ปลดพนักงานการบินไทย 6,000 คน พักหนี้ 2 แสนล้าน รีเซตองค์กรใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทยเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย 2483 และเห็นชอบให้กระทรงงการคลังถือหุ้นในการบินไทยน้อยกว่า 50%

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อการบินไทยเข้าฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะหยุดการจ่ายหนี้ทุกอย่าง และรีเซตทุกอย่างใหม่ เช่น มูลหนี้ พนักงานกว่า 20,000 คน ที่จะต้องปลดอย่างน้อย 30% หรือประมาณ 6,000 คน โดยจ่ายค่าชดเชย 10 เดือน ตามกฎหมายแรงงาน ปรับโครงสร้างบริษัท เส้นทางบิน ทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการฟื้นฟูประมาณ 1 ปี

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างนี้ การบินไทยจะต้องมีเงินสดเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและค่าดำเนินการ เช่น จ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจจะต้องกู้เงินหรือเพิ่มทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อและอยู่ได้สักระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ทางการบินไทยยืนยันว่ามีเงินสดอยู่ก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้

“แผนฟื้นฟูทางบอร์ดและผู้บริหารชุดใหม่ต้องเป็นผู้ทำร่วมกับเจ้าหนี้ เมื่อเข้ากระบวนการฟื้นฟูแล้วต้องลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นลง เจรจาลดหนี้กับเจ้าหนี้ไทยและต่างชาติ ซึ่งตอนนี้ทุกคนพร้อมเจรจาหมด เพราะธุรกิจการบินซบเซาทั่วโลก จนรู้มูลหนี้สุดท้ายแล้ว จะมาดูว่าจะมีการแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่ เช่น คลังมีหนี้อยู่ 12,000 ล้านบาท หนี้สหกรณ์อีก 6 หมื่นล้าน จะแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่”

ข้อมูลวิเคราะห์สถานภาพทางการเงินของการบินไทยระบุว่า ฐานะการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ต้องพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะสั้น และฟื้นฟูกิจการในระยะยาวโดยด่วน เนื่องจากขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดเสถียรภาพทางการเงิน และผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่า ปี 2563 การบินไทยจะมีผลขาดทุน 59,062 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยรวมอยู่ที่ 219,198 ล้านบาท และจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 47,297 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้น กระแสเงินสดของบริษัทจะหมดในเดือนมิถุนายน 2563

Advertisement

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การดำเนินการฟื้นฟูมี 10 ขั้นตอน หลังจากนี้ กระทรวงการคลังต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่ำกว่า 50% โดยการบินไทยจะเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาล ตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาเจ้าหนี้ เมื่อศาลรับคำร้อง ส่งหมายให้เจ้าหนี้ จะทำให้การบินไทยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 ประชุมเจ้าหนี้อนุมัติผู้จัดทำแผน จากนั้นศาลตั้งผู้ทำแผน เพื่อเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ จัดประชุมเจ้าหนี้อนุมัติแผน ดำเนินการปรับปรุงแผนฟื้นฟู ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผน แต่งตั้งผู้บริหารแผน และดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ซึ่งถึงเวลาแล้วที่การบินไทยจะต้องปรับตัวและมีการเอกซเรย์ปัญหาต่างๆ ทุกด้านให้มีความถูกต้อง เช่น การบริหารจัดการ

“คมนาคมจะเสนอชื่อบุคคลประมาณ 15 คน ที่มีความรู้ความสามารถประสบการณ์ด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคคล การเงิน บริหาร การบิน ที่ปราศจากการแทรกแซงให้เป็นผู้จัดทำแผน โดยจะเสนอชื่อให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จะเร่งดำเนินการเร็วที่สุด คาดว่าก่อน มิถุนายนจะยื่นฟื้นฟูต่อศาลได้ ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ส่วนจะหยุดออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับผู้จัดทำแผนและการบินไทย แต่จากโมเดลของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ใช้เวลา 14 เดือน ออกจากการฟื้นฟู และกลับมามีกำไรปีละ 2 พันล้านเหรียญ ทั้งหมดที่ทำเป็นสิ่งที่เรามีต้นแบบ มีการวิเคราะห์มาเป็นอย่างดี ไม่ได้ต้องการทำลายการบินไทย อย่าตื่นตระหนก เพราะเป็นกันทั่วโลก”

ขอบคุณเว็บ : prachachat.net

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image