บทนำ เลิกใช้‘ฉุกเฉิน’

รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งแรก 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. ต่อมาวันที่ 28 เม.ย. ได้ขยายเวลาถึงวันที่ 31 พ.ค. ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยจะทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนแต่ก็ระงับไป ในวันที่ 17 พ.ค. รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้เปิดกิจการ 3 ประเภทใหญ่ เลื่อนเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น. ขณะที่ ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่ลดลงมาก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในหลายประเทศสะท้อนว่า การแพร่ระบาดอีกครั้งยังเป็นไปได้เสมอ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกรัฐมนตรีให้ไปศึกษาความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เปรียบเทียบกับการใช้กฎหมายปกติเพื่อคุมการแพร่ระบาดว่า หากเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วจะมีกฎหมายใดมารองรับ และเกิดผลดี หรือผลเสีย ต่อการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงหากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วก็ยังมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด และจะไม่นำกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงมาใช้แทน นายวิษณุระบุว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้รัฐมีอำนาจในการประกาศใช้ข้อกำหนดถึง 9 ประการ ซึ่งได้ใช้ครบทั้ง 9 ประการแล้ว แต่บางโอกาสก็อาจจะใช้เพียง 1-2 ข้อกำหนดก็ได้ ถ้าจะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปเลยก็ได้ ถ้าคิดว่าสถานการณ์ไว้วางใจได้

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถือเป็นยาแรงในการแก้สถานการณ์ยุ่งยากของประเทศ แม้ได้ผลตามเป้าหมาย แต่ผลข้างเคียงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เพราะการปิดกิจการร้านค้าต่างๆ ทำให้เกิดการตกงาน ประกอบอาชีพไม่ได้ ไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว การพิจารณายกเลิกจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นในการรับมือกับการแพร่ระบาดไปพร้อมกัน อาศัยการให้ข้อมูลความรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนแล้วขอความร่วมมือจากประชาชน โดยลดการใช้อำนาจตามกฎหมายลงไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image