10 ปี ล้อมปราบ-6 ปี รัฐประหาร! โดยสุรชาติ บำรุงสุข

เหตุการณ์การล้อมปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองในปี 2553 เวียนมาครบ 10 ปี เช่นเดียวกับที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เวียนมาครบรอบอีกครั้ง แทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐประหารผ่านไป 6 ปีแล้ว แต่สิ่งที่เป็นมรดกสำคัญก็คือ การล้อมปราบและการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้น ได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำถึงบาดแผลทางการเมืองที่เกิดขึ้นสืบเนื่องตั้งแต่รัฐประหารครั้งก่อนในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่า แผลนี้จะไม่ถูกสมาน …

บาดแผลในสังคมไทยหลังปี 2549 ไม่เคยได้รับการรักษาอย่างจริงจัง และยังถูกเปิดปากแผลให้กว้างขึ้นด้วยการล้อมปราบในปี 2553 จนมีการเปิดบาดแผลให้หนักขึ้นอีกในปี 2557 ซึ่งก็ไม่เคยได้รับรักษาเช่นกัน จนทำให้ประเด็นเรื่อง “สมานฉันท์” ทางการเมืองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นบาดแผลที่ไม่เคยได้รับการใส่ยาสมานแผลจากฝ่ายที่มีอำนาจอย่างจริงจัง วาทกรรมสมานฉันท์กลายเป็นคำพูดที่เลื่อนลอย เหลือเพียงตุ๊กตาผ้าที่ชื่อ “น้องเกี่ยวก้อย” ไว้เป็นมรดกของภาพสะท้อนเช่นนั้น

แม้บาดแผลอาจจะลุกลามมากขึ้นหลังปี 2557 จนเป็นดังการเพาะเชื้อของ “ความแตกแยกทางการเมือง” ให้ดำรงอยู่ในสังคมการเมืองไทยต่ออีกซ้ำจากแผลเดิมในปี 2563 แต่แผลเช่นนี้ก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างเสมอในการโฆษณาขายสินค้ายี่ห้อ “การรักษาความสงบ” ที่จะต้องมีผู้นำทหารทั้งในและนอกราชการมาเป็น “เครื่องหมายรับประกันคุณภาพ” ด้วยการเป็นรัฐบาล

สำหรับผู้นำทหารขวาจัด ผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว และบรรดาขวาสุดโต่งทั้งหลายแล้ว รัฐประหารทั้งสองครั้งอาจถือเป็นเสมือนชัยชนะครั้งสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลที่พวกเขาไม่ต้องการ และพวกเขาสามารถโค่นฝ่ายตรงข้ามลงได้อย่างง่ายดาย แน่นอนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องคิดถึงอนาคตจากผลของการกระทำเช่นนี้ เพราะพวกเขามีความเชื่อแบบง่ายๆ อย่างเดียวว่า ฝ่ายขวาจะต้องเป็นผู้คุมอนาคตของประเทศไทย และการควบคุมนี้จะต้องได้มาด้วยการทำลายประชาธิปไตย เพราะ “ระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม” (Liberal Democracy) คือภัยคุกคามหลักของกลุ่มอนุรักษนิยมไทย

Advertisement
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ดังนั้น หากพิจารณาทบทวนสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการล้อมปราบ 2553 และรัฐประหาร 2557 ซึ่งส่งผลกระทบในทางการเมืองจนถึงปัจจุบันแล้ว ผู้เขียนอยากทดลองนำเสนอข้อสังเกต 14 ประการ ดังนี้

1) รัฐบาลทหารทุกประเทศทั่วโลกที่แม้จะประสบความสำเร็จในการโค่นรัฐบาลพลเรือน แต่ผู้นำทหารจะเผชิญกับปัญหาไม่แตกต่างกันคือ รัฐบาลทหารไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองในตัวเอง เพราะรัฐบาลได้อำนาจมาด้วยการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน อำนาจที่ได้มาด้วยเงื่อนไขของการยึดอำนาจเช่นนี้ ไม่สามารถอธิบายให้เกิดการยอมรับในเวทีสากลได้เลย ผลที่ชัดเจนก็คือ การขาดความชอบธรรม เช่นนี้ทำให้รัฐบาลทหารไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ และขณะเดียวกันก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาคมในบ้าน และแม้หลังจากการยึดอำนาจแล้ว รัฐบาลทหารจะใช้รูปแบบของระบบรัฐสภาเข้ามาช่วย แต่ก็เป็นเพียงรัฐสภาในระบบรัฐประหาร ที่ไม่ช่วยในการแก้ปัญหาการไร้ความชอบธรรมที่เกิดจากการยึดอำนาจ เพราะรัฐสภามีฐานะเป็นเพียง “ตรายาง” ในทางการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเช่นนี้ไม่ช่วยสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ผู้นำทหาร ดังนั้น ถ้าผู้นำทหารอยากเข้าสู่เวทีการเมืองในอนาคต ก็น่าที่จะกล้าถอดเครื่องแบบเข้ามาเป็นผู้เสนอตัวให้ประชาชนเลือกในกระบวนการเลือกตั้ง มากกว่าจะใช้อำนาจบังคับ (จากการรัฐประหาร) ให้ประชาชนต้องยอมรับ เพราะสุดท้ายแล้วอำนาจจากการรัฐประหารที่แม้จะมีกฎหมายพิเศษต่างๆ รองรับ แต่อำนาจนี้จะเป็นเหมือนผลด้านกลับในการทำลายสถานะของตัวสถาบันกองทัพเอง เพราะแรงต่อต้านที่เกิดทั้งในเวทีภายนอกและภายในจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบั่นทอนสถานะและภาพลักษณ์ของกองทัพเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้ว่าผู้นำรัฐประหารไม่เคยเป็นที่ยอมรับในเวทีต่างๆ และที่สำคัญรัฐประหารเป็น “สินค้าตกยุค” ที่อาจจะพอขายได้ในยุคสงครามเย็น แต่ในโลกศตวรรษที่ 21 สินค้าชุดนี้ขายไม่ได้แน่นอน … มีแต่พวกอนุรักษนิยมหัวเก่าในสังคมไทยเท่านั้น ที่ยังพึงพอใจกับการซื้อของตกยุคเช่นนี้ (ต้องตระหนักว่า ขวาไทยวันนี้ไม่ได้อยู่ในกระแสเดียวกับขวาในเวทีโลก)

2) ในอีกด้านนั้น ผู้นำทหารอาจจะมีความเชื่อมั่นที่สะสมมาจากชัยชนะในการ “ล้อมปราบ” ผู้เห็นต่างทางการเมือง ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมากในปี 2553 แต่การใช้ความรุนแรงของผู้นำทหารครั้งนั้น ไม่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงในเวทีสากล และไม่เกิดการลงโทษในรูปแบบของ “การแซงก์ชั่น” ไม่ว่าจะเป็นในทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ มีแต่การแสดงความไม่เห็นด้วยทางวาจา ซึ่งผู้นำฝ่ายขวาจัดไทยไม่เคยใส่ใจกับวาจาเช่นนี้ เพราะพวกเขารู้ดีว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงการแสดงออกทางการทูตที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างจริงจังไม่ว่าจะต่อกองทัพหรือต่อรัฐบาลในขณะนั้นก็ตาม ความสำเร็จในการล้อมปราบจึงมีนัยเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้นำทหารเชื่อมั่นเสมอว่า การโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในไทย ก็จะไม่มีการแซงก์ชั่นเช่นที่กองทัพของเมียนมาต้องเผชิญหลังจากรัฐประหาร 2531 หรือผู้นำทหารขวาจัดและผู้นำกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งเชื่อมั่นเสมอว่า ฝ่ายขวาจัดไทยอยากทำอะไรที่ไม่เป็นสากลกับการเมืองไทยก็ได้ เพราะต่างประเทศจะไม่กล้าแทรกแซงมาก อย่างน้อยการล้อมปราบในปี 2553 คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนในกรณีนี้

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ดังนั้น ถ้าจะต้องยึดอำนาจในปี 2557 ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลกับข้อจำกัดในเวทีระหว่างประเทศ … น่าสนใจว่ารัฐประชาธิปไตยตะวันตกไม่เล่น “บทโหด” ด้วยการแซงก์ชั่นรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ ต่างกับในกรณีของเมียนมาอย่างมาก ฉะนั้น จากปี 2553 ถึงปี 2557 เห็นได้ชัดว่า “ปัจจัยภายนอก” ในบริบทสากลไม่เป็นจุดชี้ขาดที่จะทำให้ระบอบอำนาจนิยมล้มลง ขบวนประชาธิปไตยไทยยังต้องให้น้ำหนักกับการชี้ขาดของ “ปัจจัยภายใน” และอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นกับเงื่อนไขของปัจจัยภายในของสังคมการเมืองไทย

3) ระบอบทหารไทยมัก “โชคดีทางการเมือง” ที่มีตัวช่วยเข้ามาเสมอ ความกลัวคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็นทำให้รัฐมหาอำนาจตะวันตกสนับสนุนการคงอยู่ของรัฐบาลทหารกรุงเทพฯ แต่ในยุคหลังสงครามเย็น การเติบใหญ่ของรัฐมหาอำนาจตะวันออกอย่างจีน ทำให้หลายประเทศต้อง “ลังเลใจ” ต่อการกดดันรัฐบาลทหารไทย เพราะกังวลว่า ถ้าตะวันตกกดดันมาก ไทยจะ “ย้ายค่ายทางยุทธศาสตร์” ไปอยู่กับจีน ซึ่งก็เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับตะวันตกเริ่มไม่เป็นแบบเก่า ขณะเดียวกันจีนเองก็ใช้โอกาสของ “ช่องว่างทางการเมือง” ที่เริ่มเกิดหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 เป็นลู่ทางของการขยายอิทธิพลจีน ผลที่เกิดขึ้นในบริบทสากลก็คือ “รัฐบาลทหารฝ่ายขวา” ที่กรุงเทพฯ จึงกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับ “รัฐบาลฝ่ายซ้าย” ที่ปักกิ่ง ไม่แปลกนักที่รัฐบาลปักกิ่งจะเป็น “โล่ทางการเมือง” เพื่อปกป้องรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ และตามมาด้วยการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากจีน … โลกแห่งความย้อนแย้งทางการเมืองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่น่าเชื่อว่าในยุคสงครามเย็น จีนคอมมิวนิสต์เป็น “ภัยคุกคามหลัก” ของกองทัพและบรรดากลุ่มขวาจัดในไทย แต่วันนี้จีนคอมมิวนิสต์กลายเป็น “พันธมิตรที่ใกล้ชิด” ของฝ่ายขวาที่กรุงเทพฯ และท่าทีในแบบ “นิยมจีน-ต่อต้านตะวันตก” เป็นทรรศนะที่เห็นได้ชัดในกลุ่มคนเหล่านี้

4) สำหรับรัฐบาลทหารแล้ว คงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า นับจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 จนถึงการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 นั้น รัฐบาลไม่มีผลงานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงความสำเร็จของผู้นำทหารในการบริหารประเทศแต่อย่างใด มีแต่ความพยายามในการสร้างภาพให้เกิดความชอบธรรมว่า ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของรัฐบาลทหารคือ การทำให้ประเทศสงบและปราศจากการชุมนุม เพื่อขายแก่ชนชั้นกลางปีกขวาและกลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง แต่ความสำเร็จในประเด็นด้านอื่นๆ ที่เป็นผลงานของรัฐบาลทหาร เป็นเพียงการขายวาทกรรม มากกว่าจะขายผลงานความสำเร็จที่เป็นจริง สภาวะเช่นนี้เป็นบทเรียนสำคัญให้กับสังคมไทยในอีกด้านหนึ่งว่า ประเทศมีสิ่งที่ต้องจ่ายเป็นราคาให้แก่การรัฐประหารและรัฐบาลทหารด้วยมูลค่าที่สูงมาก แต่ไม่แน่ใจว่าในราคาที่จ่ายไปนั้น สุดท้ายแล้ว สังคมไทยได้ผลตอบแทนอะไรกลับคืนมาจากการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ถ้าพิจารณาด้วยสติ (และปัญญา) แล้ว คงต้องยอมรับว่า รัฐประหารคือการขาดทุนครั้งใหญ่ของสังคมไทย … ยิ่งรัฐบาลทหารอยู่นานเท่าใด ประเทศก็ยิ่งขาดทุนมากเท่านั้น และการดำรงอยู่ของทหารกับการแทรกแซงทางการเมืองที่ไม่เคยจบในการเมืองไทยนั้น สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่ภาวะ “ล้มละลายทางการเมือง” ได้ไม่ยาก

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

5) แต่รัฐบาลทหารก็หาทางออกด้วยการลดแรงกดดันทางการเมืองด้วยการเปิดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 และผู้นำรัฐประหารประสบความสําเร็จในการพาตนเองกลับเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะการออกแบบกลไกได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้การสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารประสบความสําเร็จ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงความสำเร็จในระยะสั้น เพราะพรรคที่สืบทอดสถานะต่อจากรัฐบาลทหารอาจจะเอาชนะการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารได้ไม่ยาก แต่การดำรงอยู่ในระยะยาวเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้นำทหารไม่สามารถใช้กลไกพิเศษได้ในเวทีรัฐสภาในระยะยาว การกำเนิดของระบอบพันทาง หรือ “ระบอบเผด็จการครึ่งใบ” (ในทางทฤษฎีหมายถึง Hybrid Regime) ในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 ชี้ให้เห็นถึง การใช้กลไกทุกอย่างที่หวังเพียงความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ผู้นำทหารชุดเดิม โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงกฎ กติกา และมารยาททางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น การใช้อำนาจในรูปแบบเช่นนี้กลายเป็น “ตราบาป” ที่ติดตัวผู้นำรัฐบาลอย่างหนีไม่พ้น และกลายเป็นจุดอ่อนในวันที่พวกเขาต้องแสดงบทบาทในรัฐสภา และกลายเป็นภาพสะท้อนของการสืบทอดอำนาจที่ชัดเจนในตัวเอง

6) การที่รัฐบาลทหารไม่ประสบความสําเร็จในทางการเมือง และเมื่อต้องเปลี่ยนตัวเองมาเป็น “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” ทำให้รัฐบาลต้องสร้างความนิยมในเชิงนโยบายด้วยการ “แจกเงิน” จนกลายเป็นข้อครหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า “รัฐบาลปัจจุบันติดเชื้อประชานิยมอย่างรุนแรง” และคิดนโยบายได้แบบเดียวคือการแจกเงิน จนกลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของผู้นำทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่า ยุทธศาสตร์ในการเอาชนะทางการเมืองของรัฐบาลนี้ทำด้วยชุดความคิดเดียวคือ “แจกเงิน” เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” หรือ “ร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย” หรือ “บัตรคนจน” เป็นต้น แต่เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 การแจกเงินที่เคยเป็นวิธีการหลักของรัฐบาลนี้เคยใช้มา กลับประสบปัญหาอย่างมาก และขณะเดียวกันก็ถูกท้าทายอย่างมากถึงประสิทธิภาพของ “การบริหารการแจกเงิน” จนกลายเป็นคำนินทาทางการเมืองว่า รัฐบาลนี้ “หาเงินไม่เป็น ใช้เงินก็ไม่เป็น และแจกเงินก็ยังไม่เป็นด้วย” สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ภาระทางด้านการเงินการคลังที่รัฐบาลชุดนี้ทิ้งไว้ จะเป็น “โจทย์การเมือง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต อีกทั้งองค์กรอิสระในวันข้างหน้า จะอนุญาตให้รัฐบาลอื่น (ที่ไม่ใช่พวกที่แต่งตั้งคนในองค์กรอิสระมา) สามารถทำนโยบายประชานิยมในแบบรัฐบาลปัจจุบันได้หรือไม่ หรือปัญหาอีกประการในอนาคตของยุคหลังโควิดก็คือ สังคมไทยควรจะมีท่าทีอย่างไรกับองค์กรอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากรัฐบาลทหาร

7) การออกแบบกลไกทางการเมืองเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่การสืบทอดสถานะของผู้นำรัฐประหารในยุคหลังเลือกตั้ง เป็นปัจจัยที่ลดทอนทั้งความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งลง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลเช่นนี้จะต้องพึ่งพากลไกของกลุ่มทุนในการสนับสนุนรัฐบาล ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างผู้นำทหารกับผู้นำกลุ่มทุน หรือทำให้สังคมไทยเห็นถึงการก่อตัวของ “ทุนขุนศึกในศตวรรษที่ 21” ที่ไม่ใช่การทำธุรกิจของผู้นำทหารในแบบเดิมเช่นยุคจอมพลแปลก ยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือจอมพลถนอม แต่เป็นการเชื่อมต่อผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองเข้ากับกลุ่มทุนใหญ่ของไทยที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ จนเป็นอีกด้านหนึ่งของ “เสนาพาณิชย์นิยม” ในส่วนของนายทหารระดับสูง การเชื่อมต่อเช่นนี้ไม่เพียงค้ำประกันความอยู่รอดของระบอบทหารแบบเลือกตั้งของรัฐบาลปัจจุบัน แต่ยังกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยในอนาคตอีกด้วย

8) การสร้างกลไก ส.ว.เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกค้ำยันรัฐบาลเป็นอีกประเด็นของความสำเร็จในระยะสั้น แต่การออกแบบกลไกเช่นนี้จะเป็นตัวสร้างวิกฤตทางการเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำทหารขวาจัดและฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยอาจจะชนะด้วยการใช้ ส.ว.เป็นกลไกเลือกนายกฯ แต่หากเกิดความพลิกผันในอนาคต เช่น ถ้าพรรคฝ่ายค้านสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาล่างได้แล้ว อำนาจของ ส.ว.จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทันที และจะนำไปสู่ “วิกฤตรัฐสภา” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ ส.ว.อาจทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลเดิม และปฏิเสธต่อมติมหาชนจากการเลือกตั้ง ตัวอย่างจำลองทางการเมืองเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่า ส.ว.จะเป็นอุปสรรคของกระบวนการทางรัฐสภาในแบบที่เป็นสากล แน่นอนว่า นักออกแบบรัฐธรรมนูญชุดนี้คงได้รับความชื่นชมในความภักดีที่พวกเขามีต่อรัฐบาลทหาร แต่การออกแบบให้อำนาจแก่ ส.ว.เช่นนี้อาจจะกลายเป็นชนวนของความขัดแย้งในการเมืองไทย ซึ่งไม่แน่ใจว่าเมื่อถึงจุดนั้น ผู้นำในการออกแบบรัฐธรรมนูญนี้จะมีความรับผิดชอบเพียงใด หรือพวกเขามั่นใจตลอดเวลาว่า อย่างไรเสียพรรคฝ่ายค้านก็ไม่สามารถชนะเสียงในสภาล่างได้ เพราะมีกลไกอื่นๆ ที่ถูกออกแบบคู่ขนานไว้ ซึ่งก็จะไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งได้ หรือชนะเลือกตั้งได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นนายกฯ

9) การ “ล้าง” และ/หรือ “เลิก” อำนาจของระบอบรัฐประหารไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน เพราะกลไกต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบจะไม่ยินยอมให้เกิดการกระทำเช่นนั้นเป็นอันขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจดังกล่าวผ่านองค์กรอิสระได้พิสูจน์ให้เห็นถึงวิธีที่ “ง่ายและเร็ว” ในการทำลายฝ่ายค้าน/ฝ่ายตรงข้าม แต่การใช้อำนาจในแบบที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบในอนาคตนั้น สุดท้ายแล้วองค์กรที่มีอำนาจเช่นนี้จะเป็นชนวนสำคัญอีกส่วนของความขัดแย้งในการเมืองไทย และอาจนำไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงได้ไม่ยาก เพราะการเมืองไทยหลังการล้อมปราบ 2553 และหลังรัฐประหาร 2557 มี “เชื้อเพลิง” ของความรุนแรงกองอยู่ในสังคมหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือ การใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องบรรทัดฐาน (หรือที่ชอบเรียกเชิงเปรียบเทียบว่า “สองมาตรฐาน”) และการกระทำเช่นนี้ ทำให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำมองไม่เห็นถึงความหวังในการสร้างความ “ปรองดอง” ในการเมืองไทย และทั้งยังทำให้เรื่องของการ “สมานฉันท์” กลายเป็นเพียงความไร้สาระในตัวเองอย่างช่วยไม่ได้ จนทำให้วาระครบรอบ 10 ปีของการล้อมปราบทำได้เพียงการจัดงานรำลึก มากกว่าจะช่วยสมานความแตกแยกได้จริงในสังคมไทย

10) การใช้อำนาจเช่นนั้นคือ การสร้างภาพของความไม่เป็นธรรมทางการเมืองให้ปรากฏชัดเจน และความรู้สึกที่เห็นถึง “อธรรม” ของกลไกรัฐจะเป็นเชื้อของการปลุกระดมที่ดี ดังจะเห็นได้จากบทเรียนการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศในปี 2562 บางทีวันนี้ ผู้นำปีกขวาจัด ผู้นำทหาร และผู้นำอนุรักษนิยมสุดโต่งอาจต้องตระหนักว่า สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้นในเวทีโลกที่เชื่อว่า ฝ่ายขวาจัดไทยเข้มแข็ง และสามารถสร้าง “ระบอบเผด็จการแบบถาวร” (Durable Authoritarianism ดังเช่น ตัวแบบของระบอบเผด็จการในตะวันออกกลาง) ขึ้นได้โดยปราศจากแรงต้านจากสังคมและประชาชน วันนี้ระบอบเผด็จการอาจดูเข้มแข็งในสังคมไทย แต่พวกเขาก็เจอทั้งปัญหาและวิกฤตต่างๆ ไม่เว้นในแต่ละวัน และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นถึงความอ่อนด้อยของรัฐราชการแบบเก่าที่ไม่สามารถแบกรับความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้เลย แม้วันนี้รัฐราชการจะขยายคน ขยายงบประมาณได้อย่างมากจากการสนับสนุนของระบอบทหาร แต่ก็เป็นเพียงรัฐราชการอนุรักษนิยมที่เข้มแข็งในแบบเดิม และรัฐแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นหลักประกันของสังคมไทยในการต้องเผชิญกับความผันแปรในอนาคตได้เลย

11) การเมืองไทยยุคหลังโควิด-19 จะรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิกฤตโรคระบาดในด้านหนึ่งก่อตัวเป็นวิกฤตการเมือง (ปัญหาสะสมทางการเมืองของรัฐบาลในประเด็นต่างๆ ทั้งในและนอกสภา) และในอีกด้านเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ (การล้มละลายของธุรกิจและการตกงานของคนจำนวนมาก) อีกทั้งยังถาโถมด้วยวิกฤตทางสังคม (การขยายปริมาณคนจนจำนวนมากอย่างรวดเร็ว) แต่สุดท้ายแล้ว “สี่เสาของวิกฤตไทย” จะรวมศูนย์การแก้ปัญหาอยู่ที่ “ประสิทธิภาพและขีดความสามารถ” ของรัฐบาล ซึ่งเป็นดังเสาที่ห้าที่จะต้องเป็นเสาหลักในการค้ำไม่ให้บ้านหลังนี้พังลงมา แต่ถ้าเสาที่ห้าล้มลง เสาที่เป็นวิกฤตอีกสี่ต้นจะถูกลากให้ล้มลงตามกัน และพาบ้านหลังนี้ถล่มลงได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นวิกฤตนี้กำลังพิสูจน์ประสิทธิภาพและขีดความสามารถของรัฐบาลแบบ “รัฐราชการ” ในวาระครบรอบหกปีรัฐประหารว่า รัฐบาลเช่นนี้จะพาประเทศออกจาก “วิกฤตสี่เสา” ได้อย่างไร และรัฐราชการไทยจะเป็นเสาที่ห้าได้จริงหรือไม่ที่จะช่วยค้ำบ้านหลังนี้ไม่ให้ต้องพังลงในอนาคต

12) ด้วยความเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหารเดิม รัฐบาลจึงขาดความชอบธรรมในตัวเอง และขาดความสนับสนุนจากสาธารณะเท่าที่ควร และในการต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ แทนที่รัฐบาลจะใช้กลไกรัฐสภาให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความชอบธรรมของรัฐบาล หรือใช้กระบวนการรัฐสภาสร้างภาพลักษณ์ใหม่ทางการเมืองให้กับผู้นำทหาร แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลกลับตัดสินใจแบบ “ผู้นำทหารหัวเก่า” ที่ไม่ต้องการพึ่งกลไกรัฐสภา และต้องการใช้อำนาจพิเศษด้วยการประกาศ พ.ร.ก.เป็นเครื่องมือหลัก เพื่อให้อำนาจในการแก้ปัญหาของประเทศอยู่ในมือ “รัฐราชการ” และเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ปัญหา เพราะอำนาจรวมศูนย์อยู่ในมือของผู้นำรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องรอการมีส่วนร่วมของรัฐสภา หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง การเลือกการใช้กลไกรัฐในรูปแบบเช่นนี้สะท้อนความเชื่อของผู้นำทหารในทำเนียบรัฐบาลว่า การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคร้ายนั้น ต้องสู้ด้วย “รัฐราชการรวมศูนย์” ไม่ใช่การใช้ “กลไกประชาธิปไตย” เป็นเครื่องช่วย และการใช้ พ.ร.ก.ก็ทำให้ผู้นำรัฐบาลมีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ แม้จะไม่ใช่ ม.44 แบบเดิม แต่อำนาจใน พ.ร.ก.ช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องใช้กลไกการเมืองปกติได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ข้อเตือนใจที่สำคัญของการใช้อำนาจเช่นนี้อย่างไม่มีข้อจำกัดก็คือ อำนาจนี้มักจะกลายเป็น “ดาบสองคม” ในทางการเมืองเสมอ

13) อดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า ผู้นำที่กรุงเทพฯ ชอบฝันถึง “ปักกิ่งโมเดล” ที่เชื่อว่า ต้องแก้ปัญหาโควิดด้วยระบอบอำนาจนิยมใช่หรือไม่ หรือเป็นเพราะ “เชื้อร้ายของโรคเสนานิยม” ที่ระบาดเกาะกินผู้นำทหารไทยมานาน ทำให้พวกเขามองไม่เห็นทิศทางอื่นๆ และลืมในการทำความเข้าใจว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นภาวะ “ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” (Health Emergency) ไม่ใช่ภาวะ “ฉุกเฉินด้านการทหาร” รัฐบาลจึงต้องการกระบวนทัศน์ใหม่ในการคิดถึงปัญหา การมองปัญหา และแก้ปัญหา นอกจากนี้บางทีผู้นำทหารไทยอาจจะต้องหันกลับไปอ่านคู่มือราชการสนาม 100-5 ของกองทัพบกสหรัฐ (FM 100-5) ฉบับหลังสงครามเย็นที่มีหัวข้อใหม่ว่าด้วยเรื่อง “ปฏิบัติการทางทหารที่ไม่ใช่สงคราม” (Military Operations Other Than War – MOOTW) เพื่อทำความเข้าใจกับเงื่อนไขด้านความมั่นคงใหม่และบทบาทที่เหมาะสมของกองทัพในอนาคต แม้ประเด็นนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้นำทหารในช่วงต้นของยุคหลังสงครามเย็น แต่ก็ไม่เก่าเกินไปที่ผู้นำทหารไทยในทำเนียบและในกองทัพจะขอยืมหนังสือ รส. ฉบับแปลเล่มนี้จากโรงเรียน เสธ.ทบ. กลับมาอ่านกันอีกสักครั้ง โดยเฉพาะสำหรับผู้นำทหารที่ตัดใส่ใส่สูทนั่งในหน่วยงานความมั่นคงพลเรือน และอีกส่วนที่นั่งในทำเนียบรัฐบาล

14) ผลผลิตสำคัญของรัฐทหารก็คือ การออกแบบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมอนาคตของประเทศ ดังนั้น ยุทธศาสตร์ฉบับนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือในการกำหนดจุดหมายปลายทางของรัฐไทยใน 20 ปีข้างหน้า เพราะยุทธศาสตร์นี้กำหนดให้เป็น “กฎหมายภาคบังคับ” ที่เป็นหลักประกันว่า การเมืองและทิศทางของประเทศไทยในอนาคตจนถึงปี 2580 จะต้องเดินไปตามเส้นทางที่รัฐบาลรัฐประหาร 2557 กำหนดไว้ รัฐบาลในอนาคตที่ไม่เดินบนถนนสายที่ผู้นำทหารกำหนดไว้ จะกลายเป็น “ผู้ละเมิดกฎหมาย” และมีความผิด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ และมีผลอย่างมากต่อสภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในระดับชาติและในระดับสากล จนเกิดคำถามว่า สังคมไทยควรจะยอมรับยุทธศาสตร์ในรูปลักษณ์เช่นนี้อีกต่อไปหรือไม่ เนื่องจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในมิติต่างๆ ในสังคมกำลังส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหารควรจะ “สิ้นสภาพ” ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคโควิดระบาดได้แล้ว ข้อเรียกร้องที่ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ ประเทศไทยต้องการ “ยุทธศาสตร์ใหม่” ในยุคหลังโควิด ไม่ใช่การคงไว้ซึ่ง “ยุทธศาสตร์เก่า” ที่ไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ของไทยในอนาคต

ถ้าวาระครบรอบสิบปีของการล้อมปราบในปี 2563 นี้ ตอกย้ำถึงความแตกแยกและความไม่เป็นธรรมทางการเมืองที่เกิดในไทย อันเป็นรอยร้าวและบาดแผลที่ไม่เคยถูกสมานฉันท์เช่นไร … หกปีของวาระครบรอบรัฐประหารก็ตอกย้ำถึงชุดความคิดเก่าของผู้นำรัฐไทย (ที่เคยเป็นทั้งผู้นำการล้อมปราบเดิมและผู้นำรัฐประหารเดิม) ที่ยังคงเดินย่ำอยู่กับที่ ด้วยการใช้กลไกรัฐราชการรวมศูนย์แบบเดิมในการต่อสู้กับวิกฤตการณ์ชุดที่ใหม่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 21 และขณะเดียวกันก็ต้องการดำรงยุทธศาสตร์ที่ล้าสมัยของ “ยุคก่อนโควิด” ไว้ต่อไป

เพื่อให้ผู้นำทหารเหล่านี้เป็นผู้พาประเทศไปสู่อนาคตของ “ยุคหลังโควิด” จนถึงปี 2580 !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image