โฆษกปชป. ยกคำตัดสินของศาล ป้อง ‘มาร์ค’ ไม่ได้สั่งฆ่า ปชช. เหตุสลายม็อบปี 53

โฆษกปชป. ยกคำตัดสินของศาล ป้อง ‘มาร์ค’ ไม่ได้สั่งฆ่า ปชช. เหตุการณ์สลายม็อบปี 53 เชื่อฝ่ายตรงข้ามสร้างวาทะกรรมจองเวร ‘อภิสิทธิ์’ ขู่ใครป้ายสีเตรียมถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่มีการกล่าวพาดพิงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องการสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2553 ว่า บุคคลกลุ่มที่ออกมากล่าวหาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ ถือเป็นการสร้างวาทะกรรมเพื่อทำลายนายอภิสิทธิ์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทั้งๆที่เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิสูจน์จากกระบวนการยุติธรรมแล้วว่านายอภิสิทธิ์ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ซึ่งหลักฐานจากรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ยืนยันชัดเจนในเรื่องการชุมนุมเมื่อ ปี 2553 ว่าการชุมนุมครั้งนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจน และในบริเวณการชุมนุมดังกล่าวก็มีกลุ่มชายชุดดำแฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้อาวุธสงคราม รายงานของ คอป. ยังมีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่ยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ

นายราเมศ กล่าวต่อว่า อยากชี้แจงให้เห็นข้อเท็จจริงอีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือการพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญาในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม ได้ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการใช้ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ เข้าปฏิบัติการผลักดันผู้ชุมนุม สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 เป็นข้อหาที่หนักหนาเอาการ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณา ส่วนศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นคือยกฟ้องตามศาลชั้นต้น คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ยังไม่จบเหตุเพราะเมื่อคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา อำนาจการพิจารณาคดีก็ตกไปอยู่กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง มีการยื่นคำร้องให้เอาผิดทั้งหมด 3 คน คือ 1. นายอภิสิทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลการวินิจฉัยของ ป.ป.ช. รับฟังเป็นยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าอยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553” คำวินิจฉัยของป.ป.ช. ระบุไว้ชัดเจนว่าทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพล.อ.อนุพงษ์ ไม่ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา และศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 ว่าการกระทำของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน

“ดังนั้นเรื่องดังนี้ควรจะยุติ เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรมแล้ว ไม่ควรที่จะมาใช้วาทะกรรมในการปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจผิดในข้อมูล ข้อเท็จจริงปรากฏผ่านกระบวนการยุติธรรมในหลายคดี เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1699/2560 คดีอาญาที่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ “หน้าที่ 9 บรรทัดที่ 1-4 ระบุไว้ชัดตอนหนึ่งว่า “ในตอนค่ำมีชายชุดดำใช้อาวุธปะปนอยู่ในกลุ่ม นปช. และซุ่มอยู่บนอาคารในบริเวณดังกล่าวด้วย มีการยิงกันด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด M79 จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย มีเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก” นี่คือผลการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ชัดเจนตามคำพิพากษา ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกา เลขที่ 6646-6674/2561 คดีแพ่งที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเผาอาคารพาณิชย์ของประชาชน ศาลพิพากษาให้แกนนำชดใช้ค่าเสียหาย 19,347,000 บาท โดยให้เหตุผลในหน้าที่ 54 บรรทัดที่ 6-10 ระบุเหตุผลไว้ชัดว่า “ผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและทรัพย์สินของโจทก์ทั้ง 4 ที่ถูกบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. วางเพลิงเผาทำลายนั้น เป็นผลที่เกิดจากคำปราศรัยของจำเลยที่ 6 ถึง ที่ 8 โดยเข้าลักษณะเป็นผู้ยุยงส่งเสริมในการละเมิดของบุคคลผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ที่ร่วมกันเผาอาคาร”นี้คือการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือ ความจริงเหล่านี้ต่างหากที่ควรค้นหาแล้วนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง” นายราเมศ กล่าว

Advertisement

นายราเมศ กล่าวต่อว่า นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ขณะนั้นเป็นผู้นำที่พยายามเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศตลอดมา แต่การเจรจาก็ล้มไปเพราะแกนนำ นปช. รับคำสั่งมาให้ยกเลิกการเจรจา และทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง แต่ต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา ไม่ได้สั่งฆ่าพี่น้องประชาชน รวมถึงศาลฎีกาได้ตัดสินจำคุกนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. ที่กล่าวหานายอภิสิทธิ์ในคดีหมิ่นประมาท มีการใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ว่าเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชนระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ฉะนั้นใครที่จะนำความเท็จในลักษณะดังกล่าวมาใส่ร้ายนายอภิสิทธิ์ ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจในการที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image