รายงานหน้า 2 : อจ.ฉายภาพเปิดสภา การเมืองเรื่อง‘โควิด’ เงินกู้-ฉุกเฉิน-ปรับครม.

รายงานหน้า 2 : อจ.ฉายภาพเปิดสภา การเมืองเรื่อง’โควิด’ เงินกู้-ฉุกเฉิน-ปรับครม.

รายงานหน้า 2 : อจ.ฉายภาพเปิดสภา การเมืองเรื่อง‘โควิด’ เงินกู้-ฉุกเฉิน-ปรับครม.

หมายเหตุนักวิชาการให้ความเห็นถึงการเปิดสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ในวันที่ 22 พฤษภาคม และในวันที่ 27 พฤษภาคม จะมีการพิจารณา พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลนำไปใช้แก้ปัญหาโควิด-19 รวมถึงเรื่อง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และสถานการณ์การเมืองในระยะต่อไป

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

Advertisement

การเปิดสภาสมัยสามัญคงต้องจับตาดูพรรคฝ่ายค้านว่ามีแง่มุมอะไรเป็นพิเศษในการอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้ หรืองบประมาณส่วนอื่นที่รัฐบาลนำมาใช้จ่ายในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อชี้ให้ประชาชนเห็นว่ามีจุดอ่อน หรือชี้แนะทางสร้างสรรค์ว่าควรจะบริหารจัดการอย่างไรให้คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ แต่การอภิปรายก็ทำได้แค่เพียงอธิบายให้สังคมรับรู้ เพราะทราบอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรมือในสภาของฝ่ายรัฐบาลมีมากกว่า

แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นต้องติดตามว่าในพรรคพลังประชารัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค มีการต่อรองอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ในช่วงที่มีการอภิปราย และ ส.ส.ในพรรคจะยกมือให้ผ่านหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในบุคคลบางกลุ่มของพรรคนี้ ที่ต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นโอกาสของรัฐบาลจะต้องขอมือจากลูกพรรคก็เป็นโอกาสสำคัญของบุคคลที่กุมเสียง ส.ส.ไว้จะต่อรองให้มีข้อแลกเปลี่ยน

แต่ในที่สุดก็คงไม่มีใครกล้าดื้อ เพราะไม่ว่าในพรรคจะวุ่นวายแค่ไหนก็ยังต้องการเป็นรัฐบาล ไม่อยากไปเป็นฝ่ายค้าน แต่ที่เคลื่อนไหวเพราะต้องการให้เปลี่ยนแปลงในฐานะที่ยังเป็นรัฐบาล ดังนั้น จึงทำให้พรรคพลังประชารัฐยังคงกุมสภาพอยู่ได้ ไม่ต้องไปลุ้นว่าการโหวตที่จะมีขึ้นเสียง ส.ส.รัฐบาลจะชนะพรรคฝ่ายค้านหรือไม่

Advertisement

แต่ผมเชื่อมั่นว่าเสียงข้างมากต้องผ่านโดยไม่มีปัญหา และความวุ่นวายในพรรคจะจบก่อนเกิดสภาหรือไม่ เชื่อว่าน่าจะมีสัญญาเป็นการภายในว่าถ้ากฎหมายเงินกู้ผ่านแล้วจะมีการปรับ ครม.ในภายหลังเมื่อทำงานครบ 1 ปี และแรงต้านที่จะไม่ให้ปรับ ครม.คงอ่อนลง เพราะที่ผ่านมาได้ผัดวันประกันพรุ่งมานานพอสมควร

สำหรับการเจาะเป้าหรือจี้จุดอ่อนเพื่ออภิปรายเงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรอชมว่าพรรคฝ่ายค้านจะทำสำเร็จหรือไม่ เช่น การจ่ายเงินผิดกลุ่ม จ่ายเงินไม่รัดกุม เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำมาตลอดก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก แต่ยังไม่แน่ใจว่าฝ่ายค้านจะหาสิ่งเหล่านี้มาอธิบายได้อย่างไรให้เป็นที่ประจักษ์ มากกว่าการใช้โวหารหรือการเหน็บแนม เพราะถ้าชี้จุดอ่อนได้ก็จะกอบกู้ศรัทธาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจกลับคืนมาได้บ้าง

สิ่งที่ผมอยากเห็นในการประชุมสภา ต้องการเห็นข้อเสนอดีๆ ของฝ่ายค้าน ส่วนรัฐบาลจะรับเอาไปดูแลในการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อกระจายงบให้ทั่วถึง เชื่อว่าใช้เวลาอภิปราย 3 วันก็พอแล้ว เพื่อทำให้เห็นว่ารัฐบาลบกพร่องตรงไหน หรือสิ่งใดที่รัฐบาลมองไม่เห็นแต่ฝ่ายค้านเห็น เพื่อให้คนไทยผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันอย่างทั่วถึง

ส่วนของแถมจากฝ่ายค้านจะอภิปรายเพื่อให้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน น่าจะมีการประท้วงเกิดขึ้น ขอแนะนำให้ไปตั้งกระทู้สดถามนายกฯ และขอให้นักการเมืองยึดหลักการนิว นอร์มอล ให้ประชาชนเห็นว่า ส.ส.ที่เข้ามาประชุมด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ทำงานคุ้มค่ากับการเสี่ยงภัยในช่วงที่มีโรคระบาดจากการนั่งประชุมสภาสมัยสามัญครั้งต่อไป

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การเปิดประชุมสภาครั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านต้องถามแน่นอนคือความชัดเจนของการกู้เงิน การใช้จ่าย เนื่องจากรัฐบาลอ้างความจำเป็นเรื่องการกู้เงิน แต่ไม่อธิบายเหตุผลต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ รวมถึงเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีลักษณะคาบเกี่ยวหรือถูกใช้ทางการเมือง ประการต่อมาคือการแก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19 ไม่ว่าจะเงินเยียวยา 5,000 บาท หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ถ้าฝ่ายค้านจับหลักให้ได้และทำการบ้านดีๆ รัฐบาลก็อาจลำบากพอสมควร โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐมีปัญหาการเมืองภายใน อาจมีแรงกดดันพอสมควรที่ทำให้รัฐบาลตกที่นั่งลำบาก

ส่วนตัวอยากเห็นเรื่องมาตรการรับมือผลกระทบโควิด-19 ว่ารัฐบาลมีความพร้อมอย่างไร มีวิธีการยังไงที่จะรับมือกับสถานการณ์หลังจากนี้ เวลาพูดถึงโควิด-19 มักพูดถึงการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้มีโรคระบาด แต่สิ่งสำคัญตามมาคือผลกระทบหลังจากนี้ที่เราอาจต้องใช้นิว นอร์มอล สังคม เศรษฐกิจ การใช้ชีวิต การศึกษาไม่เหมือนเดิม อยากทราบว่ารัฐบาลเตรียมความพร้อมไว้อย่างไร

แม้ตอนนี้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายแต่ผลกระทบก็ตามมาแล้ว เช่นวันนี้ที่การเรียนการสอนออนไลน์มีปัญหาทั้งระบบ ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ แต่คนไม่มีเงินซื้อ ฉะนั้น หากเป็นฝ่ายค้านจะจี้ถามในประเด็นเหล่านี้

อย่าลืมว่าที่ผ่านมาฝ่ายค้านพยายามสร้างวาระทางการเมืองแต่จุดไม่ติด เช่น กรณีคณะก้าวหน้าที่ทำเรื่องตามล่าหาความจริงการสลายการชุมนุม ปี 2553 โอกาสนี้จึงเป็นการแก้มือของฝ่ายค้านในเวทีการเมืองแบบรัฐสภา ควรทำการบ้านให้ดีทั้งเรื่อง พ.ร.ก.กู้เงิน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการรับมือของรัฐบาลต่อผลกระทบโควิด-19

คนอาจให้ความสำคัญกับฝ่ายค้านมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสถานการณ์โควิดทำให้อำนาจของรัฐบาลเต็มไม้เต็มมือมากขึ้นจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้คนรู้สึกต่อความปลอดภัยในชีวิตของตนเอง และฝ่ายค้านเสนออะไรมาก็แทบไม่มีผล

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

การเปิดประชุมสภาครั้งนี้คงจะมีประเด็นที่น่าสนใจทั้งสองส่วน คือการเมืองในสภาและนอกสภา สำหรับการเมืองในสภาเป็นเรื่องของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.ก.กู้เงิน แม้ตามรัฐธรรมนูญจะไม่มีการอภิปรายแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมได้ ทำได้เพียงให้ความเห็นชอบหรือไม่เท่านั้น

เรื่อง พ.ร.ก.เชื่อว่าผ่านแน่นอนอยู่แล้ว เนื่องจากเสียงรัฐบาลมีมากกว่าฝ่ายค้านอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งขณะนี้ไม่มีภาวะเสียงปริ่มน้ำ แต่สังคมจะให้ความสนใจว่าเมื่อกู้มาแล้วจะนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมนี้คงจะได้เห็นการพูดคุยเรื่องการปรับ ครม. ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลพอสมควร วันนี้รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายค้าน เพราะเสียงฝ่ายค้านอ่อนแรงลงไปมาก ขณะที่รัฐบาลไม่ได้อยู่ในภาวะเสียงปริ่มน้ำแล้ว แต่รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคพลังประชารัฐ โดยมีปัจจัย 3 ประการ

ประการแรก การปรับ ครม. เราเห็นการต่อรองภายในพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างสูง เพราะพรรคไม่ได้เกิดขึ้นจากฐานทางอุดมการณ์ แต่รวมเอามุ้งทางการเมืองต่างๆ มาอยู่ด้วยกัน การต่อรองเห็นตั้งแต่การตั้งพรรค การเลือกตั้ง เปิดสภา เลือกนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาล มีการต่อรองกันมาโดยตลอด บางกลุ่มยังรู้สึกว่าเขาได้น้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

ประการที่ 2 ความสมดุลทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลที่เปลี่ยนไป หลังปรากฏการณ์ผึ้งแตกรังของพรรคอนาคตใหม่ โดยมี 9 ส.ส.พรรคอนาคตใหม่มาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ทำให้พรรคภูมิใจไทยขึ้นมาอยู่พรรคลำดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาล มีอำนาจการต่อรองเพิ่มขึ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นที่ 3 หากวันใดพรรคภูมิใจไทยหยิบยกคะแนน 9 ที่นั่งนี้ขึ้นมาต่อรอง ก็ย่อมได้โควต้ารัฐมนตรีเพิ่ม 1 ที่นั่ง เท่ากับว่าตัวหารใน ครม.มากขึ้น ส่งผลให้ตำแหน่งรัฐมนตรีพรรคอื่นลดลง เป็นอีกจุดที่ส่งผลกระทบต่อรัฐบาลได้

ประการที่ 3 บรรดาข้อวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะเรื่องการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ซึ่งหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการพรรคคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถูกพุ่งเป้าจากกระแสเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ คือการเมืองในสภาที่จะกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในการปรับ ครม.

ส่วนการเมืองนอกสภา โอกาสที่แฟลชม็อบของกลุ่มนิสิตนักศึกษาจะกลับมาอีกครั้งยังมีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าเงื่อนไขที่ควบคุมกำกับจะยังคงมีอยู่หรือไม่ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือข้อกำหนดการห้ามชุมนุมทางการเมือง ห้ามใช้สถานศึกษา จะมีต่อหรือไม่ หากรัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีกก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงน่าคิดว่าควรจะมีเงื่อนไขเหล่านี้อยู่หรือไม่

หากไม่มีเงื่อนไขในการห้ามชุมนุม ห้ามใช้สถานศึกษา เมื่อถึงเวลานั้นแฟลชม็อบจะจุดติดหรือไม่ก็ยัง 50 : 50 เพราะก่อนหน้านี้จะเห็นว่ามีการเรียกร้องม็อบฟรอมโฮม การยิงเลเซอร์ของคณะก้าวหน้า แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถจุดม็อบเหล่านี้ให้ติดได้

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

การเปิดประชุมสภาสมัยสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียดว่าไปใช้ทำอะไร ใครได้รับประโยชน์ ส่วนฝ่ายค้านต้องตรวจสอบและอภิปราย พร้อมเสนอแนะไม่ให้ใช้เงินดังกล่าวไปในทางที่ส่อทุจริต หรือเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับกระทบโควิด-19 กว่า 40 ล้านคน ไม่ควรใช้วิธีแจกเงินอย่างเดียว ไม่ว่าเยียวยาคนตกงานรายละ 5,000 บาท/เดือน (3 เดือน) หรือเกษตรกรรายละ 5,000 บาท/เดือน (3 เดือน) เพราะทุ่มเงินเท่าไรก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น อยากให้ใช้นโยบายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกฯ ที่ผันเงินสู่ชนบท สร้างงานและรายได้ในท้องถิ่น โดยผ่านสภาตำบลในสมัยนั้น ปัจจุบันคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศ

รัฐบาลต้องใจกว้าง กระจายอำนาจ งบประมาณและบุคลากรให้ อปท.ดูแล ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลาง หากให้ อปท.ดำเนินการเชื่อว่าได้ผล แก้ปัญหาตรงจุด ประชาชนได้รับประโยชน์

ส่วนการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ต้องใช้งบเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยทำงบประมาณขาดดุลเพื่อให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอี โอท็อป ท่องเที่ยวชุมชน ที่มีผู้ประกอบการนับล้านราย และสร้างรายได้ให้ประเทศมากที่สุด

ที่สำคัญต้องให้ อปท.มีส่วนร่วม เป็นกลไกรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน อาทิ การพัฒนาแหล่งน้ำ อบรมอาชีพ ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปสู่มือประชาชนเร็วที่สุด เชื่อว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศกลับคืนมาอีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image