บทนำ : รำลึกพฤษภา

บทนำ : รำลึกพฤษภา

บทนำ : รำลึกพฤษภา

เดือนพฤษภาคมกลายเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีทำบุญ ตักบาตรอุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีญาติผู้เสียชีวิตและประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาร่วมพิธี โดยผู้เข้าร่วมงานได้สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

ในพิธีช่วงหนึ่ง นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำ นปช.กล่าวว่า อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภาประชาธรรม นับจากเกิดเหตุการณ์เมื่อปี 2535 ใช้เวลาถึง 28 ปี เป็นประวัติศาสตร์ที่ผู้คนต้องจดจำ เป็นการต่อสู้ของภาคประชาชน มีทั้งคนตาย และคนสูญหาย สิ่งที่วีรชน และญาติวีรชนต่อสู้มี 3 ประเด็น ได้แก่ 1.กฎหมาย 2.การสร้างอนุสาวรีย์วีรชน 3.การเยียวยา ซึ่งอยากให้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับการชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ให้เท่าเทียม

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดง ได้เดินทางมายังบริเวณด้านหลังสถานีรถไฟใต้ดินสีลม ซึ่งเป็นจุดที่ พล.ต.ขัตติยะ ถูกลอบยิงเสียชีวิต โดยได้นำช่อดอกไม้มาวาง พร้อมจุดเทียนรำลึกถึง พล.ต.ขัตติยะ เป็นปีที่ 10 ของการจากไป โดย น.ส.ขัตติยา กล่าวตอนหนึ่งว่า เรื่องคดียังไม่ถึงไหนยังอยู่ที่ดีเอสไออยู่ ซึ่งในช่วงนี้คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ แต่อายุความยังไม่หมดก็จะต่อสู้จนถึงที่สุด

Advertisement

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอกย้ำว่า ความรุนแรงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม ไม่แตกต่างจากเหตุการณ์ความรุนแรงกรณีอื่นๆ ที่เหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่มีวันลืมความเจ็บปวดที่ได้รับ และมีความพยายามที่จะแสวงหาหนทางเยียวยา การรำลึกเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม จึงเหมือนกับการรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เหตุการณ์เช่นนั้นไม่เกิดขึ้นอีก เพราะทุกชีวิตมีคุณค่า ความเห็นที่แม้จะแตกต่างก็มีคุณค่า การทำลายคุณค่าด้วยการฆ่าล้างผลาญชีวิต จึงเป็นตราบาปที่ยากจะลบล้าง ยกเว้นเสียแต่ว่าจะแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเยียวยาผู้สูญเสียด้วยความจริงใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image