ลมร้อนเมษายนยังพัดไม่หยุด! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

ลมร้อนปลายเดือนเมษายนนี้ยังคงพัดแรง … แม้ “กระแสโควิด” ยังถูกแทรกจาก “กระแสการเมือง” เมื่อมีรายงานข่าวว่า นายทหารนอกราชการในระดับนายพลท่านหนึ่งได้โทรศัพท์ถึงนายอุตตม สาวนายน ให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่

เรื่องนี้เป็นข่าวใหญ่ในช่วงปลายเดือนเมษายนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และกระแส “ลมร้อนในเดือนเมษายน” ยังคงพัดต่อเนื่องเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จนเป็นที่รับรู้กันอย่างชัดเจนแล้วว่า หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่คือ พล. อ. ประวิตร อย่างแน่นอน เพราะได้ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าพรรคตัวจริง” ที่อยู่หลังฉากมาโดยตลอด และถึงเวลาที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งนี้อย่างเป็นทางการ

แม้การเป็นหัวหน้าพรรคเช่นนี้จะเป็นโอกาสให้ พล.อ.ประวิตร ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้จริงเพียงใด ยังคงเป็นเรื่องของอนาคตก็ตาม

อีกทั้งถ้ามองจากบริบทของประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว การ “จี้ผู้นำรัฐบาล” จะเป็นการย้อนการกลับมาของยุคจอมพล ป. หรือไม่

Advertisement

เมื่อทหารจี้รัฐบาล!

แต่ “ยุทธการจี้หัวหน้าพรรค” ในครั้งนี้ก็ทำให้อดหวนคิดถึงฉากหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ได้ แม้ในครั้งนั้นจะต่างกันตรงที่เป็น “ยุทธการจี้นายกรัฐมนตรี” หรืออาจจะต้องเรียกว่า เหตุการณ์ “รัฐประหารเงียบ” ในการเมืองไทยครั้งแรกในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เหตุเกิดในเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 เมื่อนายทหาร 4 นาย ได้แก่ พันโทละม้าย อุทยานานนท์ พันโทก้านจำนงภูมิเวท พันเอกศิลป์ ศิลปศรชัย รัตนวราหะ และพลตรีสวัสดิ์ ส.สวัสดิ์เกียรติ เดินทางเข้าพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี

Advertisement

นายทหารทั้งสี่อ้างว่าตนเป็นผู้แทนของคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 และการมาพบนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ก็เพื่อแจ้งว่า ผู้นำคณะรัฐประหารคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม พลโทผิน ชุณหะวัน และพลโทกาจ กาจสงคราม ไม่พอใจต่อการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ และผู้นำการรัฐประหารประชุมกันแล้วมีมติ “ให้รัฐบาลลาออกภายใน 24 ชั่วโมง”

นี่เป็น “คำขาด” ของคณะรัฐประหารที่ตรงไปตรงมา คือ รัฐบาลต้องออกภายใน 24 ชั่วโมง!

นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีทันทีที่บ้านพัก แม้ในที่ประชุมจะมีผู้เสนอจับกุมนายทหารดังกล่าว และเตรียมปราบปรามกลุ่มทหารที่เป็นกบฎ แต่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และมีความเห็นว่า อำนาจในการควบคุมกองทัพอยู่ในมือของจอมพล ป. ฉะนั้นการตัดสินใจเตรียมปราบกบฏของรัฐบาลอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งขนาดใหญ่ และอาจนำไปสู่การปะทะระหว่างกำลังของรัฐบาลกับกำลังของฝ่ายผู้นำทหาร

การที่อำนาจทางทหารยังอยู่กับจอมพล ป. ก็เพราะหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารเพียงหนึ่งวัน ได้มีแถลงการณ์ประกาศแต่งตั้งจอมพล ป. ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้บังคับบัญชาทหารแห่งประเทศไทย” ซึ่งเท่ากับจอมพล ป. มีสถานะเป็น “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ในแบบปัจจุบัน และในวันที่ 25 พฤศจิกายน ได้แต่งตั้งให้เป็น “ผู้บัญชาการทหารบก” อีกตำแหน่งด้วย กองทัพในยุคหลังสงครามอยู่ในมือของจอมพล ป. อย่างสมบูรณ์

ในอีกด้านก็พิสูจน์ให้เห็นว่า อิทธิพลของจอมพล ป. ยังมีอยู่มาก และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของความสำเร็จของการรัฐประหารในปลายปี 2490 แม้เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง จอมพล ป. จะเคยตกเป็นอาชญากรสงคราม แต่เขาก็รอดพ้นการถูกแขวนคอ เช่นที่ผู้นำฝ่ายอักษะในหลายประเทศถูกลงโทษ ดังนั้นคงเรียกได้ว่า จอมพล ป. คือ “ผู้มากบารมี” ตัวจริงในยุคหลังสงคราม … อดคิดเล่นๆไม่ได้ว่า ถ้าจอมพล ป. ถูกพิพากษาลงโทษด้วยการแขวนคอเช่นนายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในช่วงสงครามแล้ว การเมืองไทยจะพลิกเปลี่ยนผันแปรไปอย่างไร

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยแล้ว นายควงไม่มีทางเลือก อันทำให้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นของวันที่ 6 เมษายน นั้น และในวันที่ 8 เมษายน คณะผู้สำเร็จราชการได้มีประกาศแต่งตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และประกาศจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในวันที่ 15 เมษายน หรือที่เรียกช่วงนับจากนี้ว่าเป็น “ระบอบพิบูลสอง” (The Second Phibul Regime) ในการเมืองไทย

ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม รัฐบาลได้แต่งตั้งพลโทผิน รองผู้บังคับบัญชาทหารบก ขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกแทนจอมพล ป. ที่ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว (อันเป็นเสมือนการตอบแทนที่ทำให้จอมพล ป. ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง) และระบอบทหารหลังจากความสำเร็จของการรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2490 ก็ทวีความเข้มข้นมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์ 6 เมษายน 2491 อันเป็นการหวนสู่การปกครองของระบอบทหารในยุคหลังสงคราม และเหตุ “จี้นายควง” ส่งผลอย่างไม่น่าเชื่อให้จอมพล ป. กลับเข้าสู่วงจรการเมืองไทยยุคหลังสงครามอีกครั้ง

จี้ผู้นำรัฐบาล!

ข่าวเหตุการณ์ “ทหารจี้หัวหน้าพรรค” ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงปลายเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และมีผลสืบเนื่องที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค อันจะเป็นช่องทางให้ พล.อ.ประวิตร ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคนั้น อาจจะพอเทียบเคียงได้บ้างกับเหตุ “ทหารจี้นายก” ในเดือนเมษายน 2491

เหตุการณ์ในปัจจุบันครั้งนี้จะย้อนรอยเหมือนเช่นที่ทำให้จอมพล ป. ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น อาจจะยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันในอนาคตต่อไป

แต่อย่างน้อยการจี้ผู้นำรัฐบาลเช่นนี้ก็เวียนมาครบ 6 รอบ จากครั้งนั้นในเดือนเมษายน 2491 และครั้งนี้ในเดือนเมษายน 2563 … การเมืองไทยก็ได้เห็น “ยุทธการจี้ผู้นำรัฐบาล” อย่างไม่น่าเชื่ออีกครั้งในรอบ 72 ปี!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image