตลอดเวลา เหมือนการขับรถไม่รู้ว่าจะชนกันวันไหนหรือถูกชน แต่เราก็ต้องออกไปทำงาน ดังนั้นใช้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาปรับการทำงานจากนี้

ทั้งนี้ สิ่งแรกที่เสนอรัฐบาลเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว คือการผลักดันการท่องเที่ยวทันที ทำอย่างไรให้ท่องเที่ยวกลับมาก่อน อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันในเรื่องการทำประชาสัมพันธ์สร้างให้นักท่องเที่ยวและชาวโลกถึงการดูแลและป้องกันการแพร่โควิดที่ดี การมีฝีมือของบุคลากรทางการแพทย์ สะท้อนว่าหมอไทยเก่ง เราต้องชมเชย ว่าผ่านมาได้ จากนั้น ก็สร้างความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น จับมือระหว่างบริษัททัวร์ โรงแรม โรงพยาบาล จัดทำแพคเกจมาเที่ยวไทยปลอดภัย จับกลุ่มผู้มีรายได้ อย่างคนจีนมีฐานะ อยากมาเที่ยวไทยแล้ว เริ่มที่กลุ่มธุรกิจ 5 ดาวก่อน เมื่อเขามั่นใจเขาก็จะมาพักนานอาจท่องเที่ยวในกลุ่มเล็กๆ ก็จะปลอดภัย เรื่องนี้หน่วยงานรัฐต้องเร่งกระตุ้นด้วย

อีกเรื่องคือการดึงการลงทุนต่างชาติเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้สิทธิประโยชน์ด้านลงทุนเพิ่มขึ้นและเวลาได้สิทธิยาวๆ เชื่อว่าจากนี้ภาคท่องเที่ยวจะฟื้นและบูมอีกครั้ง เพราะคนอั้นยากท่องเที่ยวและหาประเทศที่ปลอดภัยและดูแลได้อย่างดี ซึ่งไทยเด่นมากในอาเซียน เพราะแต่ละปีคนมาเที่ยวไทยสูงถึง 40 ล้านคน ใช้โอกาสนี้เชื่อมท่องเที่ยวและการแพทย์ไทยให้เป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ

ด้านความช่วยเหลือรัฐบาลควรออกพันธบัตรกู้ยาว 30 ปี กู้จากทั่วโลกได้เลย เครดิตไทยดี ดอกเบี้ยก็ถูก น่าจะกู้ 3 ล้านล้านบาท เพื่อปล่อยให้ธุรกิจกู้ในระยะเวลายาว 20 ปีไปเลย เมื่อธุรกิจทำได้ดีก็จะคืนเป็นเงินภาษี โอกาสนี้ให้ทูตพาณิชย์และทีมไทยแลนด์ในการหาตลาดต่างประเทศ

อีกเรื่องคือการดึงดูดคนเก่งจากทั่วโลกอย่างน้อยสัก 5 ล้านคน มาช่วยสร้างธุรกิจใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาไทยให้เก่งไปด้วย ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางในเรื่องการพัฒนาธุรกิจ สร้างสตาร์ตอัพ และพัฒนาบุคลากร ให้เราเป็นฮับคนเก่งของโลกยิ่งดี การให้สิทธิประโยชน์ต่างชาตินั้นไม่ต้องกังวลว่าเขาจะมาถือครองอะไร เพราะทุกอย่างอยู่ในบ้านเรา แต่ดูให้รอบด้านว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร

หากถามถึงเศรษฐกิจไทยว่าปีนี้จะเป็นลบมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและมาตรการที่จะออกมาใช้ และความเร็วที่รัฐควรเร่งดำเนินการในเรื่องที่ภาคเอกชนเองได้นำเสนอ สามารถสร้างวิกฤตเป็นโอกาสได้แค่ไหน ขึ้นกับรัฐบาล ในส่วนเครือซีพีก็ใช้โอกาสนี้ในการสร้างทีมคนเก่งคนชำนาญคนรุ่นใหม่ หลายธุรกิจเห็นถึงโอกาส เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ก็เพิ่มการจัดส่งถึงบ้านในระยะใกล้ ก็สามารถขยายสาขาได้อีก เรื่องใช้ออนไลน์และดิลิเวอรี่ กลายเป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสได้ซึ่งทำให้บางสาขาโตหลายเท่าตัว ได้สร้างงานเพิ่ม เรื่องนี้ผมยังช้าไปควรทำมาเมื่อ 3 ปีก่อน ต่อไปการเพิ่มความสะดวกใกล้บ้านจะเป็นสิ่งที่ขยายตัวได้เร็ว อินเตอร์เน็ตอย่างทรูเป็นอาหารสมอง ขณะที่ซีพีเอฟก็จะเป็นอาหารชีวิต เป็นธุรกิจที่ต้องขยาย

ดังนั้น ภาคเกษตรและการบริหารจัดการพื้นฐานเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำให้เกิดความมั่นคงระยะยาว

ก่อนหน้านี้เคยพูดถึงทฤษฎี 2 สูง แต่ในธุรกิจตอนนี้และหลังโควิดต้องใช้ทฤษฎี 3 สูง 1 ต่ำ คือ ลงทุนสูง คุณภาพสูง ประสิทธิภาพสูง แต่ต้นทุนต่ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image