“วิโรจน์”ร่ายยาว ปม #เรียนออนไลน์ ติงรัฐ ต้องคำนึงความเหลื่อมล้ำ แนะทุ่มเต็มที่เพื่อเด็ก

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

 

วิโรจน์”ร่ายยาว ปม#เรียนออนไลน์ ชี้ ประเทศจะพัฒนาไปได้แค่ไหน จะมีที่ยืนอยู่ตรงไหนของโลกขึ้นอยู่กับเด็ก ระบุ สังคมไทยต้องมองเด็กเป็นเหมือน “ลูกหลาน”ต้องช่วยฟูมฟักดูแล รัฐต้องมีกลไกพัฒนาให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อเป็นกำลังหลักของประเทศ

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล
ทวิตข้อความลงในทวิตเตอร์ @wirojlak ประเด็น #เรียนออนไลน์ ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ฐานคิดระหว่างการพัฒนาให้เด็กคนหนึ่ง ให้กลายเป็นพลเมืองที่มีขีดความสามารถ นั้นเป็นหน้าที่หลักร่วมกันของรัฐ และพ่อแม่ หรือหน้าที่หลักอยู่ที่พ่อแม่ และรัฐเป็นส่วนเสริม นี่คือการต่อสู้กันทางความคิด ซึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย

บางกลุ่ม บอกว่า “การที่พ่อแม่จำนวนหนึ่ง อยากให้ลูกมาเรียนที่โรงเรียน นั้นเป็นการผลักภาระมาให้โรงเรียน”
แต่บางกลุ่ม ก็บอกว่า “การ #เรียนออนไลน์ นั้นเป็นความพยายามของโรงเรียนที่จะผลักภาระมาให้พ่อแม่

Advertisement

ตนเชื่อว่า การพัฒนาให้เด็กคนหนึ่ง ให้กลายเป็นพลเรือนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และร่วมมือ ในการพัฒนาประเทศ นั้นเป็นหน้าที่หลักที่รัฐต้องทำ ไม่ว่าเด็กคนนั้น จะมีปูมหลังอย่างไรก็ตามการพัฒนาเด็กหนึ่งคน จึงเป็นหน้าที่หลักของทั้งพ่อแม่ และรัฐ รวมทั้งประชาชนทุกคนด้วย ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีความพร้อมหรือไม่ พ่อแม่ของเด็กจะเป็นอย่างไร ครอบครัวเขาจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เด็กเหล่านี้ ก็ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นพลเรือนของประเทศนี้ ซึ่งเด็กเหล่านี้ที่ต้องแบกภาระในการพัฒนาประเทศนี้ ต่อจากคนรุ่นของเรา ที่จะเข้าสู่วัยชรา

ประเทศของเราจะพัฒนาไปได้แค่ไหน จะสามารถแข่งขัน และร่วมมือกับนานาอารยประเทศได้เพียงไร จะมีที่ยืนอยู่ตรงไหนของโลกใบนี้ในอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับเด็กๆ เหล่านี้ทั้งสิ้น นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่การพัฒนาเด็กเหล่านี้ทุกคน ไม่ว่าเด็กจะมีปูมหลังอย่างไร จึงเป็นหน้าที่หลักของรัฐ

ยอมรับว่า เด็กหลายคนขาดความพร้อม ทั้งในมุมของพ่อแม่ ฐานะทางบ้าน และปัญหาสังคมต่างๆ แต่ถ้าเรามัวแต่ผลักภาระในการพัฒนาเด็กเหล่านี้ ให้กับพ่อแม่ โดยที่รัฐเป็นเพียงส่วนเสริม เราจะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเด็กเหล่านี้จะเติบโตขึ้นมา เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ที่เราทุกคนภูมิใจร่วมกัน

Advertisement

ตนคิดว่า สังคมไทยต้องมองเด็กเหล่านี้ เป็นเหมือน “ลูกหลานของเรา” ที่ต้องช่วยกันฟูมฟักดูแลต่อให้เด็กเหล่านี้เป็นเด็กกำพร้า ต่อให้พ่อแม่ของเด็กเหล่านี้จะขาดความพร้อมเช่นไร รัฐก็ควรต้องมีกลไก ในการพัฒนาเด็กเหล่านี้ ให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพให้ได้ในมุมของเด็กกำพร้า ถ้าเรามองในเชิงบวก โดยคิดว่าเขาคือความหวังของชาติ และพัฒนาเขาให้ดีที่สุด ให้เขากลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เมื่อเขาโตขึ้น เขาจะกลายเป็นกำลังหลักของประเทศ เพราะเด็กเหล่านี้ จะไม่ต้องแบกรับภาระที่ต้องดูแลพ่อแม่ ไม่ต้องเผชิญหน้ากับ Midlife Crisis

เด็กเหล่านี้ จะมี Focus เดียว คือ การมุ่งพัฒนาตนเอง และพัฒนาประเทศที่เขาภูมิใจ และพร้อมรับผิดชอบกับประชาชนทุกคน เพราะเขาจะตระหนักอยู่เสมอว่า ประชาชนทุกคนในประเทศนี้ คือ พ่อแม่ ที่ช่วยกันฟูมฟักให้เขาเติบโตขึ้นมา เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ดังนั้น รัฐที่ดี จะไม่นำเอาประเด็นปูมหลังของเด็ก เอาปัญหาของพ่อแม่ของเด็ก มาเป็นข้ออ้างใดๆ เลย เพราะไม่ว่าเด็กจะมีปูมหลังอย่างไร รัฐก็ต้องมีหน้าที่พัฒนาให้เขากลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพให้ได้ เด็กคนไหน ที่พ่อแม่มีความพร้อม มีฐานะทางบ้านที่ดี มีสังคมแวดล้อมที่เอื้ออำนวย รัฐก็จะเบาแรงหน่อย เพราะพ่อแม่สามารถช่วยรัฐได้มากขึ้น เพื่อให้รัฐจะได้ทุ่มสรรพกำลัง มาฟูมฟักเด็กที่ขาดแคลน เพื่อให้เด็กทุกคน ทุกปูมหลัง เติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองที่ดีให้ได้

“ยืนยันว่า การพัฒนาเด็ก ต้องเป็นหน้าที่หลักของรัฐ และพ่อแม่ร่วมกัน เด็กคนไหนที่พ่อแม่ไม่พร้อม รัฐก็ต้องเข้าไปทำหน้าที่หลัก เพื่อให้มั่นใจว่า เด็กทุกคนในแผ่นดินนี้ ไม่ว่าปูมหลังจะเป็นเช่นไร ก็จะสามารถเติบโตขึ้นมากลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ดังนั้น การที่พ่อแม่กลุ่มหนึ่ง อยากให้โรงเรียนเปิดเทอม เพราะเขาต้องทำงาน หรือเขาไม่มีความพร้อมที่จะสอนลูกได้ จึงไม่ใช่การผลักภาระไปสู่โรงเรียน แต่นี่ควรจะเป็นหน้าที่ของโรงเรียนอยู่แล้ว”

การที่กระทรวงศึกษาธิการ จะดึงดันให้เด็กทุกคน #เรียนออนไลน์ ให้ได้ โดยไม่สนใจความเหลื่อมล้ำ และข้อจำกัดทางสังคมอื่นๆ ประกอบเลย ต่างหากที่เป็นความพยายามละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน และผลักภาระไปสู่พ่อแม่ การตำหนิพ่อแม่ ที่เขามีความจำเป็นต้องให้ลูกมาโรงเรียน ว่าเป็นการผลักภาระมาให้ทางโรงเรียน จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะโรงเรียนมีหน้าที่หลักตรงนี้อยู่แล้ว ไม่ใช่หรือ

ถ้ากรอบคิดของกระทรวงศึกษาธิการ มองให้กว้างกว่า “พื้นที่โรงเรียน” ก็จะเข้าใจในเรื่องนี้

การ #เรียนออนไลน์ ไม่มีทางที่เด็กจะติดเชื้อที่โรงเรียนแน่ๆ แต่ไม่ได้มีอะไรการันตีว่า เด็กจะไม่ติดเชื้อนอกโรงเรียน

ถ้ากระทรวงศึกษาฯ มองว่า การที่เด็กคนหนึ่งติดเชื้อ ไม่ว่าติดในโรงเรียน หรือนอกโรงเรียน เป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาฯ ต้องใส่ใจด้วย กระทรวงศึกษาฯ จะไม่คิดที่จะผลักเด็กออกนอกโรงเรียน เพื่อให้ตนพ้นจากความรับผิดชอบแบบนี้ กระทรวงศึกษาฯ ของรัฐที่ดี เขาจะตระหนักดีว่า ตนมีหน้าที่ในการดูแล สุขอนามัย ความปลอดภัย พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งที่โรงเรียน และนอกโรงเรียน ไม่ได้จำกัดเฉพาะ “ขอบเขตพื้นที่โรงเรียน” เท่านั้น

ถ้าจะพัฒนาประเทศให้ไกลไปกว่านี้ เราจะพึ่งพลเมืองกลุ่มเดียวไม่ได้หรอก แบกประเทศไม่ไหวแน่ๆ รัฐต้องเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่ มองว่าการพัฒนาเด็กทุกคน ทุกปูมหลัง ทุกข้อจำกัด ให้พวกเขาทุกคน มีโอกาสที่จะเติบโต เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ เป็นหน้าที่หลักของรัฐ ถ้าประเทศ สามารถพัฒนาให้เด็กส่วนใหญ่เติบโตให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ ในอนาคต แม้ว่าอัตราการเกิดจะน้อยลง แต่พลเมืองทุกคนที่เติบโตขึ้น เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ประเทศถึงจะอยู่รอดได้ เด็กที่เกิดมาจน รัฐต้องมีกลไกที่ทำให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่หลุดพ้นจากความจนได้ ประเทศถึงจะมีความหวัง ถ้าเกิดมาเป็นเด็กจน แล้วต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จน มีลูกจน แก่ตัวก็กลายเป็นผู้สูงอายุที่จน อย่างนี้ประเทศหมดหวัง

กรอบความคิดที่ควรจะเป็นก็คือ “เด็กทุกๆ คน ในประเทศนี้ ถือเป็นลูกหลานของคนไทยทุกคน ที่รัฐต้องเลี้ยงดู และพัฒนาพวกเขา ให้กลายเป็นพลเรือนที่มีคุณภาพให้ได้ ไม่ว่าเขาจะมีปูมหลังเช่นไร” ประเทศจึงจะมีโอกาสที่จะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image