ป.ป.ช.ฟันอาญา “บังอร วิลาวัลย์” อดีตนายก อบจ.ปราจีนฯ ฮั้วเอกชน 15 โครงการ 52 ล้าน

ป.ป.ช.ฟันอาญา “บังอร วิลาวัลย์” อดีต นายก อบจ.ปราจีนบุรี ฮั้วเอกชน 15 โครงการ -เอาผิดวิศวกรโยธา เซ่นปม สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ถล่มที่จ.อยุธยา

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเรื่องกล่าวหา นางบังอร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปราจีนบุรี กับพวก กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างของ อบจ.ปราจีนบุรี จำนวน 15 โครงการ เมื่อปี พ.ศ. 2555 วงเงิน 52,522,000 บาท โดยพบว่า มีการฮั้วประมูล โดยเรียกรับเงิน 8-9% ของโครงการ และมีการกีดกันขัดขวางบริษัทอื่นที่ไม่ได้ตกลงจะฮั้วประมูล ไม่ให้เข้าซื้อเอกสารประกวดราคา

โดย ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของนางบังอร วิลาวัลย์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมีมูลความผิดฐานปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 ส่วนการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัดและหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา จำนวนรวม 19 ราย มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ส่วนการกระทำของนายศิริศักดิ์ พลากุลมณฑล รองนายก อบจ.ปราจีนบุรี และนายสถิตย์ เนมียะ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี มีมูลความผิดทางอาญา และการกระทำของห้างหุ้นส่วนจำกัดและหุ้นส่วนผู้จัดการ ที่ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา จำนวนรวม 19 รายมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด

โฆษกป.ป.ช. กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังได้พิจารณาเรื่องกล่าวหา นายเชษฐา ปทุมรังสี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่เป็นไปตามแบบ เป็นเหตุให้สะพานพังถล่ม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากการดำเนินการก่อสร้างสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมือปี 2553 โดยนายวรพจน์ นุชิต วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ เป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบรับรองแบบแปลน แต่พบว่า ในการก่อสร้างมีการใช้เชือกลวดเหล็กกล้าแทนลวดเหล็กตีเกลียว ตามรายการที่กำหนดแนบท้ายในสัญญา และมีการปลอมผลทดสอบแรงดึงชิ้นส่วนเหล็กของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาใช้รับรองวัสดุก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จผ่านไป 5 เดือน สะพานดังกล่าวได้พังถล่มลงมาเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

Advertisement

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ นายวรพจน์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 มาตรา 157 และฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ส่วนนายอนุวัติ วิชัยโย และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี ในฐานะผู้ควบคุมงาน มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 162 และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา123/1 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ขณะที่ คณะกรรมการดำเนินการประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และคณะกรรมการตรวจการจ้าง มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ส่วน นายเชษฐา ปทุมรังสี มีมูลความผิดเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย หรือสวัสดิภาพของประชาชนละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ มีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาลหรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 73

Advertisement

ทั้งนี้ ระหว่างการแถลงข่าว นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สะพานถล่ม ได้เข้ามาทวงถามต่อ ป.ป.ช. ในเรื่องการเอาผิดนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง ที่ไม่ประกาสปิดสะพานหลังจากได้รับแจ้งเหตุว่าสะพานเอียง จนเมื่อสะพานถล่มทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเห็นว่าควรผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย รวมทั้งได้ถามถึงความคืบหน้าในการเอาผิดกับเจ้าพนักงาน ที่เป็นข้าราชการในฐานะกรรมการตรวจรับงาน ตามมาตรา 157 เพราะจะต้องเป็นคนรับผิดชอบในการไม่ตรวจรับงานให้เป็นไปตามแบบในสัญญาจ้าง จนทำให้สะพานถล่ม ซึ่งกังวลว่า คดีดังกล่าวจะหมดอายุความก่อนที่จะเอาผิดได้ รวมถึงการติดตาม นายวรพจน์ ผู้กระทำความผิดในคดีดังกล่าวที่หลบหนี และยังติดตามตัวไม่ได้ก่อน โดย ป.ป.ช.ยืนยัน เร่งดำเนินตามกระบวนการของกฎหมาย และต้องมีการสืบสวนขยายผลถึงผู้เกี่ยวข้องต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image