ด่วน! สมช.ชงต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ออกไปอีก 1 เดือน

‘เลขาฯ สมช.’ เผย จ่อชงยืดพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน เข้าศบค.ชุดใหญ่ 22 พ.ค.นี้ ก่อนนำเข้าครม.สัปดาห์หน้า ยัน ไม่โยงเรื่องการเมือง เตรียมพิจารณาย่นเวลาเคอร์ฟิว

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพทยระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 แถลงภายหลังการประชุม ที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ ประชาคมข่าวกรอง หน่วยงานความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุข ภาคเอกชน เข้าร่วม ว่า หากย้อนกลับไปถึงช่วงต้นปีที่โควิด-19 เข้ารุกรานประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นเราไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม นายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อนำมาใช้ควบคุมสถานการณ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้ง ศบค. และหน่วยงานภายใต้ขึ้น ซึ่งได้เริ่มทำงานขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษาภาคม การควบคุมการแพร่ระบาดจึงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และทั่วโลก ที่ได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรี รัฐบาลไทย และระบบสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในหลักหน่วย

พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ดูเหมือนว่าสถานการณ์จะดีขึ้น แต่สถานการณ์โลกยังน่าเป็นห่วงอยู่ ไทยเองแม้ว่าจะประสบความสำเร็จ เราก็ต้องระมัดระวังในเรื่องการผ่อนคลายในแต่ละระยะ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อระลอกที่สอง เพราะจะเกิดความเสียหายหนักไปกว่าเดิม ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทุกๆ คน และทุกๆ หน่วยงาน ในที่ประชุมก็ได้เห็นพ้องต้องกัน ที่จะขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน เพื่อให้ครอบคลุมห้วงระยะเวลาเดือนมิถุนายน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เราจะต่อไปอีก 1 เดือนนี้ จะครอบคลุมทุกท้องที่ในเขตราชอาณาจักร รวมทั้งภาคใต้ด้วย อย่างไรก็ตามเราจะต้องนำข้อสรุปที่ได้ในวันนี้ โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ศบค. ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ และจะเสนอต่อที่ประชุมครม. เห็นชอบต่อไปในสัปดาห์หน้า (26 พฤษภาคม)

ส่วนที่มีคำถามว่ามีความจำเป็นมากขนาดไหนที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตนอยากจะเรียนว่า เป็นเจตนารมณ์ของเราตั้งแต่แรกที่เราต้องการนำเครื่องมือและกฎหมายหลายฉบับมารวมไว้อยู่ที่เดียวกัน เพราะเมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎหมายกว่า 40 ฉบับได้มาอยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี ทำให้ท่านสามารถใช้กฎหมายเหล่านั้นผ่านกลไกของศบค. และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ การสั่งการจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีเอกภาพ และมีประสิทธิภาพ หากรใช้กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งก็คงไม่มีประสิทธิภาพเท่านี้ จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านเราได้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ควบคู่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มาตรฐานและมาตรการในแต่ละจังหวัดเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะออกโดยศบค.

Advertisement

เหตุผลที่สำคัญของการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ อีก 1 เดือนต่อจากนี้จะเป็นช่วงของเวลาการผ่อนคลายมาตรการในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 และการผ่อนคลายในทุกระยะมีความเสี่ยงเสมอเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือหรือกลไก ที่จะนำมาใช้กำกับการผ่อนคลายให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศที่ปลดล็อกอย่างรวดเร็ว แต่กลับเกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง เราไม่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทางฝ่ายการเมืองมองว่า การต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่าตั้งแต่วันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เราไม่เคยคำนึงถึงเรื่องการเมืองเลย จนถึงวินาทีนี้ ตนก็ยังเชื่อว่า กล้ารับประกันได้ว่า ไม่ได้มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่แรก อาจจะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่จุดประสงค์หลัก

“วันนี้เราพูดถึงการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สัปดาห์หน้าจะเป็นเรื่องการผ่อนคลายในระยะที่ 3 ที่จะมีการหารือเรื่องเคอร์ฟิวด้วย เรารับทราบดีว่า การมีเคอร์ฟิว อาจจะกระทบกระเทือนชีวิต และการดำเนินธุรกิจอยู่บ้าง เราจึงรับพิจารณาที่จะผ่อนคลายให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวเท่าไหร่ ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับ ศบค. สำหรับเคอร์ฟิวร์เป็นมาตรการที่เป็นผลสืบเนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิวก็จะประกาศไม่ได้ เคอร์ฟิวทำให้การแพร่ระบาดของโรคดีขึ้น เพราะได้จำกัดการเคลื่อนไหวของคนบางประเภทที่ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีชีวิตอยู่อย่างสมถะมากขึ้น ขณะนี้เราผ่อนคลายเวลาอยู่ที่ 23.00-04.00 น. ก็ต้องดูว่าในเฟสที่ 3 อาจจะกำหนดเวลาให้น้อยลงรือเท่าเดิม การขยายหรือการคงอยู่ของเคอร์ฟิว จะเป็นไปตามมาตรการที่เราจะผ่อนคลาย” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า การผ่อนคลายมาตรการในระยะ 3 จะรวมไปถึงการเปิดโรงเรียนหรือส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว เรากำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศว่าจะเปิดในวันที่ 1 กรกฎาคม หมายความว่าในเดือนมิถุนายนอาจจะมีการพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการที่เข้มขึ้น ว่าจะเปิดโรงเรียนอย่างไร เปิดในลักษณะไหน ส่วนจะเปิดก่อนวันที่ 1 กรกฎาคมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของกระทรวงศึกษาธิการ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image