09.00 INDEX ทิศทาง ‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ มองผ่าน ‘โคทม-สุริชัย-จอน’

ใครที่เรียกการออกโรงของ “กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย” ว่าเป็นการออกโรงของกลุ่ม “โลกสวย”
แสดงว่าไม่รู้จัก ดร.โคทม อารียา
ยิ่งกว่านั้น แสดงว่าไม่เข้าใจกระบวนการเคลื่อนไหวในแบบ ของ นายสุริชัย หวันแก้ว และ นายจอน อึ้งภากรณ์
ถามว่าทำไมถึงมี 3 พรรคการเมือง”ร่วมด้วย”
ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาที่นำโดย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยที่นำโดย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
คนประเภท”โลกสวย”ทำไม่ได้หรอก
ยิ่งการดึงเอาคนอย่าง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ มาเห็นชอบด้วย
ยิ่งยากลำบาก
แต่ ดร.โคทม อารียา และ นายสุริชัย หวันแก้ว ตลอดจน นายจอน อึ้งภากรณ์
ทำได้อย่างงดงาม เปี่ยมพลัง

พลันที่มีคำว่า “โลกสวย” แปะตามหลัง คล้ายกับ ดร.โคทม อารียา เป็น “ละอ่อน” ทางการเมือง
ไม่ใช่หรอก
ที่อัสสัมชัญเขาอาจไม่ได้โดดเด่น แต่เมื่อเดินทางไปศึกษาวิศวกรรมไฟฟ้าที่ฝรั่งเศสต่างหาก “แวว” เริ่มฉาย
เขาอยู่ในสถานการณ์ “ปฏิวัตินักศึกษา” ที่ปารีส
เป็นการปฏิวัติของนักศึกษาที่เป็นชนวนไปสู่การปฏิวัติมหาวิทยาลัยในยุคปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960
เพียงแต่แนวทาง ดร.โคทม อารียา ไม่ได้ “สุดโต่ง”
ไม่ว่ายุคหลัง 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าเมื่อร่วมก่อตั้ง”ครป.”ต้นปี 2526
ดร.โคทม อารียา ยึดแนวทาง”สันติวิธี”มั่นแน่ว

นี่ก็เช่นเดียวกับ นายสุริชัย หวันแก้ว เมื่อเป็นนิสิตอยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นี่ก็เช่นเดียวกับ นายจอน อึ้งภากรณ์
เมื่อสอนอยู่มหาวิทยาลัยมหิดล นายจอน อึ้งภากรณ์ แสดงบทบาทในเรื่องการเคลื่อนไหว”ภาคประชาชน”
อดทน อดกลั้นต่อแนวทาง”ซ้ายจัด”
แนวทาง “ซ้ายจัด” อันอึกทึกครึกโครมอย่างยิ่งในห้วงหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516
3 คนนี้มี “บทเรียน” อุดมและสมบูรณ์
เป็นบทเรียนในแนวทาง “สันติวิธี” เป็นบทเรียนที่ต้องการเห็นการปรองดอง สมานฉันท์
ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง
แนวทางการเคลื่อนไหวเช่นนี้แหละที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 อันเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง “เผด็จการ”กับ”ประชาธิปไตย”
โดยเฉพาะต่อประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image