ศบค.ตั้งเป้า ไทยต้องเป็นปท.แรกๆ ได้ใช้วัคซีน จ่อหดเวลาเคอร์ฟิวอีก หลังต่อพ.ร.ก.

ศบค. ตั้งเป้าคนไทยได้ใช้วัคซีนระดับต้นๆ หลังต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน อาจผ่อนเวลาเคอร์ฟิว “ย้ำ”เรียนออนไลน์แค่ก่อนเปิดเรียน

ผู้สื่อขาวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในที่ประชุมศบค.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธานนั้น กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ภาพรวมตัวเลขการติดเชื้อในประเทศต่างๆทั่วโลก กลุ่มประเทศในเอเชียยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยประเทศที่น่าจับตาดูสถานการณ์ ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และประเทศในอาเซียน

ประเทศอื่นๆที่ยังมีตัวเลขน่าเป็นห่วงได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย บราซิล ชิลี ซึ่งตัวเลขยังสูงต่อเนื่อง หลายประเทศพบการระบาดใหม่ภายหลังให้มีมาตรการผ่อนปรน เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ส่วนไทยยังควบคุมได้ดี ขณะที่การพัฒนาวัคซีนไทยทำได้ครบ 6 เทคโนโลยี และเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการพัฒนาวัคซีนของโลก เป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีโอกาสใช้วัคซีนช่วงต้นๆ เช่นเดียวต่างประเทศที่ผลิตได้ รวมทั้งไทยร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด และสถาบันวัคซีนนานาชาติ

โดยนายกฯย้ำถึงการพัฒนาวัคซีนไทยต้องทำความเข้าใจกับประชาชนถึงกระบวนการผลิต จนถึงการนำไปใช้งานมีหลายขั้นตอน ต้องผ่านการทดลองที่ต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ส่วนวัคซีนจต่างประเทศหากประเทศใดผลิตได้ และด้วยความสัมพันธ์ที่มีจะทำให้ไทยได้รับวัคซีนเป็นประเทศต้นๆ

ขณะที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง รายงานการตรวจติดตามการดำเนินการตามมาตรการของกลุ่มกิจกรรมและกิจการที่ได้รับการผ่อนคลาย ระยะที่ 1 และ 2 โดยชุดตรวจได้ตรวจติดตามให้คำแนะนำ และสนับสนุนการปฏิบัติต่อเนื่อง อย่างที่ห้าง IKEA ที่ช่วงแรกเกิดความไม่เรียบร้อย จากจุดคัดกรองไม่เพียงพอ และปริมาณประชาชนมากกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งได้ร่วมแก้ไขจนเรียบร้อย

Advertisement

 สำหรับการขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันยังมีผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวและมั่วสุมอยู่ จึงเห็นควรให้ขยายพ.ร.ก. ฉุกเฉินเพื่อควบคุม แต่อาจพิจารณาผ่อนปรนในบางข้อ เช่น ระยะเวลาเคอร์ฟิว ขณะที่นายกฯสั่งการให้ยึดถือความมั่นคงด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มงวด การพิจารณาขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอน และชี้แจงให้ประชาชนและสังคมเข้าใจเหตุผลอย่างถูกต้อง ส่วนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆต้องพิจารณาระยะเวลาที่เหมาะสม ใช้มาตรการทางสังคมร่วมด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกิดความร่วมมือช่วยเหลือกัน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังได้หารือเรื่องท่องเที่ยว เพื่อเตรียมรองรับการผ่อนปรนมาตรการเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเดินต่อได้ เช่น โรงแรมต้องปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะค้างคืน เช่น ระบบแอร์ อาหาร เรื่องการศึกษา การเปิดภาคเรียนในการผ่อนปรนระยะ 4 กระทรวงศึกษาธิการต้องปรับแผนงาน เช่น เด็กปฐมวัย – อนุบาล 3 ที่ยังต้องไปโรงเรียน อาจปรับสัดส่วนครูกับนักเรียนลดลง อาจต้องจัดเรียนเป็นผลัดๆละ 20 คน และมีผู้สนับสนุนครูด้วย โรงเรียนนานาชาติซึ่งจะเปิดเรียนวันที่ 1 มิ.ย.เพราะมีศักยภาพและความยืดหยุ่น รองรับและบริหารจัดการได้

ทั้งนี้ ช่วงท้ายนายกฯกำชับให้ทุกส่วนดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกประเด็น ประเด็นที่มีความแตกต่างในรายละเอียด เช่น การเปิดเรียนเด็กในช่วงวัยต่างกัน การดูแลแบบเดียวกันคงไม่ได้ การเรียนแบบออนไลน์ใช้เฉพาะช่วงนี้ก่อนการเปิดเรียนเท่านั้นเพื่อใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ทบทวนการเรียนการสอน และกระตุ้นนักเรียนก่อนเปิดเทอม แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วต้องเร่งพิจารณาการเหลื่อมเวลาเรียน รายละเอียดการเรียนการสอน และมีหลักสูตรอบรมวิชาชีพครูเทคนิคออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสม

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image